สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เจอพายุใหญ่ถล่ม อิทธิพลพายุส่งผลให้เกิดปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 75 ปี น้ำท่วมเจิ่งนองไปแทบทุกที่จนการจราจรเป็นอัมพาต โรงเรียนและสถานที่ราชการต้องปิดทำการ อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิตด้วย 1 คน ขณะเพื่อนบ้านอย่างโอมานก็เผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายไม่ต่างกัน โดยสำนักข่าว Reuters รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 20 คนจากเหตุอุทกภัยครั้งนี้
เกิดอะไรขึ้น ทำไมดินแดนที่ปกติแทบจะไม่มีฝนจึงเจอฝนถล่มหนักสุดในรอบหลายทศวรรษ THE STANDARD จะสรุปให้ฟัง
เกิดอะไรขึ้นในโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ขณะที่คนไทยกำลังเล่นน้ำสงกรานต์อย่างชุ่มฉ่ำ ในอีกซีกโลกหนึ่งพายุลูกใหญ่ได้โหมกระหน่ำเข้าสู่โอมานเมื่อวันอาทิตย์ (14 เมษายน) ก่อนที่จะเคลื่อนตัวเข้าพัดถล่มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในวันอังคาร (16 เมษายน) ส่งผลให้หลายพื้นที่ไฟฟ้าดับ ภาคการบินปั่นป่วนหนัก เพราะรันเวย์กลายสภาพเป็นเหมือนแม่น้ำสายย่อมๆ
ในเมืองอัลอินของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งมีพรมแดนติดกับโอมาน ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 254 มิลลิเมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำฝนในช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมงที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1949 หรือในรอบ 75 ปี
ภาพจากโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลายคนต้องติดอยู่ในรถนานหลายชั่วโมง ผู้โดยสารที่เตรียมเดินทางด้วยเครื่องบินจำนวนมากได้รับแจ้งว่าเครื่องบินดีเลย์เกือบทุกเที่ยว จนเกิดเหตุโกลาหลที่สนามบิน โรงเรียนหลายแห่งปิดทำการจนถึงสัปดาห์หน้า
การทำฝนเทียม (Cloud Seeding) เป็นสาเหตุให้เกิดพายุหรือไม่
ต้องอธิบายแบบนี้ว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และดินแดนบนคาบสมุทรอาระเบียขึ้นชื่ออยู่แล้วว่ามีสภาพอากาศแบบทะเลทรายอันแห้งแล้ง แทบจะไม่เจอฝน โดยอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนสามารถทะยานทะลุ 50 องศาเซลเซียส
โดยปกติแล้วสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีไม่ถึง 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้ในช่วงทศวรรษ 1990 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทุ่มงบประมาณทำฝนเทียมหรือ Cloud Seeding เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในดินแดนที่ได้ชื่อว่าร้อนที่สุด และแห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดเหตุฝนตกหนักเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การทำฝนเทียมซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักจะดำเนินการอยู่เป็นประจำนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝนตกหนักหรือไม่
แต่สำนักข่าว Reuters ส่งคำถามไปยังกรมอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งพวกเขายืนยันว่าไม่ได้มีการทำฝนเทียมก่อนที่พายุใหญ่จะมา
โลกรวนคือตัวการ?
เอสรา อัลนักบี นักพยากรณ์อาวุโสประจำศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนที่สูงเป็นประวัติการณ์นี้น่าจะมีสาเหตุมาจากภาวะโลกรวน ที่ทำให้ระบบสภาพอากาศปกติเลวร้ายลงไปจากเดิม
ระบบความกดอากาศต่ำในชั้นบรรยากาศชั้นบน ประกอบกับความกดอากาศต่ำที่พื้นผิวทำหน้าที่เหมือนเป็นการ ‘บีบ’ ความกดอากาศ โดยการบีบดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงขึ้นจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิที่อุ่นกว่าที่ระดับพื้นผิวกับอุณหภูมิที่เย็นกว่าที่อยู่สูงขึ้นไป จนทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงในที่สุด
อัลนักบียังกล่าวด้วยว่า ‘สภาพปรากฏการณ์ที่ผิดปกติ’ สามารถเกิดขึ้นได้ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูกาลที่ความกดอากาศจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมเสริมว่าภาวะโลกรวนก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดพายุด้วย
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศหลายคนยังกล่าวด้วยว่า การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะโลกรวน ก็ส่งผลให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดถี่ขึ้นทั่วโลก รวมถึงเหตุฝนถล่มด้วยเช่นกัน
ฟรีเดอริก ออตโต อาจารย์อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศแห่ง Imperial College London กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก เนื่องจากโลกมีสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น โดยบรรยากาศที่อุ่นขึ้นจะสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้นนั่นเอง
ภาพ: Amr Alfiky / Reuters
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/middle-east/what-caused-storm-that-brought-dubai-standstill-2024-04-17/
- https://www.theguardian.com/world/2024/apr/18/dubai-floods-airport-malls-shopping-centre-uae-weather-record-rain
- https://www.theguardian.com/world/2024/apr/17/cloud-seeding-dubai-floods
- https://www.infoquest.co.th/2024/384231