×

แมรีแลนด์ทดสอบโดรนบินส่งไตเพื่อผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

03.05.2019
  • LOADING...
drone used to deliver donor kidney first time

แนวคิดการนำโดรนมาใช้ส่งสินค้าเพื่อลดระยะเวลาการขนส่งเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่การจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้นั้นยังเป็นเรื่องยากพอสมควร เนื่องจากข้อจำกัดด้านนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละพื้นที่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโปรเจกต์การพัฒนาโดรนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการขนส่งให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

 

ล่าสุด ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland Medical Center) ในบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา ได้นำโดรนขึ้นบินทดสอบสำหรับการปลูกถ่ายในผู้ป่วยเป็นครั้งแรกแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการทดลองในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยที่ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

 

การทดลองในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์และโรงพยาบาลเซนต์แอกเนสในบัลติมอร์เพื่อนำส่งอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งประโยชน์จากการทดลองจะช่วยให้การนำส่งอวัยวะให้ผู้ป่วยทำได้เร็วและปลอดภัยขึ้น โดยโดรนลำนี้ได้ขึ้นบินเมื่อช่วงเวลา 01.00 น. จากโรงพยาบาลเซนต์แอกเนสที่ความสูงระดับ 120 เมตรจากพื้นดิน เพื่อเดินทางไปยังศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ที่อยู่ห่างออกไปราว 5 กิโลเมตร

 

โดรนลำดังกล่าวถูกออกแบบขึ้นมาพิเศษพร้อมติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการมอนิเตอร์อวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายตลอดการขนส่งโดยเฉพาะ และใช้เวลาในการนำส่งถึงปลายทางทั้งสิ้น 10 นาที ก่อนจะนำไตจากผู้บริจาคไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยหญิงวัย 44 ปีที่มีอาการภาวะไตวาย

 

นายแพทย์โจเซฟ สกาเลีย (Joseph Scalea) หนึ่งในทีมแพทย์ผู้ผ่าตัดได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จที่เกิดขึ้นของการทดลองในครั้งนี้ ทั้งยังกล่าวอีกด้วยว่า การใช้โดรนเพื่อนำส่งอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายในผู้ป่วยถือเป็นประโยชน์และความก้าวหน้าในวงการการแพทย์ ที่ช่วยลดข้อจำกัดด้านการจัดส่งที่ล่าช้าในอดีตได้เป็นอย่างมาก ขณะที่ในเร็วๆ นี้เชื่อว่าจะสามารถเดินทางได้ไกลขึ้นที่ระยะทางประมาณ 50-160 กิโลเมตร

 

“ระยะทางในการนำโดรนบินอาจจะไม่สำคัญสักเท่าไร แต่สิ่งสำคัญคือเราสามารถใช้เทคโนโลยีของโดรนมาประยุกต์เข้ากับระบบการปลูกถ่ายอวัยวะและการลำเลียงส่งในปัจจุบันได้”

 

ที่ผ่านมาเคยมีกรณีการนำโดรนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เห็นมาแล้ว ตัวอย่างเช่น การนำยาและวัคซีนบินส่งในกานานและสาธารณรัฐวานูอาตูตามลำดับ แต่การใช้โดรนส่งอวัยวะปลูกถ่ายครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลกเลยก็ว่าได้ เนื่องจากการขนส่งอวัยวะมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่า  เพราะทุกวินาทีที่เสียไปล้วนแล้วแต่มีผลต่อโอกาสการอยู่รอดของผู้ป่วย

 

ขณะที่องค์กรด้านการปลูกถ่ายอวัยวะในสหรัฐฯ United Network for Organ Sharing ระบุว่า ในปี 2018 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมากถึง 114,000 รายที่จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ ในจำนวนนี้มีผู้ป่วย 4% ที่ได้รับการรักษาล่าช้าเนื่องจากการนำส่งอวัยวะทำได้ช้ากว่ากำหนด 1-2 ชั่วโมง

 

ภาพ: ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland Medical Center)

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X