×

เล่าประสบการณ์ ‘บริจาคอวัยวะ-บริจาคร่างกาย’ ชาติหน้าไม่ครบ 32 จริงหรือ?

10.10.2017
  • LOADING...

 

     สำหรับคนที่สนใจเรื่องการบริจาคอวัยวะและการบริจาคร่างกายมาโดยตลอดคงมีความคิดในหัวว่า เมื่อร่างกายของเราใช้การไม่ได้แล้ว หากมันยังมีประโยชน์ต่อบุคคลอื่นได้ก็น่าจะดีกว่า แต่ก็มีอีกหลายคน โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มักจะออกตัวห้ามอยู่เสมอๆ ด้วยความคิดที่ว่า ชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ 32 เช่นเดียวกับวิดีโอ พินัยกรรมอวัยวะ จากโครงการ Let Them See Love 2016 ด้านบน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการทำดีก็ควรจะเป็นบุญต่อเราด้วยสิ

     อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยสนใจการบริจาคอวัยวะและการบริจาคร่างกายจริงๆ คิดว่าขั้นตอนยุ่งยากและเป็นเรื่องไกลตัว หรือแม้กระทั่งคนที่สนใจ คิดเอาไว้ว่าจะบริจาคแต่ก็ยังไม่เคยลงชื่อแสดงความจำนงสักทีก็มี

     วันนี้ผู้เขียนจึงตัดสินใจไปทดลองขั้นตอนการบริจาคอวัยวะด้วยตัวเอง ให้รู้ไปเลยว่ามันง่ายจริงๆ รวมทั้งสรุปคำตอบให้ว่า บริจาคอวัยวะ-บริจาคร่างกาย คืออะไรกันแน่

 

สิ่งที่ต้องรู้แบบอ่านรวดเดียวจบ

  1. บริจาคอวัยวะกับบริจาคร่างกายไม่เหมือนกัน
  2. บริจาคอวัยวะ คือ บริจาคอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยที่ต้องการอวัยวะนั้นๆ ส่วนบริจาคร่างกาย คือ ไปเป็นอาจารย์ใหญ่ (สำหรับการเรียนของนักศึกษาแพทย์)
  3. วิธีการง่ายทั้งคู่ เพราะการตรวจร่างกายต้องรอหลังเสียชีวิต เราทำหน้าที่แค่กรอกเอกสารเท่านั้น
  4. การบริจาคในขั้นตอนสุดท้ายต้องได้รับการยินยอมจากญาติ หรือหากเปลี่ยนใจไม่อยากบริจาคก็สามารถยกเลิกเมื่อไรก็ได้
  5. อยู่บ้านก็ทำได้ เพราะเราเพียงแสดงความจำนงส่งไปรษณีย์ บอกข้อมูลครั้งเดียวจบ แค่รอบัตรแข็งส่งกลับมาที่บ้าน

 

 

ลงพื้นที่

     หลังจากที่ศึกษาข้อมูลในการบริจาครูปแบบต่างๆ ผู้เขียนสนใจที่บริจาคอวัยวะ (ที่ไม่ใช่ดวงตา) ซึ่งสามารถเลือกได้อีกว่าจะบริจาคอวัยวะทั้งหมดที่ใช้งานได้ หรือเลือกแยกอวัยวะหัวใจ ตับ ไต และปอด โดยมีวิธีให้เลือก 2 อย่างคือ จะพิมพ์เอกสารมากรอกเองแล้วส่งไปรษณีย์ หรือจะเดินทางไปที่สภากาชาดไทย ซึ่งไม่ไกลจากบีทีเอสสยาม ผู้เขียนจึงเลือกอย่างที่ 2

     การเดินทางสามารถเสิร์ช ‘ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย’ ใน Google Map ได้เลย จากเส้นถนนอังรีดูนังต์ ศูนย์รับบริจาคฯ จะอยู่ฝั่งเดียวกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถ้ามาจากทางสยามสแควร์ก็จะอยู่ฝั่งขวามือ กลับรถ แล้วเลี้ยวเข้าไปถาม รปภ. ในพื้นที่ได้

