×

เลือกตั้ง 2566 : หมอพรทิพย์ยัน ไม่ขอโหวตเลือกนายกฯ ในสภา ขอยึดหลักการ ไม่ทำตามกระแส

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2023
  • LOADING...

วานนี้ (15 พฤษภาคม) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ END GAME เกมที่แพ้ไม่ได้ ของ THE STANDARD ถึงมุมมองผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า สามารถประเมินได้ 4 ข้อ ดังนี้

 

  1. พรรคเพื่อไทยไม่ได้คะแนนอันดับ 1 ตามที่ตั้งใจ คงต้องกลับมาทบทวนอย่างหนัก

 

  1. การที่พรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐได้คะแนนน้อย แสดงว่าคนไทยเบื่อหน่ายเต็มทนกับ 2 พรรคฯ ดังกล่าว

 

  1. การที่ก้าวไกลได้คะแนนอันดับ 1 เป็นการตอบสนองกับสิ่งที่พรรคฯ รวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐไม่เคยทำมาตลอด 4 ปีในการเป็นรัฐบาล อีกทั้งก้าวไกลก็ชูนโยบายที่เด่นชัด ทำให้ประชาชนตอบสนองกับสิ่งดังกล่าว

 

  1. ดีใจที่การเมืองไทยจะถูกล้างระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องมีนายทุนพรรคฯ เมื่อจัดตั้งรัฐบาลก็จะต้องมีโควตารัฐมนตรีให้แต่ละพรรคฯ ทำให้เกิดความวุ่นวาย

 

อย่างไรก็ตาม พญ.คุณหญิงพรทิพย์ได้แสดงความเป็นห่วงต่อพรรคก้าวไกลว่า กลุ่มของพรรคฯ ยังไม่เคยเป็นรัฐมนตรี อีกทั้งบุคคลที่ได้รับเลือก เป็นบุคคลที่ได้ตามความต้องการที่พรรคฯ ตั้งใจไว้ แต่ไม่ได้ถูกเลือกเพราะประสบการณ์การทำงาน ฉะนั้น ถ้าต้องเจอกับความเคี่ยวกรำของการเมืองไทยจะสามารถรับมือได้หรือไม่

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ได้เผยถึงกรณี ส.ว. ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีว่า หลักการของการเมืองทั่วไปไม่เคยให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ เนื่องจาก ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เหตุผลที่สนับสนุนให้ ส.ว. โหวตนายกฯ ในครั้งที่แล้ว เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับพิเศษที่มีบทเฉพาะกาลว่า ‘อยากให้ได้นายกฯ ที่จะมาปฏิรูป’ แต่สุดท้ายกลับไม่เป็นเช่นนั้น จึงตัดสินตั้งแต่แรกๆ ว่าจะไม่ใช้สิทธิในครั้งที่แล้ว

 

ฉะนั้น การเลือกตั้งในครั้งนี้ขอยืนยันว่า จะไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม ส่วนคนอื่นๆ จะคิดเช่นไรก็คงมีหลายรูปแบบ

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากตัวเลขของพรรคฯ ฝ่ายรัฐบาลคือ 309 ที่นั่ง และต้องใช้เสียง ส.ว. ราวๆ 70 เสียง จะมีโอกาสที่ ส.ว. จะไม่ฝืนกับกระแสประชาชนหรือไม่

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เชื่อว่า จะมีคนจาก ส.ว. ไปโหวตให้ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนตัว ไม่ได้หมายความว่า ส.ว. ที่ไม่โหวตจะไม่ฟังเสียงของประชาชน ซึ่งตนเองไม่ชอบทำอะไรตามกระแส และทำตามหลักการอย่างเดียว 

 

ทั้งนี้ การเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ไม่ได้มีเอกภาพตั้งแต่แรก เนื่องจากครั้งที่แล้วค่อนข้างชัดเจนว่าอยากให้นายกฯ สามารถขับเคลื่อนปฏิรูป แต่ครั้งนี้กลับเป็นการสู้กันที่สูสีของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ซึ่งหาก ส.ว. จะโหวตเพื่อให้เกิดความมั่นคงก็ย่อมได้ แต่ถ้าไม่โหวตก็ต้องระมัดระวังเพราะครั้งที่แล้วก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะโหวตตามหลักการ

 

นอกจากนี้ยังมองประเด็น ส.ว. ไม่โหวตนายกฯ ว่า ถ้าอิงตามหลักการของการเลือกตั้ง ครั้งนี้มั่นใจว่าพรรคฯ ก้าวไกลจะสามารถรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่น่าจะยากเย็น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising