เป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาในโลกโซเชียลอีกครั้ง เมื่อศาลนิวยอร์กมีคำตัดสินว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถบล็อกบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ (First Amendment) ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมือง
ผู้พิพากษา นาโอมิ เรซ บุชวอลด์ อ่านคำวินิจฉัยว่า ทรัมป์ได้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญโดยการปิดกั้นชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งไม่ให้เห็นข้อความของเขาในทวิตเตอร์
บุชวอลด์ระบุว่า ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นฟอรัมสาธารณะ ดังนั้นทรัมป์จึงไม่สามารถกีดกันฝ่ายโจทก์ให้แสดงความคิดเห็นได้
นอกจากนี้ศาลยังปฏิเสธคำโต้แย้งของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ประธานาธิบดีมีสิทธิ์ในการเลือกบล็อกผู้ติดตาม (Followers) ในทวิตเตอร์ เพราะเป็นเสรีภาพด้านการมีปฏิสัมพันธ์ของเขา รวมทั้งปฏิเสธข้อโต้แย้งที่ว่า คดีนี้ไม่เข้าข่ายการฝ่าฝืนบทบัญญัติ First Amendment ของสหรัฐฯ
คดีความนี้ยื่นฟ้องโดยสถาบัน Knight First Amendment Institute แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 ในนามของกลุ่มคน 7 คนที่ถูกบล็อกโดยแอ็กเคานต์ @realDonaldTrump ของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่ 7 คนนี้ได้โพสต์ข้อความวิจารณ์ทรัมป์หรือแสดงความเห็นคัดค้านนโยบายของเขาผ่านทางทวิตเตอร์
นอกจากทรัมป์แล้ว ฝ่ายโจทก์ยังฟ้องร้องแดเนียล สกาวิโน ผู้อำนวยการฝ่ายโซเชียลมีเดียประจำทำเนียบขาว, ซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาว และ โฮป ฮิกส์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของทำเนียบขาวด้วย
คำฟ้องระบุว่า “โจทก์แต่ละคนถูกขัดขวางไม่ให้สื่อสารกับทรัมป์โดยใช้ทวิตเตอร์” เพราะนับตั้งแต่ถูกบล็อก พวกเขาก็ไม่สามารถเห็นสิ่งที่ทรัมป์ทวีตอีกเลย ซึ่งรวมถึงนโยบายและข่าวสารเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ส่งผลให้ผู้ถูกบล็อกต้องหันไปใช้วิธีอื่นหรือติดตามผ่านบัญชีบุคคลที่ 3 เพื่ออ่านข้อความที่ทรัมป์ทวีต
บุชวอลด์ระบุว่า “ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนไหน รวมถึงประธานาธิบดีที่อยู่เหนือกฎหมาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีการประกาศบังคับใช้”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลครั้งนี้ โดย เคอร์รี คูเพก โฆษกหญิงของกระทรวงระบุว่า “เรากำลังพิจารณายื่นอุทธรณ์ต่อไป”
อ้างอิง: