×

จากตูเจียงเยี่ยนถึงไทย: แก้น้ำท่วม ‘เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล’ บนที่ราบลุ่มเสฉวน

25.10.2022
  • LOADING...
เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ตูเจียงเยี่ยนเป็นอีกหนึ่งผลงานที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบราชการที่มีประสิทธิภาพของจีนเมื่อราว 2,200 ปีที่แล้ว
  • ผลงานดังกล่าวสร้างความมหัศจรรย์ เพราะระบบการจัดการน้ำตูเจียงเยี่ยนยังคงมีประสิทธิภาพที่มีกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ 
  • จึงนำมาสู่การตั้งคำถามสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน หากไม่ได้มีการฟังเสียงของคนท้องถิ่นและเน้นอาศัยการแก้ปัญหาโดยมุมมองจากส่วนกลางเป็นสำคัญ ปัญหาอุทกภัยในภูมิภาคๆ ต่างของไทย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ย่อมไม่ได้มีการพัฒนาแน่นอน

เมื่อไรที่เข้าช่วงฤดูฝนหรือเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ มักจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะบริเวณที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่มักจะมีปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วมสูงในช่วงปีที่มีลมมรสุมเกิดขึ้นจากชายฝั่งทะเลจีนใต้ ซึ่งส่งผลให้หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่ตั้งอยู่มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบสูงโคราช อันเต็มไปด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำ บึง และหนอง

 

ปัญหาน้ำท่วมนอกจากจะทำลายพื้นที่การเกษตรหลายพื้นที่เสียหายจากน้ำท่วมแล้ว ทรัพย์สินของประชาชนก็ได้รับความเสียหายอีกด้วย ที่ราบสูงโคราชนั้นมีความหลากหลายของพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งอาจไม่ได้เผชิญปัญหาด้านความแห้งแล้งเพียงอย่างเดียว น้ำท่วมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำ 

 

ดังนั้นความพยายามของคนโบราณในการแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ราบสูงโคราชมาใช้ในการจัดการพื้นที่ เพื่อที่จะเข้าถึงการใช้ประโยชน์ได้ เช่น ในวัฒนธรรมทวารวดีอีสาน มีการขุดคูน้ำทำคันดินรอบชุมชน เพื่อการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ วัฒนธรรมขอมขุดทำบาราย ซึ่งอาจใช้เพื่อควบคุมและจัดการน้ำในการเกษตรหรือใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง 

 

อย่างไรก็ตาม การจัดการปัญหาน้ำในอดีตในบริเวณแห่งนี้ยังคงไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากับการจัดการน้ำอย่างมีระบบนั่นก็คือ ‘ตูเจียงเยี่ยน’ หรือระบบชลประทานตูเจียง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน คือสุดยอดวิศวกรรมสถานอายุ 2,200 กว่าปีที่เป็นภูมิปัญหาพิสูจน์การบริหารจัดการน้ำของชาวจีนที่ยังคงให้เห็นประจักษ์ถึงปัจจุบัน ท่ามกลางความท้าทายของกาลเวลา

 

เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล

ตูเจียงเยี่ยนจากมุมสูง 

ภาพ: https://www.westchinatour.com/chengdu

 

มณฑลซื่อชวนหรือเสฉวน แปลว่า แม่น้ำ 4 สาย อันได้แก่ แม่น้ำหมิน, แม่น้ำจินซา, แม่น้ำถัว และแม่น้ำเจียหลิง เพราะเป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำเสฉวน มีแม่น้ำใหญ่สายสำคัญอยู่ 4 สาย สายหนึ่งคือแม่น้ำหมิน เกิดจากภูเขาหมินซานทางด้านเหนือไหลสู่ที่ราบต่ำทางใต้ไปบรรจบแม่น้ำแยงซีเกียงที่อำเภออี๋ปิน ที่มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายๆ กับทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยคือแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ที่มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมตามลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยธรรมชาติอยู่เสมอ

 

เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล

พื้นที่สีเหลืองหมายถึงที่ราบเฉิงตู 

ภาพ: Worldometers

 

ก่อนที่มีการสร้างตูเจียงเยี่ยนไม่เคยมีแม่น้ำที่ไหลผ่านตรงกลางของที่ราบเฉิงตู การสร้างตูเจียงเยี่ยนทำให้พื้นที่เสฉวนกลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกด้านการเกษตร จนกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคตะวันออก ซึ่งเป็นดินแดนตอนในของประเทศจีน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 ในพงศาวดารฮวาหยางที่เขียนขึ้นราวศตวรรษที่ 4 สมัยราชวงศ์จิ้น (ค.ศ. 266-420) ก็มีการกล่าวถึงประสิทธิภาพของตูเจียงเยี่ยนกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ล่วงเลยมาถึงสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ในบันทึกใหม่แห่งราชวงศ์ถังก็มีการกล่าวถึงลักษณะการทำงานของระบบการจัดการน้ำของตูเจียงเยี่ยน ประกอบด้วย ปากปลา (鱼嘴 เกาะแก่งเทียม) ทำนบทางน้ำล้น (飞沙堰) และคอขวดหรือปากเขื่อน (宝瓶口) 

 

โดยปากปลานอกจากจะทำให้แม่น้ำหมินแยกเป็น 2 สาย โดยสายในจะมีให้น้ำไหลไปยังพื้นที่การเกษตรผ่านคอขวด ยังทำให้เกิดกระแสน้ำวนลดความแรง โดยธรรมชาติการไหลของน้ำทำให้สามารถควบคุมกระแสน้ำไม่ให้มีการเอ่อล้นและไหลลงไปตามเส้นทางการขุดคลองไปสู่ที่ราบเสฉวนได้ ส่วนสายนอกเป็นสายระบายน้ำท่วม จากจุดแรกที่เรียกว่าปากปลา การไหลเวียนของน้ำจะมีทางน้ำล้นซึ่งเดิมสร้างจากกรงไม้ไผ่และเสาไม้ชะลอน้ำ และทำให้เกิดกระแสน้ำวนใต้น้ำ ซึ่งทำให้น้ำจากแม่น้ำหมินเจียงที่มีความเข้มข้นของตะกอนสูงสามารถไหลไปยังนิคมเกษตรกรรม โดยที่มีการควบคุมกระแสน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดแบบเต๋าที่ทำความเข้าใจธรรมชาติโดยไม่ขัดกับกฎของธรรมชาติ อันเป็นปรัชญาที่ทำให้เกิดภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์แบบจีน ซึ่งคลอง 3 ส่วนนี้มีหน้าที่แตกต่างกันไป อันได้แก่ การเกษตร การขนส่ง และการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งผลงานเทคโนโลยีการบริหารจัดการนี้เป็นผลงานของ หลี่ปิง วิศวกรด้านน้ำที่มีชีวิตอยู่ในยุคสงคราม เขาได้ทำงานเป็นขุนนางรับใช้ให้กับแคว้นฉินประมาณ 272 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อราว 2,200 ปีที่แล้ว 

 

เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล

แผนที่ตูเจียงเยี่ยน 

ภาพ: China Discovery

 

การศึกษาปัญหาท้องถิ่นและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมถึงการศึกษาสภาพปัญหาภูมิประเทศ หาสาเหตุของปัญหา และดูแนวทางการแก้ปัญหาของคนในพื้นที่รุ่นก่อน แล้วนำมาปรับปรุงและประสานเข้ากับความรู้และความคิดใหม่ๆ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตูเจียงเยี่ยนจึงสามารถ ‘เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล’ โดยขุดคูคลองระบายน้ำไปทางด้านตะวันออก เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำของพื้นที่แถบนั้น และใช้เป็นแหล่งช่วยรับน้ำในฤดูน้ำหลากได้ส่วนหนึ่งด้วย นับตั้งแต่มีตูเจียงเยี่ยน ‘น้ำขาด’ หรือ ‘น้ำเกิน’ จึงไม่ได้เป็นปัญหากับมณฑลเสฉวนอีกเลย การแก้ไขปัญหาท้องถิ่นต้องอาศัยเวลาและคนที่มาจากพื้นที่ 

 

ตูเจียงเยี่ยนเป็นอีกหนึ่งผลงานที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบราชการที่มีประสิทธิภาพของจีนเมื่อราว 2,200 ปีที่แล้วที่สร้างความมหัศจรรย์ เพราะระบบการจัดการน้ำตูเจียงเยี่ยนยังคงมีประสิทธิภาพที่มีกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ จึงเป็นการตั้งคำถามสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน หากไม่ได้มีการฟังเสียงของคนท้องถิ่นและเน้นอาศัยการแก้ปัญหาโดยมุมมองจากส่วนกลางเป็นสำคัญ ปัญหาอุทกภัยในภูมิภาคๆ ต่างของไทย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ย่อมไม่มีการพัฒนาแน่นอน

 

เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล

การไหลเวียนของน้ำในตูเจียงเยี่ยน 

ภาพ: Bo Wang

 

เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล

ปากปลาจุดที่แยกแม่น้ำหมินเจียงเป็น 2 สาย เพื่อควบคุมการไหลเวียนของน้ำ

ภาพ: ผู้เขียน

 

เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล

น้ำท่วมบริเวณสะพาน 200 ปีรัตนโกสินทร์ จังหวัดอุบลราชธานี 

(สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497) 

ภาพ: อุบลวันนี้

 

อ้างอิง:

  • Zhang Kan and Hu Changshu (2006). World Heritage in China.
  • Guangzhou: The Press of South China University of Technology. pp. 95–103.
  • 沈翊. (n.d.). Dujiangyan irrigation system wins world irrigation award. Dujiangyan irrigation system wins world irrigation award – Regional – Chinadaily.com.cn. Retrieved October 12, 2022, from
  • http://www.chinadaily.com.cn/regional/2018-08/14/content_37288327.htm
  • ถาวร สิกขโกศล. (2022, July 11). ตูเจียงเยี่ยน (都江堰) แก้น้ำท่วม สุดยอดระบบชลประทานจีนกว่า 2 พันปี มรดกโลกทางวัฒนธรรม. ศิลปวัฒนธรรม. เข้าถึงเมื่อ 12, 2022, from
  • https://www.silpa-mag.com/history/article_2608
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising