×

เรารู้อะไรบ้างในเหตุโดรนโจมตีกลางกรุงมอสโก ฝีมือยูเครนจริงหรือไม่

31.05.2023
  • LOADING...
มอสโก

นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 หรือตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเปิดฉากขึ้น ภาพที่โลกได้เห็นมักเป็นความสูญเสียและความเสียหายของฝั่งยูเครน ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่พังถล่ม เศษแก้วกระจัดกระจาย มิสไซล์ที่ปักลงกับพื้น รวมถึงเลือดผู้เสียชีวิตที่หลั่งนองไปทั่วพื้นถนน

 

แต่เมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่ผ่านมา (30 พฤษภาคม) ภาพที่โลกได้เห็นกลับเป็นเศษกระจกที่แตกกระจาย อาคารหลายหลังที่ได้รับความเสียหาย และมีรอยไหม้ดำปรากฏอยู่ ทว่า…ภาพที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่กรุงเคียฟ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย 

 

แม้ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์จะเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ยูเครนเจอมาตลอด แต่มันก็ทำให้หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือไฟสงครามที่เคยร้อนระอุคุกรุ่นอยู่แค่ในเขตแดนของยูเครน ได้ลุกลามมาเคาะประตูบ้านของผู้รุกรานอย่างรัสเซียแล้ว

 

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเหตุโจมตีกรุงมอสโกด้วยโดรนพิฆาต THE STANDARD สรุปรวบทุกประเด็นมาไว้แล้วในบทความชิ้นนี้

 

  • เกิดอะไรขึ้นกันแน่

 

หากอ้างอิงจากการรายงานของหน่วยงานรัฐบาลรัสเซีย ข้อมูลระบุว่า เมื่อช่วงเช้าของวันอังคาร มีโดรนพิฆาตจำนวน 8 ลำที่ลอบบินเข้ามาก่อเหตุในกรุงมอสโก โดยทางการรัสเซียสามารถยิงทำลายและใช้อุปกรณ์รบกวนสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์สกัดโดรนเอาไว้ได้ 5 ลำด้วยกัน 

 

แต่หากดูจากสื่อรัสเซียที่ใกล้ชิดกับแหล่งข่าวด้านความมั่นคงนั้น พวกเขารายงานว่าตัวเลขจริงของโดรนที่เข้ามาในกรุงมอสโกเยอะกว่าที่ทางการเปิดเผยออกมามาก หรืออยู่ที่มากกว่า 30 ลำด้วยกัน โดยมีโดรน 3 ลำสามารถเข้าไปโจมตีในอาคาร 3 แห่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงมอสโก ซึ่งเป็นอาคารที่พักอาศัยของประชาชน อพาร์ตเมนต์ และตึกสูง แต่เคราะห์ดีที่อาคารทั้งหมดไม่ได้รับความเสียหายหนัก และไม่มีผู้เสียชีวิต โดยสำนักข่าว Reuters รายงานว่ามีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 2 คน แต่ไม่ได้อยู่ในอาการสาหัสแต่อย่างใด

 

  • มีโดรนชนิดใดบ้าง

 

รายละเอียดที่ออกมานั้นยังไม่แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์ว่ามีโดรนอย่างน้อย 1 ลำคือโดรนรุ่น UJ-22 ซึ่งผลิตโดย Ukrjet บริษัทสัญชาติยูเครน ซึ่งทางฝั่งของรัสเซียกล่าวว่า โดรนรุ่นนี้เคยลอบเข้ามาโจมตีในกรุงมอสโกแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ปรากฏแล้วมองว่าไม่น่าใช่โดรนรุ่นเดียวกัน

 

ข้อมูลเบื้องต้นของโดรน UJ-22 คือมันสามารถบินขึ้นและลงจอดบนลานบินที่มีความยาว 100 เมตร มีระยะการบิน 800 กิโลเมตร สามารถบินได้ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง และบรรทุกน้ำหนักได้ราว 20 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นน้ำหนักที่มีไว้เพื่อบรรทุกอุปกรณ์ระเบิดสำหรับโจมตีนั่นเอง

 

แต่ข้อมูลที่แน่ชัดคือ โดรนที่เข้ามาก่อเหตุเป็นโดรนที่ได้รับการออกแบบมาให้สามารถบินได้ค่อนข้างไกล แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้แน่ชัดว่าโดรนดังกล่าวอยู่ในรัสเซียอยู่แล้ว หรือบินไกลมาจากยูเครนกันแน่

 

  • ศักยภาพทำลายล้างของโดรนเหล่านี้อันตรายแค่ไหน

 

หากประเมินจากภาพความเสียหายแล้ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโดรนดังกล่าวน่าจะมีน้ำหนักบรรทุกที่ต่ำกว่าโดรนพิฆาต Shahed สัญชาติอิหร่านที่รัสเซียมักใช้เพื่อโจมตียูเครนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแปลว่าหากยูเครนอยู่เบื้องหลังการกระทำนี้จริง ก็แสดงว่ายูเครนอาจจะยังไม่สามารถใช้งานโดรนที่มีอานุภาพทำลายล้างมากกว่านี้ หรือไม่ก็เลือกที่จะไม่ใช้รูปแบบการโจมตีที่รุนแรงมากนัก

 

  • ยูเครนตั้งเป้ายกระดับการโจมตีด้วยโดรนจริงหรือ

 

ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปี เราจะเห็นว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุโจมตีด้วยโดรนในเขตแดนของรัสเซีย รวมถึงดินแดนของยูเครนที่ถูกทหารรัสเซียยึดครองไว้ได้ และหากไล่เรียงดูแล้วจะพบว่าการโจมตีด้วยโดรนในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ค่อนข้างใกล้กับแนวชายแดน หรือพุ่งเป้าโจมตีไปที่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของรัสเซีย และระบบโลจิสติกส์ของรัสเซียในดินแดนที่สามารถยึดครองยูเครนไปได้ รวมถึงเหตุการณ์โจมตีที่โรงกลั่นน้ำมันที่เกิดขึ้นหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าหากดูจากเหตุการณ์ในอดีต จะเห็นว่ายูเครนมีความพยายามที่จะส่งโดรนโจมตีเป้าหมายที่อยู่ในรัสเซียด้วยเช่นกัน

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เกิดเหตุที่โดรน UJ-22 ตกในรัสเซีย ห่างจากกรุงมอสโกไปราว 100 กิโลเมตร หลังจากที่บินเป็นระยะทางกว่า 460 กิโลเมตร เข้าสู่เขตแดนของรัสเซียโดยไม่ถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศยิงสกัดได้ 

 

และสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมนี้เอง ก็เกิดเหตุที่โดรนปริศนา 2 ลำโจมตีทำเนียบเครมลิน ซึ่งทางการรัสเซียมองว่ามีเป้าหมายเพื่อลอบสังหารประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แต่ที่สุดนั้นโดรนดังกล่าวไม่ได้สร้างความเสียหายที่ใหญ่หลวง มีแค่อาคารบางส่วนได้รับความเสียหายที่พื้นผิว ไม่ได้ถึงขั้นที่โครงสร้างถล่มลงมา หรือมีผู้ได้รับบาดเจ็บใดๆ ขณะที่ตัวปูตินเองก็ไม่ได้อยู่ในอาคารดังกล่าวในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ

 

  • ยูเครนอยู่เบื้องหลังจริงหรือไม่

 

ไม่กี่สัปดาห์หลังเหตุโจมตีเครมลิน เว็บไซต์ของ The New York Times ก็เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า จากข้อสรุปของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นคำสั่งมาจากหนึ่งในหน่วยงานทางทหารพิเศษหรือหน่วยข่าวกรองของยูเครน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าหน่วยใดกันแน่ที่เป็นผู้ลงมือ และไม่แน่ชัดว่าตัวประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ รู้เห็นเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้หรือไม่ เพราะมีเจ้าหน้าที่บางคนที่เชื่อว่าเซเลนสกีไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่บางคนในรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เองก็ไม่ค่อยพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก เพราะกังวลว่าจะทำให้สงครามลุกลามบานปลายมากขึ้นไปกว่าเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะเห็นว่ายูเครนไม่เคยยอมรับตรงๆ ว่ากองกำลังของฝ่ายตนเองเป็นผู้ที่เปิดฉากปฏิบัติการโจมตีรัสเซีย หากสิ่งที่เกิดขึ้น ‘อยู่นอกอาณาเขตของยูเครน’ แต่มักจะกล่าวเชิงเสียดสีซ้ำเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ‘เป็นการลงทัณฑ์จากพระเจ้า’ หรือยูเครนไม่รู้ไม่เห็นกับการโจมตีด้วยโดรน ‘แต่เรายินดีที่จะเฝ้าดูเหตุการณ์เหล่านี้ และคาดว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต’

 

หรืออย่างกรณีล่าสุดนี้ยูเครนเองก็ปฏิเสธ โดย มิคาอิโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน ได้แสดงวาทะเสียดสีเผ็ดร้อนว่า “คุณก็รู้ เรากำลังเข้าสู่ยุคของ AI บางทีมันอาจจะไม่ใช่โดรนทุกลำที่พร้อมจะโจมตียูเครน 

 

“โดรนบางลำมันอาจจะอยากกลับไปหาผู้ผลิต และถามว่า ‘ทำไมคุณถึงส่งเราไปทำร้ายเด็กๆ ในยูเครน ในกรุงเคียฟ’” 

 

