×

ลมหายใจมังกรแห่งลุ่มเจ้าพระยา

15.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • คณะสิงโตและมังกรไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในย่านชาวจีนเยาวราช ทว่ากลับรวมตัวกันอยู่กว่า 50 คณะในย่านเก่าแก่ตลาดพลู
  • คณะสิงโต มังกรทอง ลูกชัยมงคล ได้ทุบสถิติด้วยการสร้างมังกรตัวยาวที่สุดในประเทศ 149 เมตร ซึ่งจะได้ชมกันในวันที่ 13 และ 17 กุมภาพันธ์นี้ ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

แม้เยาวราชจะเป็นชุมชนจีนขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่หากจะออกเดินทางตามรอยถิ่นฐานของมังกรและสิงโตจากราชวงศ์ฮั่น ที่ไหลตามบริบททางวัฒนธรรมสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กลับกลายเป็นว่าเยาวราชนั้นเป็นเพียงแค่เสี้ยวส่วนของปลายทาง ย่านเก่าริมคลองอย่าง ‘ตลาดพลู’ ต่างหากที่เป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรมการเชิดมังกรและสิงโตในมหานครกรุงเทพฯ

 

จากพระเจ้าตากฯ ถึงตลาดพลู

เมื่อเอ่ยถึงการเชิดมังกร สปอตไลต์ทุกดวงล้วนจับจ้องไปที่ชุมชนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ที่คณะสิงโตและมังกรจีนถือกำเนิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย แต่สำหรับในกรุงเทพฯ การแสดงเชิดมังกรครั้งที่ตื่นตาที่สุดไม่ใช่งานตรุษจีนเยาวราช แต่กลับเป็นงานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งมีมังกรเกือบร้อยคณะหมุนเวียนมาจัดแสดงรอบอนุสาวรีย์ของพระองค์ เหตุก็ด้วยชาวฝั่งธนโดยเฉพาะชาวตลาดพลูล้วนเชื่อว่า สิงโตและมังกรเกิดจากจีนถูกส่งมาแสดงความยินดีกับพระองค์ในวันสถาปนากรุงธนบุรี และตกทอดมาเป็นมรดกชิ้นสำคัญของชาวฝั่งธนฯ ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ที่ระบุว่า การเชิดสิงโตจีนบนแผ่นดินไทยนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นสิงโตญวนที่องเชียงสือได้หัดชาวญวนให้หัดเล่นเพื่อแสดงต่อหน้าพระพักตร์

 

ร้านทำหัวมังกรตลาดพลู

 

แต่ไม่ว่าจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร สิ่งที่ชัดเจนที่สุดในตอนนี้คือ หากลองได้เดินลัดเลาะเข้าซอยเล็กๆ ในย่านตลาดพลู ร่องรอยที่ได้พบอย่างแน่นอนเลยก็คือช่างทำหัวสิงโตและมังกร ชุดคณะสิงโตที่ตากไว้หน้าบ้าน สิงโตประจำศาลเจ้า รวมไปถึงคณะสิงโตและมังกรทั้งเล็กใหญ่ที่มีไม่ต่ำกว่า 50 คณะ

 

“ย่านตลาดพลูนี่เป็นย่านที่รวมทั้งชาวมุสลิมและชาวจีนมานาน ศาลเจ้า โรงเจมีให้เห็นแทบทุกชุมชน และคณะสิงโต มังกรคณะแรกก็ถูกตั้งเพื่อใช้ในงานศาลเจ้า ซึ่งก็คือศาลเจ้าพ่อพระเพลิงที่ตั้งอยู่ริมน้ำตรงนี้”

 

เจ้าพ่อพระเพลิง หรือที่ชาวชุมชนเรียกติดปากว่า ‘อากง’

การเชิดมังกรจำเป็นต้องใช้คนไม่ต่ำกว่า 50 ชีวิต หรือร่วม 100 ชีวิตสำหรับงานใหญ่ ดังนั้นถ้าคนในคณะยังเข้าออกอยู่ไม่เว้นวันก็ไม่สามารถที่จะสร้างความพร้อมเพรียงได้

