สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ของวันนี้ (25 ม.ค.) โดยรวมยังคงอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากอากาศในช่วงเช้าจะมีหมอกในตอนเช้า อากาศลอยตัวได้ดี แต่ลมพัดอ่อน จึงส่งผลให้ฝุ่นละออง PM2.5 หลายจุดมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานเฉลี่ย 7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 24 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม ผลการหารือจากมติคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ว่าด้วยแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพพฯ และปริมณฑล เมื่อวานนี้ (24 ม.ค.) ได้สรุปแนวทางในขั้นปฏิบัติเป็น 4 ระดับตามความรุนแรงของสถานการณ์ ดังนี้
ระดับที่ 1: ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าน้อยกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งส่วนราชการทุกหน่วยจะปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ในสภาวะปกติ
ระดับที่ 2: ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 50-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานทุกหน่วยต้องดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวดขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ของตนเอง
ระดับที่ 3: ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 75-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเมื่อค่าฝุ่นละอองจากระดับที่ 2 ไม่ลดลง นิ่งนาน และคาดการณ์แล้วว่าจะสูงขึ้นอีก ต้องยกมาเป็นระดับที่ 3 โดยคณะกรรมการควบคุมมลพิษ จะจัดการประชุมเพื่อหามาตรการในการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการในการควบคุมแหล่งมลพิษ โดยเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งผู้ว่าราชการปริมณฑลทั้ง 5 จังหวัด ในการที่จะใช้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข และพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือกฎหมายอื่นๆ เพื่อแก้ไข ควบคุมพื้นที่หรือควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งก่อให้เกิดเหตุรำคาญต่อประชาชน
ระดับที่ 4: ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ เมื่อมีการดำเนินการในระดับที่ 3 แล้ว สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเกินกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องยาวนาน ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ ในการพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหา PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยจะนำเสนอเพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษจะให้แต่ละหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และจัดส่งให้ กทม. ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์กรณีสถานการณ์อยู่ในระดับ 2 และ 3 เพื่อใช้ในการปฏิบัติการต่อไป โดยมีกรมควบคุมมลพิษร่วมสนับสนุน
ภาพประกอบ: Thiencharas W.