     กว่าจะหาตึกรับบริจาคเจอก็สับสนนิดหน่อย แต่มีเจ้าหน้าที่เดินอยู่ในพื้นที่รอบๆ ตลอดเวลา และพร้อมให้ความช่วยเหลือ บริเวณรอบตึกรับบริจาคมีที่จอดไม่มากนัก ถ้าขับรถยนต์ส่วนตัวไปแนะนำว่าให้แจ้ง รปภ. เพื่อช่วยหาที่จอดรถให้ได้

     การแต่งกายไปบริจาคก็อาจจะต้องแต่งตัวเรียบร้อยหน่อย ควรสวมเสื้อมีแขน (ผู้เขียนใส่กางเกงขายาว แต่เสื้อแขนกุด ก็ต้องใส่เสื้อคลุมทับอีกที) เข้าไปก็ทำการแลกบัตรเหมือนสำนักงานปกติ บอกความประสงค์ว่าจะมาบริจาคอวัยวะ โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งว่ามีทั้งการบริจาคอวัยวะที่ชั้น 5 และบริจาคดวงตาที่ชั้น 7 ซึ่งอยู่ในตึกเดียวกัน และสามารถทำเรื่องบริจาคได้ทั้งคู่

 

 

“อย่ากลัวว่าวันเวลาจะทำให้เธอต้องเสียใจ หรือความห่างไกลจะทำให้ใจฉันไหวหวั่น”

     นี่คือเพลงแรกที่ผู้เขียนได้ยินเมื่อเดินเข้าไปในห้องรับบริจาคอวัยวะ แม้บรรยากาศในห้องรับบริจาคอวัยวะจะดูเป็นทางการแบบสำนักงานก็ตาม แต่เพลงที่เปิดคลอกลับเป็นเพลงซึ้งๆ อย่างเพลง สัญญา ของ บอย โกสิยพงษ์

     ห้องรับบริจาคอวัยวะอยู่ที่ชั้น 5 มีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่องประจำอยู่ เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ท่านอัธยาศัยดีและเป็นกันเองมากๆ แบบฟอร์มที่ให้กรอกในห้องก็มีหน้าตาเหมือนที่ให้ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ทุกอย่าง ไม่ต้องใช้บัตรประชาชนหรือเอกสารอื่นเลย

 

 

“ผมนึกว่าแก่แล้วจะบริจาคไม่ได้”

     ขณะที่ผู้เขียนนั่งกรอกแบบฟอร์ม ก็มีคุณตาท่าทางใจดีเดินเข้ามาในห้องรับบริจาค และติดต่อเจ้าหน้าที่ว่าเขาเคยส่งแบบฟอร์มมาให้แล้วทางไปรษณีย์ แต่รอมา 2 เดือนยังไม่ได้บัตรประจำตัวส่งกลับมา เจ้าหน้าที่จึงขอบัตรประชาชนเพื่อไปตรวจสอบข้อมูล คุณตาพูดระหว่างรอว่า “ผมนึกว่าผมแก่แล้วเขาเลยไม่เอา เพราะบริจาคไม่ได้” แต่เจ้าหน้าที่ก็ตอบไปยิ้มไปว่า ได้ เพราะสุดท้ายทางเจ้าหน้าที่ต้องเช็กอวัยวะในร่างกายว่าสามารถใช้การได้หรือไม่ คุณตาเล่าเพิ่มว่าเขาป่วยเป็นโรคเบาหวาน ตอนนี้ก็อายุตั้ง 78 แล้ว ตั้งใจจะบริจาคอวัยวะภายในทั้งหมด แกเป็นคนเขียนแบบฟอร์ม แล้วเดินไปส่งตู้ไปรษณีย์เองด้วย

 

 

3 นาที

     หลังยื่นแบบฟอร์มให้เจ้าหน้าที่ พูดคุยกับคุณตาไม่นานก็ได้บัตรแข็งซึ่งเป็นบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาค ที่มีชื่อตัวเองพิมพ์อยู่บนบัตรอย่างสวยงาม พร้อมซองใส ถุงผ้าสีเทาสกรีนลายที่ใส่แผ่นพับข้อมูลเพิ่มเติมและหนังสือ ‘พระพุทธศาสนากับการบริจาคอวัยวะ’ แถมมาให้ด้วย หน้าที่ที่เหลือก็แค่กรอกรายละเอียดหลังบัตร เก็บบัตรให้ดี แล้วบอกครอบครัวและคนใกล้ชิดให้รู้ว่า ‘ฉันตั้งใจจะบริจาคอวัยวะนะ’

 

อยากบริจาคอวัยวะบ้างต้องทำอย่างไร?

     จะใช้วิธีไปที่ศูนย์บริจาคแบบที่เล่าด้านบนเลยก็ได้ เผื่อได้ฟังเพลงเพราะๆ ในห้องรับบริจาค หรือจะดาวน์โหลดแบบฟอร์มหน้าเดียวนี้ พิมพ์ออกมา กรอกข้อมูลให้ครบ แล้วส่งไปรษณีย์ไปตามที่อยู่: ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

     แน่นอนว่าการบริจาคอวัยวะก็จะมีข้อจำกัดอยู่ เช่น ไม่เป็นโรคเรื้อรัง อย่างเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ มะเร็ง และหลังจากโทรไปสอบถามที่ศูนย์รับบริจาคฯ​ ก็ทราบข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า ผู้บริจาคจะต้องเสียชีวิตขณะที่อายุไม่เกิน 70 ปี เพราะอวัยวะในร่างกายจะเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพในช่วงวัยดังกล่าว โดยสามารถเช็กข้อกำหนดเวอร์ชันเต็มได้ที่นี่ แต่สำหรับคนที่อยากบริจาค ‘ดวงตา’ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านการกรอกข้อมูลแสดงความจำนงออนไลน์ และรอให้บัตรมาส่งถึงหน้าบ้าน แต่ก็ต้องรอหน่อยนะ

 

แล้วถ้าสนใจจะบริจาคร่างกายล่ะ?

     ส่วนการบริจาคร่างกาย คือ การบริจาคทั้งร่างกายเพื่อใช้ในการศึกษาทางการแพทย์ โดยจะต้องมีอวัยวะครบทุกอย่างพร้อมสำหรับการเป็นอาจารย์ใหญ่ (หลังจากสอบถามเจ้าหน้าที่ เราสามารถแสดงความจำนงบริจาคได้ทั้งร่างกายและอวัยวะ พร้อมกัน เพราะเมื่อเสียชีวิตแล้ว ร่างกายของเราจะถูกนำไปตรวจสอบอีกทีว่าเหมาะสมกับการบริจาครูปแบบใดมากกว่า) และผู้บริจาคจะต้องมีน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมขณะเสียชีวิต อายุไม่เกิน 80 ปี ไม่ป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น โรคเอดส์ วัณโรค และเบาหวาน

     ส่วนวิธีการแสดงความจำนงบริจาคร่างกายก็จะยากกว่าการบริจาคอวัยวะนิดหน่อย เพราะมีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดรับบริจาคหลายที่ แต่ละที่ก็จะมีขั้นตอนคล้ายๆ กัน คือ ต้องใช้เอกสารเป็นสำเนาบัตรประชาชน รูปถ่ายขนาด 1 หรือ 2 นิ้ว แต่ก็สามารถส่งไปรษณีย์เอกสารไปได้ หรือจะเดินทางไปเองก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละหน่วยงานที่รับบริจาค และเมื่อหน่วยงานได้ใช้ร่างเพื่อการศึกษาเรียบร้อยแล้วก็จะมีการจัดพระราชทานเพลิงศพให้ด้วย อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

แปะเอาไว้ บอกญาติพี่น้องที่ลังเลกับการบริจาคอวัยวะ-ร่างกาย

  1. บริจาคอวัยวะ ชาติหน้าจะไม่ครบ 32
  • รู้หรือไม่ว่าตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก็เคยบริจาคดวงตา ซึ่งทำให้พระองค์ได้ ‘สมันตจักษุ’ หรือดวงตาที่พิเศษที่สุด เพราะการรู้การเห็นโดยรอบ ไม่ได้มาจากดวงตาอย่างเดียว แต่หมายถึงดวงตา ‘ทางปัญญา’ ด้วยนะ
  1. คนโบราณเขาห้ามบริจาคอวัยวะกัน วิญญาณจะไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด
  • ถ้าญาติพี่น้องเชื่อเรื่องข้อบังคับตามศาสนาพุทธ ก็บอกไปได้เลยว่ามีคำสอนมากมายที่ ‘สนับสนุน’ การบริจาคอวัยวะด้วยซ้ำ ทั้ง ‘ทศพิธราชธรรม’ ที่พูดถึงการให้ทาน การบริจาคอวัยวะถือเป็นทานขั้นสูงสุด หรือ ทานปรมัตถบารมี  
  1. ทำใจไม่ได้
  • ข้อนี้นั้นอธิบายได้กว้างกว่าทางศาสนาเสียอีก ถ้าพูดแบบชาวพุทธก็คงต้องบอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นร่างกายที่สิ้นลมหายใจแล้วก็ไม่สามารถไปทำอะไรกับมันได้อยู่ดี นอกจากบริจาคเพื่อให้มันเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และในข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ร่างกายของคนที่ตายไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปก็ย่อยสลายกลายเป็นซาก ไม่เกิดประโยชน์อะไร คนที่อยู่ก็ไปพูดคุย ถามไถ่อะไรกับร่างที่ตายแล้วไม่ได้ ความทรงจำทั้งหมดที่มีก่อนหน้านี้ก็สามารถเก็บไว้ในใจได้เหมือนเดิม ปล่อยวางเรื่องที่ทำให้เศร้าใจ และใช้ชีวิตต่อไปให้ได้

 

     ปัจจุบันยังมีคนจำนวนมากที่มีความเชื่อว่าการบริจาคอวัยวะจะส่งผลเสียต่อชีวิตหลังความตายในรูปแบบต่างๆ จึงส่งผลทำให้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะยังต้องการยอดผู้บริจาคเพื่อมาช่วยเหลือผู้ป่วยจำนวนมาก มีการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ-บริจาคร่างกาย ทางธรรมะ และความเชื่อต่างๆ แต่สุดท้ายผู้เขียนก็เชื่อว่าหากคนรุ่นใหม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับการบริจาคดังกล่าว และระบบในการบริจาคนั้นทำได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ก็จะมีผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่มากขึ้นเช่นเดียวกัน

FYI
  • จากรายงานข้อมูลการปลูกถ่ายอวัยวะของสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทยพบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2551-2558 มีผู้ป่วยรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจำนวน 97 ราย ในโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่ รพ. จุฬาลงกรณ์, รพ. ศิริราช, รพ. ราชวิถี, รพ. ทรวงอก และ รพ. บํารุงราษฎร์
  • และในช่วงปี พ.ศ. 2558 มีการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยถึง 601 ราย จาก 30 โรงพยาบาล
  • เมื่อศึกษากราฟยอดการปลูกถ่ายไตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 พบว่า มียอดการปลูกถ่ายไตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 จึงมี ‘โครงการเปลี่ยนไตถวายเป็นพระราชกุศล 80 และ 84 พรรษา’ และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาล 23 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลให้มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายไตมากขึ้นในเวลาต่อมา
  • แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อเทียบจำนวนผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะกับจำนวนผู้ที่รอรับการผ่าตัดก็ถือว่ายังมีผู้ป่วยที่รอความช่วยเหลืออยู่จำนวนมาก เพราะผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับบริจาคอวัยวะมีจำนวนถึง 5,018 ราย รอรับบริจาคไต 4,748 ราย (วันที่ 31 ธันวาคม 2558)

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising