ดรูว์ แบร์รีมอร์ นักแสดงวัย 43 ปี เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อโปรโมตซีรีส์ Netflix เรื่อง Santa Clarita Diet คู่กับ ทิโมธี โอลิแฟนท์ นักแสดงที่รับบทบาทเป็นสามีของเธอ ถ้าใครยังไม่คุ้นชื่อของเขาเท่าไรก็อาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาจากซีรีส์ดังเรื่องอื่นๆ อย่าง Justified และ Deadwood ซึ่งบอกได้เลยว่าตัวจริงของทิโมธีในวัย 49 ปี ยังดูหล่อ แถมยังขี้เล่นอีกด้วย
Santa Clarita Diet เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคู่สามี-ภรรยาที่เป็นนายหน้าค้าบ้านใน ซานตา คลาริตา รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่แล้ววันหนึ่ง ชีล่า ซึ่งรับบทโดย ดรูว์ แบร์รีมอร์ ก็มีอาการประหลาดๆ คล้ายซอมบี้ ซึ่งในซีรีส์ใช้คำว่า ‘undead’ ทำให้เธอทำอะไรตามใจตัวเอง มั่นใจ และที่สำคัญคือเธอต้อง ‘กินเนื้อคน’ เป็นอาหารเท่านั้น ในขณะที่สามีและลูกสาว แอ็บบี (ลิฟ ฮิวสัน) ต้องพยายามรักษาครอบครัวไว้ให้เหมือนเดิมที่สุด
“ใครอยากได้คำแปลก็ยกมือถามเลยนะคะ เหมือนตอนอยู่โรงเรียนเลย” ดรูว์เปิดการสัมภาษณ์ โดยสื่อแต่ละคนเตรียมคำถามชิลล์ๆ ตลกๆ มาถามให้เข้ากับซีรีส์เรื่องนี้ แต่มุกที่เธอพูดกลับเป็นเรื่องจริง เพราะคำตอบของเธอได้สอนอะไรเรามากกว่าที่คิด
คุณคิดว่าซอมบี้มีจริงหรือเปล่า
ดรูว์: ฉันก็ไม่เคยเจอกับตัวนะ แต่ประเด็นคือซอมบี้ในเรื่องมันถูกใช้ในการเปรียบเทียบที่ดีมากเลย เพราะเอาเข้าจริงเราทุกคนก็เคยมีอาการแบบนี้เหมือนกัน อยากจะครองโลก หรือทำอะไรบ้าๆ แล้วพอคนคนหนึ่งมีอาการ undead เหมือนซอมบี้ขึ้นมา มันกลับทำให้รู้สึกมีชีวิตมากขึ้น กล้าทำอะไรมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราแค่ต้องการตัวเตือนสติเพื่อปลุกให้ตื่นจากสภาพเดิมๆ ที่เป็นอยู่
Santa Clarita Diet เล่าเรื่องแบบนี้เลย บางคนอาจจะมองว่าซีรีส์ซอมบี้ต้องเป็นอีกแบบเหมือนที่คนชอบกัน เต็มไปด้วยความรุนแรงอะไรแบบนั้น แต่เรื่องนี้กลับมีความอบอุ่นแบบบ้านๆ พูดถึงประเด็นครอบครัว ตลก ซึ่งฉันชอบมาก เพราะบางทีคนดูก็ชอบอะไรที่มันผิดแปลก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแล้วรู้สึกอินตามได้ด้วย
ดรูว์อธิบายบทที่ตัวเองต้องเล่นเป็นซอมบี้ในซีรีส์ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ Santa Clarita Diet ที่เปลี่ยนวิธีการตีความคำว่าซอมบี้จากซีรีส์เรื่องอื่นๆ ไปตลอดกาล เธอยังพูดขำๆ ว่าคำตอบของเธอดูเหมือนจะยาวเกินไปสำหรับการสัมภาษณ์ที่มีเวลาเพียง 20 นาที “หลังจากนี้ฉันจะพยายามตอบสั้นๆ แล้วกัน”
ดรูว์: ในซีรีส์เรื่องนี้ การเป็นซอมบี้มันไม่เหมือนเรื่องอื่นๆ มันถือเป็นเรื่องดีสำหรับชีล่าด้วยซ้ำ การกลายเป็นซอมบี้ทำให้เธอได้ถามตัวเองว่าชีวิตที่ผ่านมาทำเต็มที่แล้วหรือยัง มันปลุกให้เธอตื่นจากชีวิตเดิมๆ ของเธอ และชีวิตคู่ของเธอด้วย
แล้วถ้าวันหนึ่งคุณกลายเป็นซอมบี้ขึ้นมาจริงๆ ล่ะ
ทิโมธี: ต้องเป็นพาดหัวหนังสือพิมพ์ที่พีกมาก
ดรูว์: ก่อนหน้านี้ชีวิตของฉันไม่ค่อยดี ทุกอย่างพัง แต่การแสดงเรื่องนี้กลับสอนให้ฉันเก็บเศษที่พังทลายเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ จัดการชีวิตตัวเอง และเริ่มก้าวไปข้างหน้า ซีรีส์มันสอนให้เราลุกขึ้นแล้วเปลี่ยนสถานการณ์แย่ๆ ในชีวิตให้ดีขึ้น เหมือนเป็นการเพิ่มพลังตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น สำหรับฉันแล้ว เวลาที่เราเจอสถานการณ์หรือปัญหาที่โหดมากๆ นั่นล่ะคือตอนที่เราต้องเดินเข้าหาแสงสว่าง อารมณ์ขันและมุกตลกในซีรีส์เรื่องนี้ล่ะคือทางออกที่ดีที่สุด
ฉันเบื่อมากกับพวกเรื่องดราม่า ความเศร้าโศกเสียใจ หรือประเด็นหนักๆ ฉันแค่อยากหัวเราะ อยากรู้สึกดี อยากผ่อนคลาย เชื่อสิ ถ้าเมื่อไรก็ตามมีอะไรบ้าๆ เกิดขึ้นกับคุณ จงเปลี่ยนมันให้กลายเป็นจุดแข็งให้ได้ และซีรีส์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวที่ต้องทำอะไรแบบนี้แหละ …ตอบยาวอีกแล้ว
ทิโมธี: เดี๋ยวเราต้องไปขึ้นเครื่องต่อนะ (หัวเราะ)
ระหว่างการสัมภาษณ์ ทิโมธีแทรกมุกตลกตลอดทาง ทำให้เราได้เห็นความสนิทสนม และเคมีที่เข้ากันของสองนักแสดงนำอย่างชัดเจน ไม่แปลกที่พวกเขามักให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งว่าการถ่ายทำซีรีส์ Santa Clarita Diet เป็นการทำงานที่สนุกและอบอุ่นที่สุด ดรูว์ถึงกับบอกว่าเธอตัดสินใจรับบทก็เพราะทิโมธีและวิกเตอร์ เฟรสโก (ผู้กำกับซีรีส์) เลย
ทิโมธี: บทของเรื่องนี้ดีมาก มันมีทั้งความบ้าบอและความฉลาดรวมกันอยู่ในนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นซีรีส์ที่ deceptively smart ซึ่งส่วนตัวผมจะไม่ค่อยได้รับบทแนวนี้เท่าไร ถ้าใครอยู่ในวงการก็จะพอทราบว่าถ้านักแสดงคนหนึ่งรับบทแนวไหนก็จะถูกเรียกไปเล่นแบบเดิมๆ ตลอด แต่เรื่องนี้ผมได้บทแตกต่างออกไป
ดรูว์: อย่างที่บอกว่าวิกเตอร์เป็นคนน่ารักมาก เป็นแฟมิลีแมน และเขาก็มีอารมณ์ขันตลกๆ แปลกๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนดีมากๆ พอฉันได้เจอเขาก็รู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะเล่นเรื่องนี้ แล้วพอรู้ว่าจะได้เล่นคู่กับทิโมธีก็ปิดดีล ตอบตกลงเลย เขาดูเป็นสุภาพบุรุษมากๆ สำหรับฉัน
จริงๆ แล้วซอมบี้ หรือ undead ในเรื่อง มันคืออาการที่คนธรรมดาถูกควบคุมด้วย id (สัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์) ถ้าตอนนี้พวกคุณถูก id สั่งการโดยไม่มีจิตสำนึกอะไรเลย คิดว่าคุณจะทำอะไรกันอยู่
ดรูว์: ใช่เลย ในโชว์มันพูดถึงเรื่อง id นี่แหละ เพราะวิกเตอร์ชอบประเด็น Narcissism (ภาวะหลงตัวเอง) อะไรแบบนั้น ซึ่งมันถูกใช้เปรียบเปรยกับซีรีส์แนวซอมบี้บ่อยมาก
ทิโมธี: ผมขอไม่ตอบข้อนี้แล้วกัน (ทั้งห้องหัวเราะ)
ดรูว์: (หัวเราะ) ทำไมล่ะ นี่เราแค่อยู่ในห้องสัมภาษณ์เฉยๆ คุณคิดว่าตัวเองจะอยากทำอะไรบ้าๆ สักแค่ไหน
ทิโมธี: ไม่ๆ ก็ถ้าผมถูกควบคุมโดย id มันจะต้องน่าเกลียดมากแน่ๆ เพราะความเข้าใจของผมที่มีต่อความเป็นมนุษย์โดยพื้นฐานแล้วเนี่ย มันไม่น่าจะออกมาดีเท่าไร
ดรูว์: สำหรับฉัน ฉันว่าไม่มีอะไรต่างจากตอนนี้เลย เพราะทุกวันนี้ก็ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ตามที่จิตใจลึกๆ ต้องการอยู่แล้ว
ถึงแม้ว่าดรูว์จะผ่านผลงานภาพยนตร์มากว่า 60 เรื่อง แต่ Santa Clarita Diet กลับเป็นผลงานทีวีซีรีส์เรื่องแรกของเธอ ดรูว์เล่าให้ฟังในประเด็นนี้ว่า “เวลาที่ใช้ในการถ่ายทำซีรีส์กับภาพยนตร์มันอาจจะไม่ต่างกันมาก แต่วิธีการใช้เวลานั้นต่างกันจริงๆ เพราะถึงมันใช้เวลา 3 เดือนเท่ากัน แต่ตอนถ่ายภาพยนตร์ วันแรกคุณอาจจะต้องไปถ่ายซีนสุดท้ายก่อนเพราะเหตุผลทางโปรดักชันต่างๆ แต่สำหรับซีรีส์ เราจะต้องถ่ายทำกันตอนต่อตอน และไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อเลย ซึ่งนั่นดีกว่าในแง่ของการแสดง มันทำให้ตัวละครแสดงได้สมจริง”
แล้วข้อดีของการทำงานร่วมกับ Netflix ครั้งแรกล่ะ
ทิโมธี: ผมรัก Netflix ก็ตรงที่ทุกอย่างมันเข้าถึงได้ง่ายมาก มันมีพร้อมให้คุณเข้าไปดูตลอด ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องไปโรงหนังอินดี้เพื่อหาหนังบางเรื่องดูให้ทันก่อนมันออกโรง แต่ตอนนี้อยากดูเรื่องไหน หรือแม้แต่สารคดีหาดูยากๆ แค่กดเข้าไปก็มีให้ดูเลย แล้วอย่างสารคดีที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจ ตอนนี้เราก็มีสารคดีใหม่ๆ ที่น่าสนใจขึ้น สนุกเหมือนเรื่องแต่ง มันดีที่เรามีโอกาสได้เห็นคนใช้โอกาสจากสื่อนี้ ถ้าไม่มี Netflix ก็ไม่มีอะไรพวกนี้เลย
ดรูว์: ฉันอยากร่วมงานกับ Netflix อีกแน่นอน และเหมือนที่ทิโมธีพูดเลย ฉันเคยต้องไปหาหนังเก่าๆ ดู ซึ่งก็หาดูยากเหลือเกิน มันแย่ที่อยากดูหนังสักเรื่องมากแล้วสุดท้ายมันเข้าโรงฉายอยู่ไม่กี่สัปดาห์ และก่อนหน้านี้เราไม่เคยได้อยู่ในโลกแบบนี้เลยที่ทุกคนรอบโลกกดเข้าไปดูสิ่งเดียวกัน ในเวลาเดียวกันได้ ซึ่ง Netflix นี่แหละที่ทำสำเร็จ
ทิโมธี: เราตื่นเต้นมากที่ซีรีส์เรื่องนี้มันเฉพาะกลุ่มมาก เรื่องราวของเมืองเล็กๆ ในแคลิฟอร์เนีย แต่กลับทำให้คนจากที่อื่นอินตามไปด้วยได้ คนดูจากรอบโลกที่มีวัฒนธรรมต่างกันอย่างในประเทศไทย มันเชื่อมโยงคนจากทุกที่ได้จริงๆ
ดรูว์ที่ตอนนี้เป็นคุณแม่ลูกสอง และทิโมธีที่ใช้ชีวิตกับภรรยาที่แต่งงานกันมาถึง 25 ปี ทั้งสองเป็นตัวแทนที่ดีสำหรับบทสามี-ภรรยาในซีรีส์ รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวและชีวิตคู่ ที่แม้จะต้องเจอปัญหาอะไร เลวร้ายขนาดไหน (ถึงขั้นต้องกินคน) แน่นอนว่าสุดท้ายความรักและความผูกพันของพ่อ แม่ และลูก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอ
ดรูว์กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการสัมภาษณ์ไว้อย่างน่าประทับใจว่า “ฉันเคยกังวลมากที่ต้องทิ้งลูกแล้วกลับมาแสดงอีกครั้ง เพราะมันเป็นงานที่กินเวลาชีวิตมาก แต่กับซีรีส์เรื่องนี้มันสร้างสมดุลได้ เราถ่ายทำกัน 4 วันต่อสัปดาห์ ทำให้ฉันมีเวลาให้ลูกได้ด้วย ซึ่งนั่นมากกว่าพ่อแม่บางคนด้วยซ้ำ มันทำให้ฉันได้กลับไปทำงานเก่าในฐานะนักแสดง และใช้ชีวิตใหม่ในฐานะแม่ได้อย่างสมบูรณ์ ฉันดีใจกับการรับเล่นเรื่องนี้ และรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่สุดในโลก”
เก็บตกหลังสัมภาษณ์
- ดรูว์เป็นแฟนตัวยงของซีรีส์ The Crown ทาง Netflix
- ดรูว์เคยถกประเด็นเรื่อง end credit กับ เควนติน ทารันติโน เธอเล่าว่าเควนตินชอบเอา end credit มาใช้ตอนต้นของหนังมาก และเขาเรียกมันว่า mood time
- ภาพยนตร์มนุษย์ต่างดาวตลอดกาลอย่าง E.T. ใช้การถ่ายทำแบบไล่ตามเหตุการณ์จริงในบท (linear) เพื่อที่จะให้ตัวละครได้ซึมซับประสบการณ์ไปตามภาพยนตร์และมีการแสดงที่สมจริง