×

ภัยแล้งและผู้บริโภคห่วงใยสุขภาพมากขึ้น 2 ความท้าทายที่ ‘ชาวไร่อ้อยของไทย’ ต้องเผชิญ

16.07.2021
  • LOADING...
sugar cane plantation

ถึงแม้ว่า ‘ชาวไร่อ้อยของไทย’ จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการผลิตมากที่สุดในโลก แต่รายงานล่าสุดของ Nikkei Asia ชี้ว่า พวกเขากำลังเผชิญความท้าทายอย่างใหญ่หลวง 2 ประการ คือ ภัยแล้งที่รุนแรงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพมากขึ้น

 

ข้อมูลจาก บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด ประเมินว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลในไทยสำหรับปีการเพาะปลูก 2020-2021 (พฤศจิกายน 2020 – ตุลาคม 2021) จะอยู่ที่ประมาณ 6.6 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบทศวรรษ และน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ 14.7 ล้านตัน จากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตในฤดูกาล 2017-2018 โดยสาเหตุที่ผลผลิตมีปริมาณลดลงเกิดจากภัยแล้งที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น

 

ขณะเดียวกันรสนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคชาวไทยยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การผลิตน้ำตาลลดลงด้วย สถิติชี้ว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 5 ล้านคน ส่งผลให้รัฐบาลต้องเสียเงินหลายพันล้านบาทต่อปีในการใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ทำให้ในปี 2018 ไทยได้กำหนด ‘ภาษีน้ำตาล’ โดยยิ่งปริมาณน้ำตาลสูง ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ต้องเสียภาษีก็จะยิ่งจ่ายมากขึ้น

 

ภาษีที่เพิ่มขึ้นหมายถึง ‘ต้นทุน’ ที่เพิ่มขึ้นด้วย บรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มจึงหาทางออกท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ล่าสุด Coca-Cola เพิ่งเปิดตัวแบรนด์น้ำอัดลมปราศจากน้ำตาลสูตรใหม่ ทางด้าน TCP Group ที่มีสินค้าโด่งดังจาก ‘กระทิงแดง’ ก็ได้ออกเครื่องดื่มชนิดใหม่ที่มีน้ำตาลน้อยและเพิ่มส่วนผสมจากโสมเกาหลีเข้ามา

 

นักวิเคราะห์มองว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มกำลังเพิ่มสารสกัดจากธรรมชาติและวิตามินลงในผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดลูกค้า ตัวอย่างเช่น กลุ่ม TCP เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2018 ทันทีหลังจากที่รัฐบาลเก็บภาษีน้ำตาล รายได้จากเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ล้านบาท ในปี 2561 เป็น 2,018 ล้านบาท ในปี 2020 ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกมองว่าได้รับแรงผลักดันจากต้นทุนน้ำตาลที่สูงขึ้นและความปรารถนาที่จะรักษาส่วนแบ่งในตลาดน้ำอัดลมของไทย

 

“ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพเป็นอย่างมากและเราเห็นว่าผู้ผลิตเครื่องดื่มกำลังปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ค่อนข้างดี” นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าว และเสริมว่าราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นเนื่องจากการผลิตที่ลดลง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งสำหรับผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

 

แม้ภาษีน้ำตาลจะส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำหวานของไทยจนทำให้มูลค่าในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.04 หมื่นล้านบาท จาก 1.31 หมื่นล้านบาทก่อนที่จะเริ่มเก็บภาษี แต่กระนั้นตลาดน้ำอัดลมทั้งแบบหวานและไม่หวานรวมกันยังคงเติบโตในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าตลาดน้ำอัดลมโดยรวมจะเติบโต 1.5% ในปี 2020 ด้วยมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising