×

ทรัมป์ได้รับยาอะไร ทำไมถึงมั่นใจจนพูดถึงโควิด-19 ว่า ‘อย่ากลัวมัน’

06.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เพียง 3 วันหลังเข้าโรงพยาบาล ล่าสุด 5 ตุลาคม (ตามเวลาท้องถิ่น) ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ออกจากโรงพยาบาลและกลับไปยังทำเนียบขาว พร้อมกล่าวด้วยความมั่นใจถึงโควิด-19 ว่า “จงอย่ากลัวมัน”
  • ยาตัวแรกที่ทรัมป์ได้รับตั้งแต่แพทย์ยืนยันว่าเขาติดโควิด-19 คือ REGN-COV2 ของบริษัทยา Regeneron (ตัวย่อในตลาดหุ้นคือ REGN) เป็นค็อกเทลของภูมิคุ้มกันชนิดโมโนโคลน 2 ชนิด (2 Monoclonal antibody cocktail) กล่าวคือแทนที่จะรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจัดการกับไวรัส เราก็สังเคราะห์ภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับแต่ละตำแหน่งบนผิวไวรัสขึ้นมาแทน เมื่อฉีดเข้าไปแล้วก็จะไปจับกับตัวไวรัส ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ของร่างกายได้ 
  • นพ.แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ หนึ่งในคณะทำงานด้านโควิด-19 ของทำเนียบขาว ให้ความเห็นกับสำนักข่าว CNN ว่าสาเหตุที่ทรัมป์มีอาการดีขึ้นอาจเป็นเพราะยาของบริษัท Regeneron ซึ่งขณะนี้ยังเป็นยาที่ได้รับการอนุญาตเป็นการเฉพาะ (Compassionate Use) แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถสรุปว่ายานี้สามารถใช้ได้จริงจนกว่าเราจะเห็นผลจากการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนมาก

เพียง 3 วันหลังจากเข้าโรงพยาบาล เย็นวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2563 (ตามเวลาท้องถิ่น) ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ก็กลับมายังทำเนียบขาว โดยลงจากเฮลิคอปเตอร์ เดินขึ้นบันไดไปยังระเบียงชั้น 2 แล้วยืนให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ พร้อมทั้งถอดหน้ากากผ้าสีขาวออก สังเกตว่าเขาไม่มีอาการเหนื่อยแต่อย่างใด และไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ทวีตคลิปที่มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “จงอย่ากลัวมัน เพราะเรามีอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาที่ดีที่สุด ทุกอย่างจะได้รับการพัฒนาเร็วๆ นี้” ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนทั่วโลกว่าทำไมเขาจึงมั่นใจนัก

 

ทรัมป์ได้รับยาอะไรบ้าง

ข่าวการระบาดของโควิด-19 ในทำเนียบขาวเริ่มต้นจากบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม เมื่อที่ปรึกษาประธานาธิบดี โฮป ฮิกส์ ตรวจพบว่าติดโควิด-19 

 

คืนวันนั้นเวลาประมาณตี 1 ของวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 ทรัมป์ก็ทวีตแจ้งผลการตรวจของตนเองและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งให้ผลเป็นบวก โดยคนใกล้ชิดระบุว่าเขามีอาการไอเล็กน้อยและคัดจมูก แพทย์ประจำตัวได้จ่ายยาตัวแรก ‘REGN-COV2’ ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในระหว่างการทดลองอยู่ 

 

ทว่าช่วงเย็นของวันศุกร์แพทย์ก็แนะนำให้เขาย้ายมาที่ Walter Reed National Military Medical Center แหล่งข่าวระบุว่าระดับออกซิเจนในเลือดของทรัมป์ลดลง ถึงแม้เมื่อได้รับออกซิเจนชดเชยแล้วระดับออกซิเจนจะกลับมาปกติก็ตาม แต่ยังต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ ทั้งนี้เขามีความเสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรงอยู่แล้ว เพราะจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ ซึ่งต้องรับประทานยาแอสไพรินและยาลดระดับไขมันในเลือดเป็นประจำ

 

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม 2563 ท่ามกลางกระแสข่าวว่าทรัมป์อาการน่าเป็นห่วง แพทย์ประจำตัวกลับแถลงว่าทรัมป์ไม่จำเป็นต้องได้รับออกซิเจนชดเชยแต่อย่างใด แต่เมื่อปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางแล้วเห็นควรให้ยาต้านไวรัส ‘เรมเดซิเวียร์’ และในวันเดียวกัน แหล่งข่าวระบุว่าระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเป็นครั้งที่ 2 ทรัมป์จึงได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ‘เดกซาเมทาโซน’ เพิ่มอีก 1 ตัว ต่อมาอาการของเขาก็ดีขึ้นตามลำดับ 

 

จนกระทั่งเช้าวันอาทิตย์ เราจึงได้เห็นประธานาธิบดีนั่งอยู่ในรถเชฟโรเลตกันกระสุนออกมาโบกมือทักทายผู้สนับสนุนที่ชุมนุมกันอยู่หน้าโรงพยาบาลที่เขารักษาอยู่ ก่อนจะวนกลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง การปรากฏตัวครั้งนี้สามารถหยุดความสงสัยต่ออาการของเขาได้เป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาการของเขาน่าจะหนักกว่าที่แถลงข่าว เนื่องจากแพทย์จะจ่ายยา 2 ตัวหลังให้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเท่านั้น

 

ในที่สุดวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2563 แพทย์ประจำตัวก็ออกมาแถลงความคืบหน้าอาการว่าทรัมป์ไม่มีไข้เป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมงแล้ว การหายใจและระดับออกซิเจนในเลือดปกติ จึงอนุญาตให้กลับทำเนียบขาวได้ แต่เขายังไม่พ้นขีดอันตราย จึงยังมีทีมแพทย์ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และได้รับยาต้านไวรัสต่อที่ทำเนียบขาว อย่างไรก็ตาม แพทย์ประจำตัวปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลสแกนคอมพิวเตอร์ปอดว่ามีอาการปอดอักเสบหรือไม่

 

1. ยา REGN-COV2

ยาตัวแรกที่ทรัมป์ได้รับตั้งแต่แพทย์ยืนยันว่าเขาติดโควิด-19 คือ REGN-COV2 ของบริษัทยา Regeneron (ตัวย่อในตลาดหุ้นคือ REGN) เป็นค็อกเทลของภูมิคุ้มกันชนิดโมโนโคลน 2 ชนิด (2 Monoclonal antibody cocktail) กล่าวคือแทนที่จะรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจัดการกับไวรัส เราก็สังเคราะห์ภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับแต่ละตำแหน่งบนผิวไวรัสขึ้นมาแทน เมื่อฉีดเข้าไปแล้วก็จะไปจับกับตัวไวรัส ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ของร่างกายได้ 

 

เดิมยาประเภทนี้ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งและโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ในขณะนี้ยาตัวนี้อยู่ในระหว่างการทดลองระยะที่ 3 (เกณฑ์เดียวกับวัคซีน) กับผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนการทดลองก่อนหน้านี้ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการนอนโรงพยาบาล ทางบริษัทได้เผยแพร่การวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่ายาสามารถลดปริมาณไวรัสลงได้และทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเร็วขึ้นได้ แต่ยังต้องรอผลที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอีกครั้ง

 

ภาพเปรียบเทียบค็อกเทลของภูมิคุ้มกันชนิดโมโนโคลน (ขวาสุด)
ภาพ: @VirusesImmunity / Twitter

 

2. ยาเรมเดซิเวียร์

ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ของบริษัท Gilead Sciences เป็นยาตัวต่อมาที่ปรากฏในแถลงการณ์ของแพทย์ประจำตัวประธานาธิบดี จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านไวรัสชนิดฉีด โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัส ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนตัวเองได้ ยานี้ผ่านการทดลองในระยะที่ 3 แล้ว สมาคมโรคติดเชื้อสหรัฐฯ จึงแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ) เป็นระยะเวลา 5-10 วัน 

 

พูดถึงยาตัวนี้แล้ว หลายคนน่าจะคุ้นกับยาอีกตัวที่ลงท้ายคล้ายกันคือ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกันที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย แต่เป็นชนิดเม็ด และในระยะหลังไม่มีงานวิจัยกล่าวถึงมากนัก

 

3. ยาเดกซาเมทาโซน

ยาตัวสุดท้ายที่สื่อสหรัฐฯ กล่าวถึงคือเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เป็นยากดภูมิคุ้มกันพื้นฐานชนิดฉีดที่ทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยมี โดยเฉพาะที่ห้องฉุกเฉิน ใช้รักษาภาวะแพ้รุนแรง หรือโรคหอบ/ถุงลมโป่งพองกำเริบ ถึงแม้จะไม่ใช่ยาใหม่ แต่ก็ต้องมีการศึกษากับผู้ป่วยโควิด-19 ก่อน ซึ่งพบว่ายานี้สามารถลดโอกาสเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น ไม่ได้รับการรักษาด้วยออกซิเจนจะไม่เห็นผลของยานี้

 

นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบอีกว่ายานี้จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิต เมื่อให้ยาหลังจากเริ่มป่วยไปแล้ว 7 วันขึ้นไป เพราะตามทฤษฎีอาการป่วยในช่วงแรกจะเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อการเพิ่มจำนวนของไวรัส แต่ในช่วงหลังผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะเป็นผลมาจากการที่ภูมิคุ้มกันสร้างสารขึ้นมากำจัดไวรัสมากจนทำร้ายร่างกายตัวเอง ทั้งนี้สมาคมโรคติดเชื้อสหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดวันว่าจะเริ่มให้เมื่อใด แต่ต้องให้เป็นระยะเวลา 10 วัน

 

ยาตัวไหนที่ทำให้ทรัมป์หายป่วย

“เขายังไม่พ้นขีดอันตราย” อย่างที่แพทย์ประจำตัวประธานาธิบดีกล่าว เพราะโดยธรรมชาติของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงจะเริ่มมีอาการแย่ลงหรือหอบเหนื่อยมากขึ้นประมาณวันที่ 7-10 นับจากวันเริ่มป่วย ยกตัวอย่างอาการป่วยของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ตรวจพบเชื้อในวันที่ 27 มีนาคม 2563 แต่นอนโรงพยาบาลในวันที่ 5 เมษายน 2563 และเข้าห้องไอซียูในวันถัดมา นับเป็นวันที่ 9 ของอาการป่วย

 

ส่วน นพ.แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ หนึ่งในคณะทำงานด้านโควิด-19 ของทำเนียบขาว ให้ความเห็นกับสำนักข่าว CNN ว่าสาเหตุที่ทรัมป์มีอาการดีขึ้นอาจเป็นเพราะยาของบริษัท Regeneron ซึ่งขณะนี้ยังเป็นยาที่ได้รับการอนุญาตเป็นการเฉพาะ (Compassionate Use) แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถสรุปว่ายานี้สามารถใช้ได้จริงจนกว่าเราจะเห็นผลจากการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้กล่าวคำว่า “จงอย่ากลัวมัน” ท่ามกลางตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่มากกว่า 2 แสนราย จากจำนวนผู้ป่วยเกือบ 8 ล้านราย และนับตั้งแต่เริ่มมีอาการป่วยมา เขายังไม่เคยพูดถึงการสวมหน้ากากในที่สาธารณะเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเหมือนที่เกิดขึ้นในทำเนียบขาวเลย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X