แม้จะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่ปูตินก็ฟันธง 100% แล้วว่านี่คือการก่อการร้ายจากยูเครนที่มุ่งเป้าทำร้ายพลเรือน และหวังที่จะขู่ขวัญให้ทุกคนหวาดกลัว แต่รัสเซียจะเสริมการป้องกันทางอากาศรอบเมืองหลวงให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม

 

  • หากเป็นฝีมือยูเครนจริง ทำไมถึงเลือกใช้ยุทธวิธีนี้ทั้งที่สงครามผ่านมานานแล้ว

 

แม้การโจมตีหลายๆ ครั้งของยูเครนจะดูเหมือนเป็นปฏิบัติการปูทางก่อนที่จะเริ่มการโต้ตอบกลับครั้งใหญ่ ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การโจมตีเหล่านี้ดูเหมือนมีจุดประสงค์เพื่อสร้างผลกระทบด้านจิตวิทยามากกว่า เพราะสำหรับประชาชนชาวรัสเซีย รวมถึงบรรดากลุ่มชนชั้นนำที่อาศัยอยู่ในหลายเมืองสำคัญ อย่างกรุงมอสโก หรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สิ่งนี้เป็นการเขย่าขวัญพวกเขาอยู่ไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยสัมผัสกับประสบการณ์ที่เป็นสงครามเต็มรูปแบบอย่างที่ยูเครนเคยเจอ หรือแม้แต่ชาวรัสเซียในพื้นที่ห่างไกลซึ่งถูกเรียกระดมพลไปสู้รบด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ การโจมตีที่เกิดขึ้นใจกลางเมืองหลวงจึงถูกมองว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ที่ข่มขวัญให้ชาวรัสเซียเห็นว่า ‘ศึกครั้งนี้มาถึงประตูบ้านแล้ว’ และชี้ให้เห็นด้วยว่ายูเครนมีศักยภาพมากพอที่จะส่งอาวุธมากระตุกหนวดเสือถึงถิ่น แถมยังหลบเลี่ยงระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกด้วย

 

  • คนรัสเซียรู้สึกอย่างไร

 

หลังเกิดเหตุดังกล่าว ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Al Jazeera ได้ลงพื้นที่ไปสอบถามความรู้สึกของชาวเมืองที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาแบบสดๆ ร้อนๆ แต่ดูเหมือนว่าบางคนจะไม่ได้กังวลมากนักต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

 

“ใช่ มีวัตถุลอยฟ้าของยูเครนบินอยู่เหนือหัวเรา แต่สถานการณ์ที่นี่ค่อนข้างสงบ ไม่มีความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าโดรนพวกนั้นสามารถเข้ามาลงจอดในเครมลินได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้นแผนการบุกยูเครน ‘อันยิ่งใหญ่’ ในตอนนี้จึงกลายเป็นสถานการณ์ที่ดูเฉยๆ ไปแล้ว ผมสงสัยจังว่าประชาชนคนอื่นจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อไปนับจากนี้” นายธนาคารวัย 30 ปีในกรุงมอสโกกล่าว

 

ด้านประชาชนที่ก่อนหน้านี้ถูกสั่งให้อพยพออกจากอาคารที่พักชั่วคราว ก็เริ่มทยอยกลับเข้าบ้านของตัวเองกันแล้ว โดยหญิงผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าว่า เสียงของโดรนดังลั่นคล้ายกับเสียงรถจักรยานยนต์ หลังจากนั้นก็มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นสองครั้ง และเธอก็ได้กลิ่นน้ำมันก๊าด ตอนนั้นเธออยู่ที่ชั้น 4 ของที่พักอาศัย และรู้สึกเหมือนมีวัตถุขนาดใหญ่พุ่งมากระแทกตึก

 

แต่ถึงเช่นนั้น การที่โดรนดังกล่าวบุกเข้ามาถึงใจกลางเมืองได้ก็ทำให้เกิดความกังวลถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงอยู่ไม่น้อย โดย เยฟกินี พริโกชิน (Yevgeny Prigozhin) เจ้าของบริษัท แวกเนอร์ กรุ๊ป หรือกลุ่มทหารรับจ้างของรัสเซีย ได้โพสต์ข้อความด้วยความเดือดดาลผ่าน Telegram ว่า ‘เจ้าหน้าที่ของรัสเซียมัวทำอะไรอยู่’

 

“พวกคุณคือกระทรวงกลาโหมนะ คุณไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อเสริมความปลอดภัย ทำไมคุณถึงปล่อยให้โดรนเหล่านี้บินเข้ามาในมอสโก!”

 

แม็กซิม อิวานอฟ สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัสเซีย เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการโจมตีมอสโกครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การรุกรานของนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

พร้อมกล่าวด้วยว่าไม่มีชาวรัสเซียคนใดที่สามารถหลีกเลี่ยง ‘ความจริงใหม่’ นี้ได้

 

ภาพ: KIRILL KUDRYAVTSEV / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X