คุณบุญชัย ร่ำรวยธรรม หนึ่งในสมาชิกสมาคมเพื่อการพัฒนาศาลเจ้าพ่อพระเพลิง ย้อนเล่าถึงการเกิดขึ้นของคณะสิงโต มังกรคณะแรกในตลาดพลู ซึ่งจะถูกเชิดเพียงปีละครั้งในวันแห่ศาลเจ้าพ่อพระเพลิง หรือที่ชาวชุมชนเรียกติดปากว่า ‘อากง’ ซึ่งเป็นเหมือนผู้ที่คอยปกป้องชาวชุมชนตลาดพลู

 

คณะศาลเจ้าพ่อพระเพลิง

 

“บ้านเรือนที่ตลาดพลูในสมัยก่อนเป็นบ้านไม้ มักจะเกิดไฟไหม้บ่อย ชาวชุมชนจึงมีการตั้งศาลขึ้น ชื่อศาลเจ้าพ่อพระเพลิง ซึ่งก็จะมีคณะมังกรสิงโตประจำศาล ไม่รับเล่นงานอื่น เล่นเฉพาะงานแห่เจ้าพ่อพระเพลิงปีละครั้ง ซึ่งวิธีการเชิดก็จะยึดตามแบบโบราณ ซึ่งรุ่นผมเท่าที่จำได้คือมีครูชื่ออาจิณ สีทองคำ หรือ ตี๋ตลาดพลู และพะยอม โต๊ะทอง หรือ บังตลาดพลู เป็นผู้ฝึกสอน จากนั้นมีการสืบทอดกันแบบพี่สอนน้องมาเรื่อยๆ มาไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว

 

“และส่วนหนึ่งของคณะสิงโตในย่านธนบุรีก็เป็นลูกศิษย์ที่แตกยอดไปจากมังกรคณะศาลเจ้าพ่อพระเพลิงทั้งนั้น และด้วยความที่ทางคณะศาลเจ้าพ่อพระเพลิงเล่นเฉพาะงานศาลเจ้า นักแสดงจึงมีทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงานบริษัท พ่อค้าในตลาด เด็กๆ ในชุมชน พอใกล้จะถึงงานแห่เจ้าพ่อพระเพลิง เราก็จะเรียกรวมพลและฝึกซ้อมประมาณสองสัปดาห์ก่อนวันที่จะแห่จริง”

 

มังกรเด็กวัดกัลยาณมิตร

 

คุณบุญชัยเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เราได้เห็นภาพของนักเรียนและเด็กตัวเล็กๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะ ซึ่งการที่คณะสิงโตกลายมาเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์และวิถีของชุมชนนี่เอง ที่ทำให้หลายโรงเรียนในย่านฝั่งธนบุรีสร้างชมรมเชิดสิงโตขึ้นในโรงแรม และออกมารับงานแสดงข้างนอกอยู่บ่อยครั้ง

 

ลมหายใจของมังกรยุคสองพัน

สำหรับหนึ่งในลูกศิษย์ลูกหาของศาลเจ้าพ่อพระเพลิงที่ฝึกหัดมังกรจนชำนาญและออกมาตั้งคณะของตัวเองจนโด่งดังในปัจจุบันก็คือ คณะสิงโต มังกรทอง ลูกชัยมงคล คณะที่โด่งดังเรื่องความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นมังกรติดไฟ LED หัวมังกรทองคำ และการสร้างมังกรตัวยาวที่สุดในเมืองไทย

 

คณะสิงโต มังกรทอง ลูกชัยมงคล

 

“หลายคนอาจจะเคยเห็นผลงานของคณะลูกชัยมงคลทางสื่อต่างๆ มาบ้าง เช่น งานแต่งงานของคู่รักดาราดัง งานวันเกิดคนดัง รวมทั้งในละครหลายๆ เรื่อง แต่หากผมไม่ปรับตัว ไม่ปรับแนวคิดตั้งแต่วันที่คิดจะเข้ามารับช่วงต่อ ทำคณะมังกรต่อจากพ่อ ลูกชัยมงคลก็อาจเป็นเพียงคณะเล็กๆ หรือต้องเลิกไปก็ได้”

 

คุณเป้-จิรพัฒน์ วิลัยพงษ์ หัวหน้าคณะสิงโต มังกรทอง ลูกชัยมงคล เอ่ยถึงเบื้องหลังความอยู่รอดของคณะสิงโต มังกรที่ต้องหารายได้หล่อเลี้ยงสมาชิกนับร้อยให้ได้ โดยลูกชัยมงคลถือได้ว่าเป็นหนึ่งในคณะเก่าแก่ที่อยู่คู่กับตลาดพลูมากว่า 40 ปี โดยมีรุ่นพ่อซึ่งเป็นลูกศิษย์ศาลเจ้าพ่อพระเพลิงเป็นคนสืบทอด

 

คณะสิงโต มังกรทอง ลูกชัยมงคล

 

“รุ่นแรกเป็นลูกพี่ลูกน้องของพ่อผม ซึ่งเขาก็เลิกทำแล้ว คนในคณะต่างแยกย้ายไปทำมาหากิน แต่พ่อผมก็เลิกเล่นมังกรไม่ได้ ก็เลยเข้ามารวมคณะให้กลับมาใหม่ แต่ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก คือพ่อผมชอบสิงโต ชอบมังกรมาก โดดเรียนไปเล่นเลย เพราะเขาเกิดมากับสิงโตและมังกรอยู่แล้ว ผมก็เหมือนกัน เกิดมาก็เห็นเขาเชิดสิงโตกันทุกวัน ตอนผมตัดสินใจเข้ามารับช่วงต่อจากพ่อนี่ก็ถือว่าเป็นช่วงย่ำแย่ของคณะเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นคนในคณะน้อยมาก ชื่อเสียงแทบจะเงียบหายไป ต่างคนต่างก็ต้องแยกย้ายกันไปทำงานเพื่อหาเงิน ว่างจึงจะมารับงานคณะ ซึ่งผมก็เลยต้องมาคิดใหม่ว่าผมต้องหางานมาเลี้ยงพวกเขาให้ได้ พัฒนาบุคลากร โดยเอาแผนการตลาด 4P ที่ได้เรียนนำมาประยุกต์ใช้กับมังกรดูบ้าง เราปรับตัวเองให้เข้ากับความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบันอยู่ตลอด การใช้สื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก วิดีโอ เรามีหมด สร้างจุดแข็ง ออกโปรโมชัน แจกของที่ระลึกของคณะเพื่อสร้างการจดจำ สร้างกลุ่มคนรักสิงโต นี่จึงทำให้ลูกชัยมงคลกลับมาสร้างชื่อเสียงได้อีกครั้ง”

 

การวางแผนการตลาดของหัวหน้าคณะมังกรยุคใหม่ยังหมายถึงการปรับมุมมองของตัวเองที่ไม่ได้มองว่ามังกรเป็นเพียงความเชื่อ การแสดง หรือเป็นเพียงแค่ศาสตร์แขนงหนึ่ง แต่คุณเป้เริ่มต้นจากการมองให้เป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ลูกค้าควรจะมีสิทธิเลือก ดังนั้นคุณเป้จึงเสริมความหลากหลายให้ลูกค้า อย่างสิงโตก็มีให้เลือกถึง 9 สี หัวมังกรทองคำก็ทำจากทองคำหนักประมาณ 4 บาท รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ด้วยมังกรตัวยาวที่สุดในไทย 149 เมตร

 

“ถ้าเรามองว่ามังกร สิงโต คือการแสดงที่ลูกค้าต้องเชื่อตามเราอยู่แล้ว เลือกไม่ได้ เราเป็นแบบนี้ลูกค้าต้องเลือกตามเราแบบนี้ เราก็จะไม่พัฒนา เคยเป็นมาอย่างไร 5 ปี 10 ปีก็จะเหมือนเดิม ลูกค้าก็ย่อมเบื่อ กลับกันหากเรามองว่าสิงโตและมังกรเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง เราก็จะต้องลงทุนสร้างความหลากหลายให้สินค้า อย่างสิงโต 9 สี มีทั้งแบบสิงโตเหนือที่เหมือนสุนัขปักกิ่ง และสิงโตกวางตุ้งที่ออกไปทางกายกรรม กระโดดเสาดอกเหมย มังกรชุดเล็กใหญ่ มังกรที่ยาวที่สุดในประเทศ รวมทั้งมังกรติดไฟ LED ที่เพิ่มลูกเล่นและถูกใจคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ความต้องการลูกค้ามาแบบไหนเราก็มีตัวเลือกให้ ซึ่งผมก็จะมีลูกเล่นใหม่ๆ แบบนี้ออกมาทุกปี”

 

คณะสิงโต มังกรทอง ลูกชัยมงคล

 

มากกว่าเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบุคลากรก็เป็นอีกสัดส่วนที่สำคัญซึ่งจะนำพาคณะสิงโตและมังกรให้อยู่รอด เพราะการเชิดมังกรจำเป็นต้องใช้คนไม่ต่ำกว่า 50 ชีวิต หรือร่วม 100 ชีวิตสำหรับงานใหญ่ ดังนั้นถ้าคนในคณะยังเข้าออกอยู่ไม่เว้นวันก็ไม่สามารถที่จะสร้างความพร้อมเพรียงได้ คุณเป้จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการหางานอื่นมาทดแทนในช่วงที่งานน้อย พร้อมสวัสดิการบ้านพักฟรี อาหารพร้อม มีเอาต์ติ้งประจำปีไม่ต่างจากรูปแบบของบริษัท

 

คุณเป้-จิรพัฒน์ วิลัยพงษ์

หัวหน้าคณะสิงโต มังกรทอง ลูกชัยมงคล

 

“ต่อให้อุปกรณ์พร้อม แต่ทีมเวิร์กไม่มีก็แสดงได้ไม่เต็มร้อย เหมือนรุ่นพ่อผมที่คนน้อย รับได้เฉพาะงานเล็กๆ เงินลงทุนในอุปกรณ์จึงไม่มี คณะของผมตอนนี้มีที่ประจำอยู่ประมาณ 50 ชีวิต อายุน้อยสุดคือเด็ก 3 ขวบ แต่ก็มีลูกศิษย์ที่สามารถเรียกมาเสริมทัพได้ เช่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ออกรับงานติดต่อกันเป็นสัปดาห์ตั้งแต่เช้า กลับเข้าบ้านตี 1 ตี 2 ส่วนเทศกาลปกติก็ประมาณ 10-15 งานต่อเดือน ซึ่งก็ทำให้ทุกคนในคณะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องไปรับงานเสริมที่อื่น มีเวลาฝึกซ้อม ทำชุดใหม่ อุปกรณ์ใหม่ ไม่เคยได้หยุด เพราะสำหรับผมถ้าไม่สุดก็จะไม่หยุดพัฒนา”

 

คุณเป้กล่าวทิ้งท้ายถึงการต่อลมหายใจให้มังกรที่เดินทางไกลจากเมืองจีนสู่ลุ่มเจ้าพระยา และกำลังจะกลายเป็นมังกรทองที่กลมกลืนไปกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่สามารถเรียกหาได้ในทุกงานมงคล

 

Photo: ศรัณยู นกแก้ว

FYI
  • หลักการตลาด 4P คือหลักในการวางกลยุทธ์แผนการตลาดมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ (Product) 2. ราคา (Price) 3. ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) 4. การส่งเสริมการตลาด (Promotion)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising