วันนี้ (14 ตุลาคม) พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยถึงกระบวนการพิจารณาการรับคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นคดีพิเศษหลังปรากฏจำนวนผู้เสียหายกว่า 500 ราย มูลค่าความเสียหาย 118 ล้านบาท ว่า สำหรับการรับเป็นคดีพิเศษของ DSI มีเกณฑ์พิจารณาอยู่ที่จำนวนผู้เสียหาย 300 ราย และมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท
เบื้องต้นหากพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบสำนวนคดีรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเอกสาร และพยานวัตถุ รวมทั้งสอบปากคำผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา แล้วพบพฤติการณ์ที่เข้าข่ายว่าอาจเป็นความผิดแชร์ลูกโซ่ตามแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องแจ้งเรื่องและพฤติการณ์ทางคดีมาให้ DSI พิจารณารับเป็นคดีพิเศษ แต่ถ้าหากไม่เป็นความผิดตามแนบท้ายก็ต้องเสนอกรรมการคดีพิเศษเพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษตามขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ DSI ยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ แต่การดำเนินการตรวจสอบจะไม่หยุดชะงัก เพราะทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและ DSI โดย พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ (กองคดีแชร์ลูกโซ่ของ DSI) มีการประสานเรื่องข้อมูลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรอบขอบเขตการสอบสวนที่ DSI ตั้งไว้คือการเน้นย้ำเรื่องบัญชีของบริษัทและวิธีการรับประโยชน์ เช่น แผนธุรกิจของบริษัทดังกล่าว ว่ามีการเน้นหาสมาชิกหน้าใหม่มากกว่าเน้นการขายผลิตภัณฑ์หรือไม่ และเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารแผนธุรกิจ
ขณะที่ พ.ต.ต. วรณัน ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า DSI ดำเนินการเรื่องข้อมูลที่ได้มาเพื่อดูองค์ประกอบกรณีแชร์ลูกโซ่ว่ามีเหตุสงสัยหรือไม่ หากมีเหตุสงสัยก็จะดำเนินการสืบสวนคู่ขนานและจะตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงิน
พ.ต.ต. วรณัน กล่าวอีกว่า เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการรับส่งสำนวนระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและ DSI ด้าน DSI จะพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อตรวจสอบว่าเข้าองค์ประกอบฐานความผิดแชร์ลูกโซ่หรือไม่ โดยจะดูเรื่องความหมายของการกู้ยืมเงินเปรียบเทียบกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และจะมีการประสานกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังว่า แผนประทุษกรรมของแผนธุรกิจดังกล่าวนั้นเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เพราะมีผลผูกพันกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในช่วงเวลาเกิดเหตุ
ส่วนเรื่องการออกหมายเรียกแก่บรรดาบอสต่างๆ นั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสำนวนมาแล้ว DSI ก็จะดูพฤติการณ์ว่าจะต้องสอบสวนประเด็นใดเพิ่มหรือไม่ จึงจะออกหมายเรียกบรรดาบอสเข้ามาสอบปากคำ
พ.ต.ต. วรณัน เผยด้วยว่า สำหรับประเด็นการตรวจสอบเส้นทางการเงินในส่วนของ DSI นั้น เราจะดูรายได้ของบริษัททั้งหมด เพราะแผนธุรกิจของบริษัทเป็นการประกอบธุรกิจตลาดขายตรงโดยที่มีการจดทะเบียนถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เราจึงต้องไปดูระบบการเงินก่อน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาและยังมีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ชี้แจงข้อเท็จจริง และสามารถนำพยานหลักฐานที่จะชี้แจงเข้าสำนวนของพนักงานสอบสวนได้ ซึ่งตรงนี้ DSI จะใช้อำนาจของ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 7 เพื่อเปิดโอกาสให้รายงานสถานภาพการประกอบธุรกิจ และส่งพยานหลักฐานที่ดำเนินการอยู่มาให้ DSI เพื่อเอาข้อเท็จจริงมากางดูต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากแหล่งข่าวระดับสูงระบุว่าสิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือเรื่องแผนธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เนื่องจากการลงทุนจะมีนิยามของการกู้ยืมเงินตามกฎหมายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้ใช้คำที่บ่งบอกถึงลักษณะการเน้นหาสมาชิกโดยตรงแต่เป็นการหาตัวแทนจำหน่าย จึงทำให้ DSI ต้องดูรายละเอียดและพฤติการณ์การกระทำจากพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ เชื่อว่าบริษัทจะต้องสู้เรื่องการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่ได้รับอนุญาตจาก สคบ. และอ้างว่าทำตามรูปแบบตลาดแบบตรง