×

สรุปข้อเสนอ ‘ดรีมทีม’ ยกเครื่องแผนจัดหาวัคซีน ข้อเสนอที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2021
  • LOADING...
แผนจัดหาวัคซีน

จากการแถลงของกระทรวงสาธารณะสุข โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (21 กรกฎาคม) เพื่อขอโทษประชาชน โดยยอมรับว่าจัดหาวัคซีนล่าช้าและไม่เพียงพอแม้จะพยายามอย่างเต็มที่ เนื่องจากระบบของภาครัฐที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า 

 

นอกจากนั้น นพ.นคร ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีน COVAX ที่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ร่วมลงนาม ในขณะนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เริ่มเจรจาและประสานงานเพื่อขอเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว เพื่อให้ได้วัคซีนในปี 2565 จำนวนที่มากขึ้นนอกเหนือจากการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโดยลำพัง 

 

ทว่าต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้การจัดหาวัคซีนของประเทศไทยล่าช้าและไม่มีเพียงพอมีที่มีจากสาเหตุใดกันแน่

 

เมื่อวานนี้ THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ สมชัย จิตสุชน หนึ่งในบอร์ดบริหารของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง (TDRI) ผู้จัดทำข้อเสนอเพื่อแนะให้มีการปรับแผนการจัดหาวัคซีน ที่มีประเด็นสำคัญคือการจัดตั้ง ‘คณะทำงานของประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19’ หรือ ‘ดรีมทีม’ ผ่านรายการ THE STANDARD NOW

 

ร่วมกันไขปัญหาระบบราชการไทยที่ปรับตัวได้ไม่ทันใจในสถานการณ์วิกฤต และทำความรู้จักกับข้อเสนอที่อาจจะทำให้ทุกอย่างยังไม่สายเกินแก้ไปด้วยกัน

 

สาเหตุที่การเจรจาวัคซีนล่าช้าเกิดจากอะไร

  • “จริงๆ คนที่ควรจะขอโทษมากกว่าคุณหมอนครก็มีอีกเยอะ ถ้าจะมีเรื่องไม่ถูกใจ ความผิดพลาดต่างๆ ผมว่าเป็นเรื่องของระบบที่คุณหมอนครทำงานภายใต้ระบบที่ว่า คนที่ควรจะขอโทษมากกว่าคือคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบที่ว่าได้” สมชัยได้แสดงความคิดเห็นถึงการออกมาขอโทษของ นพ.นคร
  • สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เริ่มเตรียมตัวเรื่องเจรจาวัคซีนโควิดตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 หลังจากการระบาดของโควิดระลอกแรกผ่านไปไม่นาน จนกระทั่งออกมาเป็นประกาศในเดือนตุลาคม 2563 เรื่องการเจรจากับ AstraZeneca  
  • แต่จดหมายการเจรจาวัคซีน AstraZeneca เพิ่มจากเดิม 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส เพิ่งถึงทางบริษัทผู้ผลิตในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เนื่องจากระบบราชการ ซึ่งหนังสือแต่ละฉบับกว่าจะผ่านออกมาได้ต้องใช้ระยะเวลานานมาก และต้องผ่านคณะกรรมการหลายชุด ปัญหาของเรื่องการเจรจาวัคซีนที่ล่าช้านี้จึงเป็นเรื่องระบบและกระบวนการทำงาน

 

ทางลัดร่นระยะเวลาการเจรจาในภาวะวิกฤต เป็นไปได้หรือไม่

  • สมชัยแจงว่า ตนในฐานะบอร์ดบริหารของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมประชุมการจัดหาวัคซีนในช่วงปีที่แล้ว และติดปัญหาเรื่อง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้าง จึงยื่นเรื่องไปยังรัฐบาลให้ออกกฎหมายลดขั้นตอนของ พ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านสภา แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบที่ทางข้างบนไม่ได้ทำตาม 
  • “มันเป็นเรื่องของการมองจากข้างบนลงมา เหมือนกับไม่ได้บริหารเรื่องนี้เสมือนเป็นวิกฤตจริงๆ เมื่อข้างล่างเสนอขึ้นไปก็ไม่ได้รับการตอบสนอง” สมชัย ระบุ
  • ในส่วนของการจัดทีมเจรจาเรื่องวัคซีนก็เป็นการตัดสินใจของข้างบนที่ทำให้มีข้อจำกัด ขณะนี้ที่ผู้ดำเนินการเจรจาเป็นเพียงแพทย์ 2 คนเป็นหลักเท่านั้น ทำให้ต้องรับภาระหนักโดยที่รัฐไม่ได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ ทางที่ดีจึงเห็นว่ากระบวนการนี้ต้องอยู่นอกระบบราชการ ซึ่งควรจะเป็นเรื่องที่คิดได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว

 

ข้อเสนอ ‘ดรีมทีม’ ของ TDRI 

  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ได้ออกข้อเสนอเพื่อแนะให้มีการปรับแผนการจัดหาวัคซีน ที่มีประเด็นสำคัญคือการจัดตั้ง ‘คณะทำงานของประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19’ หรือ ‘ดรีมทีม’
  • คณะจัดหาวัคซีนแบบ ‘ดรีมทีม’ ต้องมีความเป็นอิสระ อยู่นอกระบบราชการ  มีบุคลากรที่มีองค์ความรู้หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่บุคลากรทางการแพทย์อย่างในปัจจุบัน โดยให้หัวหน้าคณะเป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถในการเจรจา ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ วัคซีน ทูต และเจรจานักการค้าจากทั้งภาครัฐและเอกชน
  • การทำงานนี้จะต้องถูกรบกวนจากระเบียบและข้อจำกัดของราชการให้น้อยที่สุด
  • ขณะนี้ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากทางภาครัฐ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยผ่านวงสนทนาแลกเปลี่ยน ซึ่งต้องรอติดตามกันต่อไป

 

ทำไมประชาชนต้องจ่ายเงินค่าวัคซีนทางเลือก

  • สมชัยกล่าวว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาจากการจัดหาวัคซีนที่มาล่าช้า จึงเปิดช่องให้เอกชนได้เข้าไปเจรจา พ่วงมาด้วยกับเงื่อนไขที่ต้องเป็นวัคซีนคนละตัว และให้เอามาขายได้โดยที่รัฐบาลไม่ได้มาชดเชยอะไร 
  • ซึ่งในความเป็นจริงถ้าจัดทำชุดทำงาน ดรีมทีมสามารถหาวัคซีนได้เพียงพอ ทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องจ่ายเงินค่าวัคซีน
  • หนึ่งในข้อเสนอของ TDRI คือ รัฐบาลจึงควรชดเชยเงินให้กับเอกชนที่ซื้อวัคซีนเข้ามา นำวัคซีนทั้งหมดมารวมเป็นกองกลาง แล้วให้ประชาชนในพื้นที่ระบาดหนักและกลุ่มเสี่ยงได้ฉีดวัคซีนฟรี ส่วนกลุ่มที่อยู่นอกพื้นที่เสี่ยงอาจจะต้องมีการจ่ายเงินไปก่อนในระยะที่การจัดหาวัคซีนยังไม่เพียงพอสำหรับทุกคน แต่ในระยะยาวทุกคนจะต้องได้ฉีดวัคซีนฟรี
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising