ถึงแม้ตลาดทุเรียนจะหอมหวานมาก พืชเศรษฐกิจ และถือว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ไทย แต่วันนี้ผู้ประกอบการหลายรายต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านทั้งสภาพอากาศปั่นป่วน ผลผลิตออกน้อย ต้นทุนแพงขึ้น
ซ้ำยังเจอปัญหาการเข้ามาสวมสิทธิ์ทุเรียนส่งออกไปตลาดใหญ่อย่างจีน ซึ่งกดราคาตลาดอย่างหนัก นอกจากเวียดนาม ก็ยังมีคู่แข่งอย่างเพื่อนบ้าน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เริ่มเข้ามาตีตลาดจีนเบียดแซงไทย
แหล่งข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมทุเรียน กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันพบว่ามีทุเรียนจากประเทศเวียดนามเข้ามาสวมสิทธิมากขึ้นจนถึงขั้นทำตลาดพัง แม้ที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีการลักลอบนำทุเรียนสดเข้ามาสวมสิทธิส่งออกอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เกิดอะไรขึ้นกับภาคเกษตรของไทย?
ทุเรียนไทยสู้ศึกรอบด้าน ต้นทุนแพงขึ้น-โดนสวมสิทธิ์
ธวัชชัย จุงสุพงษ์ เจ้าของ Toby’s Farm สวนทุเรียนพรีเมียมจาก จังหวัดจันทบุรี แสดงความเห็นว่า ตลาดทุเรียนไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ยิ่งปีนี้สภาพอากาศฝนตกหนัก ทำให้ทุเรียนสุกช้าส่งผลให้ราคาทุเรียนปีนี้ปรับตัวขึ้นแตะกิโลกรัมละ 200 กว่าบาท แถมยังต้องเจอมาตรฐานการส่งออกที่เข้มงวดหลังจากมีข่าวล้งของจีนที่ใช้สารชุบสีเมื่อปีที่แล้ว
ธวัชชัย จุงสุพงษ์ เจ้าของ Toby’s Farm
ในช่วงเวลาเดียวกัน ทุเรียนเวียดนามที่ส่งออกไปจีนมีราคาต่ำกว่าทุเรียนไทย เพราะประเทศเวียดนามต้นทุนการผลิตราว 19 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ทุเรียนไทยมีต้นทุนประมาณ 40 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะไทยมีต้นทุนไฟฟ้าแพง และเกษตรกรบางแห่งต้องลงทุนบริหารจัดการน้ำเอง
ยิ่งปัจจุบันไทยเราขายทุเรียนกิโลกรัมละ 200 กว่าบาท ส่งออกไปประมาณกิโลกรัมละ 240-250 บาท แต่เวียดนามขายกิโลกรัมละ 110-120 บาท และอีกหนึ่งปัจจัยที่เวียดนามได้เปรียบไทยคือการมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง สามารถขนทุเรียนไปจีนได้ใน 3 ชั่วโมง จากปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นต้นเหตุให้เจ้าของสวนทุเรียนไทยบางราย นำทุเรียนเวียดนามเข้ามาสวมสิทธิส่งออกไปจีนกันมากขึ้น
ทุเรียนไทยได้เปรียบเรื่อง ‘รสชาติ-การทูตจีน’
วิชัย ศิระมานะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (NTFG) หนึ่งในผู้นำการส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมียม ฉายภาพว่า แม้เวียดนามจะเริ่มรุกตลาดทุเรียนมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยยังมองว่าความได้เปรียบของไทยยังมีมาก ทั้งเรื่องของรสชาติ ภูมิประเทศ และความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน และปัจจุบันเวียดนามยังเผชิญปัญหาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว
ส่วนในแง่ของความกังวลเรื่องทุเรียนเวียดนามเข้ามาสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ยอมรับว่าอาจมีช่องว่างในระบบที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมลักษณะดังกล่าว ซึ่งต้องอาศัยภาครัฐในการตรวจสอบและดำเนินการ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เห็นภาพทุนจีนเข้ามาซื้อที่ปลูกทุเรียนในไทยหรือไม่? วิชัยย้ำว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของธุรกิจที่น่าลงทุน แต่บางกรณีอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ ‘นอมินี’ เข้ามาดำเนินธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งควรได้รับการกำกับดูแลจากภาครัฐ
ฝนถล่ม-จีนคุมเข้ม หวั่นฉุดตัวเลขส่งออก
ขณะเดียวกันในปีนี้ผู้ประกอบการปลูกทุเรียนในภาคตะวันออกของไทยดำเนินมามากกว่าครึ่งทางแล้ว แต่กลับต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออก เริ่มจากสองปัจจัยหลักที่ฉุดตลาดปีนี้ ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงปัญหาเทรดวอร์ ซึ่งแม้จะส่งผลเพียงเล็กน้อย แต่ก็ส่งแรงกดดันต่อบรรยากาศการค้าโดยรวม
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากมาตรการตรวจสอบสารตกค้างของจีนที่เข้มข้นขึ้น และสภาพอากาศที่มีฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อคุณภาพผลผลิตทุเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ แม้ภาครัฐคาดการณ์ว่าการส่งออกทุเรียนไทยปีนี้จะอยู่ที่ราว 1 ล้านตัน แต่จากสถานการณ์ล่าสุดเราประเมินว่าตัวเลขจริงอาจไม่ถึงครึ่งแม้ทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ยอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีน แต่ยังเจอปัญหาคุณภาพผลผลิต รวมถึงความเข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้างในผลไม้ที่ส่งออกไปจีน
“จริงๆ แล้วมาตรการของจีนในการตรวจสอบสารเคมีในทุเรียนที่นำเข้าเข้มงวดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แม้จะสร้างแรงกดดันต่อผู้ส่งออกไทย แต่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันในการบริหารจัดการ ปรับปรุงกระบวนการผลิต และเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และไม่มีสัญญาณว่าเป็นการกีดกันทางการค้า แต่อยู่ในกรอบของความปลอดภัยด้านอาหาร”
ทุเรียนไทยยังมีช่องว่างมหาศาลในตลาดต่างประเทศ
สำหรับบริษัท NTF ตั้งเป้าการส่งออกปีนี้อยู่ที่ 1,800-2,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนซึ่งทำยอดได้ราว 900 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการเพิ่มกำลังการผลิต การขยายฐาน OEM และการเสริมสภาพคล่องทั้งต้นทางและปลายทาง ทั้งนี้ ทุเรียนยังคงเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ให้บริษัท และมองว่าอนาคตมะพร้าว มังคุด และลำไย จะเข้ามาช่วยเสริมรายได้ เพราะเป็นผลไม้ที่ต้องการสูงในตลาดจีนไม่ต่างจากทุเรียน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยลบหลายด้าน แต่ผู้ประกอบการยังคงมองในแง่บวกว่าทุเรียนไทยยังเป็นที่ต้องการในตลาดจีนและตลาดต่างประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มชุมชนชาวจีนในหลายประเทศ ซึ่งยังมีช่องว่างของอุปสงค์อีกมาก ตลาดทุเรียนจึงยังมีแนวโน้มขยายตัวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า หากสามารถรักษาคุณภาพสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จากล้งเหมาสวน สู่นอมินี ลามถึงปัญหาสวมสิทธิ์ส่งออก
ด้าน แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์ SME ไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัญหาที่น่าหนักใจมากที่สุดนั่นคือ ‘มหกรรมศูนย์เหรียญ’ โดยขณะนี้ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไทยถูกครอบงำกลืนกิน 3 ธุรกิจ SME คือ โรงงานศูนย์เหรียญ ท่องเที่ยวศูนย์เหรียญ (ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร และทัวร์) โลจิสติกส์ศูนย์เหรียญ ซึ่งไร้การจ้างงานคนไทย
“โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร ที่ยึดต้นน้ำยันปลายน้ำ สูญเสียความมั่นคงทางอาหาร กลไกราคา กลไกตลาดผูกขาดในอนาคต ที่เห็นชัดที่สุดคือทุเรียน จากล้ง เหมาสวน สู่นอมินีซื้อสวนควบคุมความมั่นคงทางอาหารไทย”
โดยมีกระแสข่าวว่า มีการลักลอบนำทุเรียนจากเวียดนาม มาผสมกับทุเรียนไทย เพื่อเตรียมส่งออกไปยังประเทศจีน ลักษณะคล้ายขบวนการจีนหลอกจีน สวมสิทธิ์ทุเรียนไทยด้วยการรีแพ็กใหม่
เพราะตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 จีนได้ตรวจพบสารปนเปื้อนแคดเมียมและสารย้อมสี Basic Yellow 2 หรือ BY2 ของทุเรียนเวียดนาม ส่งผลให้ จีนเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบทุเรียนไทยเช่นเดียวกัน
โอกาสทองเกษตรกรไทย! ดันส่งออกทุเรียนทะลุเป้า
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเข้มงวดเรื่องมาตรฐาน ขณะที่ นภินทร์ ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไทยปีนี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ไทยส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งไปจีนประมาณ 950,000 ตัน และในปี 2568 คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นจาก 1,200,000 ตัน เป็น 1,500,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 300,000 ตัน
“จีนยังเป็นตลาดที่มีดีมานด์มหาศาล พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนนิยมรับประทานทุเรียนไทยมากกว่าประเทศอื่น และมีแนวโน้มซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 30% ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี”
มากไปกว่านั้น ในปัจจุบันรัฐบาลจีนมีความเชื่อมั่นว่าสินค้าจากประเทศไทยไม่มีสารตกค้าง ทำให้กระบวนการตรวจสอบได้รับการลดหย่อนในหลายส่วน ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าสู่จีนง่ายและสะดวกขึ้น ใช้เวลาเพียง 3-4 วัน แม้ปัจจุบันมีทุเรียนส่งออกวันละ 800 กว่าตู้ แต่ก็สามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างรวดเร็ว
เรียกได้ว่าเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่ควรหันมาปลูกผลไม้ที่ส่งออกได้ นอกจากทุเรียนแล้ว ยังมี มังคุด มะพร้าว และส้มโอ ซึ่งเป็นกลุ่มผลไม้ที่ต่างประเทศต้องการและที่สำคัญราคาไม่ได้ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเหมือนพืชไร่อื่นๆ
ราชาแห่งผลไม้ไทยเสี่ยงถูกเพื่อนบ้าน ‘ล้มแชมป์’
แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรมเกษตร บอกกับ THE STANDARD WEALTH อีกว่า จุดที่น่าห่วงคือ แม้ไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ไปยังแดนมังกร ซึ่งครองตำแหน่งผู้ส่งออกอันดับ1 มาหลายปี แต่การแข่งขันที่รุนแรงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้ไทยเสียแชมป์ให้เพื่อนบ้าน
“ตั้งแต่จีนเปิดโอกาสค้าขายทุเรียนให้เพื่อนบ้านมากขึ้น จะเห็นว่า เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลายมาเป็นคู่แข่ง แย่งส่วนแบ่งการตลาดไป”
ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุ สัดส่วนส่งออกทุเรียนไปจีนครองอันดับ 1 ถึง 97.4% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดของไทย รองลงมาคือ ฮ่องกง 1.3% เกาหลีใต้ 0.3% มาเลเซีย 0.2% และ สหรัฐอเมริกา 0.2%
“การส่งออกผลไม้สดของไทยพึ่งพาจีนเป็นตลาดหลัก แต่ไทยกำลังเผชิญการแข่งขันจากคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน โดยจีนเริ่มอนุญาตการนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย”
นอกจากนี้จะเห็นว่า ปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเกือบ 618,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 2,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราส่วนกว่า 44% ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน
ไทยควรรักษาคุณภาพ ปราบทุเรียนสวมสิทธิ์ ขณะเดียวกันควรรักษาส่วนแบ่งในตลาดจีนไว้ให้ได้ ควบคู่ไปกับการเร่งเจาะตลาดส่งออกใหม่ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เพื่อลดความเสี่ยง และการแข่งขันที่นับวันยิ่งรุนแรง