กลิ่นฉุนของทุเรียนทำให้ผลไม้นี้เป็นทั้งที่รักที่ชังในวงกว้าง แต่ด้วยการทุ่มเทแรงกายนาน 3 ปี พร้อมทุนทรัพย์ที่สนับสนุนโดยกลุ่มคนรักทุเรียนผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวสิงคโปร์ค้นพบยีนกลิ่นของราชาแห่งผลไม้แล้ว
ด้วยการเปรียบเทียบแบบแผนการแสดงออกของยีนจากส่วนต่างๆ ของต้นทุเรียน อย่างใบ ราก และทุเรียนสุก พวกเขาพบว่ายีน MGL ควบคุมการผลิตสารกลิ่นกำมะถันระเหย
“ผลการวิเคราะห์เปิดเผยว่าการผลิตสารกลิ่นกำมะถันระเหยถูกอัดเข้าไปในลูกทุเรียนอย่างมหาศาล ซึ่งก็ตรงกับความคิดเห็นของคนทั่วไปที่ว่ากลิ่นฉุนของทุเรียนออกแนวคล้ายกลิ่นกำมะถัน” ศาสตราจารย์ แพทริก ตัน ผู้นำการวิจัยจาก Duke – NUS Medical School กล่าว
นัยหนึ่งของการค้นพบล่าสุด ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า หากกำจัดกลิ่นของผลไม้หนามชนิดนี้ออกไปเลยจะดีหรือไม่
“ทุเรียนที่ปราศจากกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ก็เสมือนมนุษย์ที่ทำจิตวิญญาณหายไป” ริชชี เหลียง ชาวสิงคโปร์แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก
รายงานแผนที่พันธุกรรมทั้งหมดของทุเรียนได้รับการตีพิมพ์ผ่านวารสารวิชาการ Nature Genetics ได้ให้เหตุผลว่า กลิ่นฉุนของทุเรียนมีความสำคัญอย่างมากต่อการดึงดูดสัตว์ต่างๆ ให้เข้ามากิน และช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ของมันออกไป
ทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งระบุว่า ทุเรียนมีจีโนมประมาณ 46,000 ยีน และเปิดเผยอีกว่า หากย้อนกลับไป 65 ล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษที่ใกล้เคียงทุเรียนที่สุดก็คือ ต้นโกโก้
ราชาแห่งผลไม้ได้รับความนิยมในการปลูกทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยกลิ่นของพวกมันทำให้เขตสาธารณะหรือขนส่งมวลชนหลายแห่งไม่ยินยอมให้เอาเข้าไปในพื้นที่
ถึงแม้จะเป็นที่นิยม แต่ทุเรียนบางสายพันธุ์ก็ใกล้สูญพันธ์ุเข้าไปเต็มที่ ดร. เตห์ บิน เทียน รองผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งแห่งสิงคโปร์ กล่าวต่อสื่อมวลชนถึงประเด็นนี้ว่า ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และย้ำว่า “ลำดับดีเอ็นเอจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องข้อมูลอันล้ำค่าที่บรรจุอยู่ในพืชสำคัญเหล่านี้”
Photo: NCCS
อ้างอิง: