แปลกใจไหม? ทั้งที่ใครๆ ก็รู้ว่าการไซเบอร์บูลลี่เป็นสิ่งเลวร้ายร้าย แต่นับวันพื้นที่ในโลกออนไลน์ยิ่งเต็มไปด้วยการบูลลี่ที่เข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุอาจเป็นเพราะว่า หนึ่ง การสื่อสารในโลกออนไลน์เราเห็นเพียงตัวหนังสือผ่านหน้าจอ ไม่จำเป็นต้องมาเจอตัวกัน คนที่บูลลี่จึงไม่จำเป็นต้องเปิดหน้า อย่างเช่น แอ็กหลุมที่มีอยู่มากมายในโลกทวิตเตอร์ใช้ปั่นเทรนด์ต่างๆ หรือทวีตอะไรก็ได้เพราะไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นคนทำ สอง ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายจริงจังเกี่ยวกับการบูลลี่ ผู้กระทำการบูลลี่จึงไม่ต้องเจอกับบทลงโทษ สามารถส่งต่อความเกลียดชังไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องกลัวถูกเอาผิด
และอีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญก็คือ เพราะเราทุกคนอาจยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับการบูลลี่ที่ไม่เพียงพอ หลายๆ ครั้งที่เราสื่อสาร ส่งข้อความ หรือแสดงความคิดเห็นในโลกไซเบอร์จึงกลายเป็นการบูลลี่โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว
เพื่อหยุดวงจรของการบูลลี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ปลอดภัยและน่าอยู่มากขึ้น เราอยากชวนทุกคนมาร่วมทบทวนและทำความเข้าใจถึงถ้อยคำ พฤติกรรม และการกระทำต่างๆ ในโลกออนไลน์ร่วมกัน ผ่านสัญญาใจวัย Gen Z #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ดีแทค และ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่รับฟังเสียงจากคน Gen Z กว่าสองแสนคน ที่เรียกร้องให้คนในสังคมไทยหยุดคำพูดและหยุดกระทำการในเชิงบูลลี่ โดยได้สรุปออกมาเป็นสัญญาที่เล่าด้วยภาษาคนรุ่นใหม่ เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที
สัญญาฉบับนี้ได้รวบรวมทั้งนิยามคำศัพท์เกี่ยวกับการบูลลี่ พฤติกรรมที่เข้าข่ายการบูลลี่ รวมถึงแนวทางในการรับมือเมื่อต้องเจอกับการบูลลี่ โดยแบ่งออกเป็น 4 หมวด และ 23 ข้อ ซึ่งเราขอสรุปออกมาเล่าดังนี้
อะไรคือการไซเบอร์บูลลี่ที่คน Gen Z ไม่โอเค?
การวิจารณ์รูปร่าง (Body Shaming) การเหยียดเพศหรือการกระทำที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเพศ (Gender Inequality) รวมถึงการพิมพ์ข้อความคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) คือ 3 ประเด็นหลักๆ ที่คนรุ่นใหม่ไม่โอเค ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้หยุด และร่วมกันนำเสนอทางออกมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจแต่ก็น่าเศร้าใจในคราวเดียวกันก็คือ คนใกล้ตัวอย่างเช่นคนในครอบครัว เพื่อน คุณครูในโรงเรียน และสื่อต่างๆ คือผู้ที่มีบทบาทหลักในการปลูกฝังทัศนคติ และส่งเสริมให้พฤติกรรมเหล่านี้ยังคงดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากพฤติกรรมที่ว่ามานี้ ยังมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่เข้าข่ายการไซเบอร์บูลลี่ที่เราเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หลายสิ่งหลายอย่างเราอาจเคยมองข้ามเพราะรู้สึกว่าไม่น่าเป็นสิ่งเลวร้ายอะไร แต่การปล่อยให้พฤติกรรมผิดๆ เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้สร้างความเจ็บปวดและทำร้ายคนมาแล้วมากมาย อย่างเช่น การสร้างข่าวลือหรือเฟกนิวส์ รวมถึงการสร้างแอ็กหลุม หรือการสร้างอวตารที่แพร่ระบาดเป็นอย่างมากในสังคมออนไลน์ปัจจุบัน
‘หมูอ้วน’ การหยอกล้อที่เข้าข่ายการบูลลี่ การกระทำที่เข้าข่ายการบูลลี่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การพูดจาด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือการแสดงออกด้วยท่าทีก้าวร้าวรุนแรงเท่านั้น แต่ในสัญญาใจฯ หมวดที่ 3 ยังชี้ให้เห็นว่า หลายๆ ครั้งเลยทีเดียวที่คำพูดเชิงหยอกล้อ ติดตลก หรือการเย้าแหย่ด้วยความเอ็นดูกลับทำให้คนฟังรู้สึกสะเทือนใจหรือสูญเสียความมั่นใจต่อการใช้ชีวิต
อย่างเช่น ‘หมูอ้วน’ ‘หมูน้อย’ คำพูดคำแซวที่มาจากผู้ใหญ่หลายๆ บ้านที่ใช้เรียกลูกหลานโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่คำพูดเหล่านี้กลับทำให้ผู้ถูกเรียกรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกครอบครัวบูลลี่ในเรื่องรูปร่างหรือน้ำหนัก ถ้าหากเป็นไปได้ ชาว Gen Z ก็อยากจะขอร้องให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวเข้าอกเข้าใจและเรียกขานพวกเขาด้วยชื่อหรือถ้อยคำอื่นๆ ที่ไม่ตัดสินพวกเขาจากรูปร่าง สีผิว หรือรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากมาตรฐานความงามโดยทั่วไป
‘โพสต์แซะ โพสต์ลอยๆ ปั่น’ การกระทำเหล่านี้ก็ไม่โอเค
ในสัญญาใจฯ หมวดที่ 3 ว่าด้วยพฤติกรรมต่างๆ ที่อีกฝ่ายห้ามกระทำต่ออีกฝ่ายหนึ่ง เพราะจะก่อให้เกิดความรู้สึกแย่ๆ หรืออาจจะกลายเป็นสิ่งที่ลดทอนความมั่นใจ ไปจนถึงทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่โอเคเอามากๆ และเข้าข่ายการบูลลี่ก็คือ การล้อเลียนเรื่องรสนิยมทางเพศ การแต่งตัว การเหยียดโดยอาศัยความแตกต่าง เช่น ฐานะ การศึกษา และความชื่นชอบส่วนบุคคล
แต่อาจจะมีการกระทำหรือพฤติกรรมบางอย่างที่ชาวเน็ตหลายๆ คนอาจยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่ตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้เข้าข่ายการบูลลี่และทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวดได้ไม่ต่างกัน นั่นคือการขุด หา นำเสนอหลักฐานต่างๆ การแขวนกันบนโลกออนไลน์เพื่อตอกย้ำความผิดพลาดของอีกฝ่าย รวมถึงการโพสต์เชิงบูลลี่โดยไม่ระบุชื่อหรือการโพสต์ลอยๆ ที่บูลลี่รูปลักษณ์อีกฝ่าย เช่น “คนที่อ้วนๆ ตาตี่ๆ ตัวเตี้ยๆ หน้าเหมือนลิงบาบูน” ที่เป็นการปั่นให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่ากำลังโดนคุกคามอยู่ การกระทำเหล่านี้ไม่โอเคเลย
4 แนวทางป้องกันการไซเบอร์บูลลี่
ในหมวดที่สี่ของสัญญาใจฯ เป็นส่วนที่ได้ระบุถึงมาตรการรับมือและป้องกันการไซเบอร์บูลลี่ ที่ช่วยให้คนที่ถูกบูลลี่ไม่รู้สึกอับอาย ไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกบูลลี่ และรักษา Self-Esteem ของตัวเองไว้ได้ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่
- การให้กำลังใจตัวเองด้วยข้อความเชิงบวก
- การให้ความเคารพและยอมรับความเป็นตัวเอง
- การมองว่าข้อความไซเบอร์บูลลี่ทำอะไรเราไม่ได้ หากเราไม่รับมันมาใส่ใจ
- การไม่ส่งต่อการไซเบอร์บูลลี่
นอกจากการไม่เป็นเหยื่อของการถูกไซเบอร์บูลลี่และการไม่ส่งต่อพฤติกรรมการไซเบอร์บูลลี่แล้ว เราทุกคนยังทำได้มากกว่านั้น ด้วยการเป็นที่พึ่งทางใจให้กับคนรอบตัวเวลาที่เขาถูกไซเบอร์บูลลี่ หรือในกรณีที่ลูกหลานมาปรึกษาเรื่องบูลลี่ เราที่เป็นพ่อแม่ก็ควรที่จะรับฟังลูกอย่างเอาใจใส่และเข้าใจ เพื่อให้เขาได้สัมผัสถึงความปลอดภัยและอุ่นใจได้
จะเห็นได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเคยเห็นเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ใช่สิ่งที่น่าซีเรียสอะไร แต่วันนี้ทัศนคติต่างๆ เหล่านั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่เข้าท่า เป็นปัญหาที่สร้างความเจ็บปวดและส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่กำลังออกมาตั้งคำถามและส่งเสียงเรียกร้องให้เราหยุดพฤติกรรมเคยชินที่ผิดเพี้ยนเหล่านี้ด้วยเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ การไซเบอร์บูลลี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องหันมาทำความเข้าใจกันใหม่ และต้องช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะสังคมที่น่าอยู่คือสังคมที่ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย มีความสุข และตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง
อ่านรายละเอียดของ สัญญาใจวัย Gen Z #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ได้ที่: https://www.safeinternetlab.com/brave/agreement