การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า ในที่สุดผลกระทบจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินในวงกว้าง
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังแกว่งตัวอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่าหนึ่งปี หลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง และทำให้ตลาดเดิมพันว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ นักลงทุนที่มีมุมมองเชิงลบต่อเงินดอลลาร์เชื่อว่า ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในตลาดส่วนมากเห็นตรงกันว่าจะเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี 2024
สตีเวน บาร์โรว์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ G-10 ของ Standard Bank กล่าวว่า “การคาดการณ์ของเราที่มองว่า เงินดอลลาร์จะเข้าสู่แนวโน้มขาลงเป็นเวลาหลายปีส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า วงจรการคุมเข้มทางการเงินของ Fed จะเปลี่ยนเป็นการผ่อนคลายในไม่ช้า และจะกลายเป็นสิ่งที่ดึงเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลง แม้ว่าธนาคารกลางอื่นๆ จะปรับลดเช่นกัน”
ดัชนีเงินดอลลาร์ (Dollar Index) เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในการซื้อ-ขายช่วงเช้าของเอเชียในวันจันทร์ หลังจากที่ปรับลง 2% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงรายสัปดาห์ที่มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายนปีที่แล้ว
เป็นการยากที่จะระบุว่า ผลกระทบระลอกใหม่ที่เกิดจากการอ่อนตัวของดอลลาร์ในระยะยาวจะเป็นไปในด้านใด แต่สถานการณ์ใหม่ๆ กำลังจะเกิดขึ้น เช่น การทำให้ราคาของสินค้าที่ต้องนำเข้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนาลดลง ซึ่งช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ยังช่วยหนุนสกุลเงินต่างๆ เช่น เงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนค่าต่อเนื่องนานหลายเดือน นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นการส่งออกของบริษัทอเมริกันไปยังคู่ค้าในยุโรป เอเชีย และที่อื่นๆ
นักลงทุนจำนวนมากเฝ้ารอแนวโน้มขาลงของเงินดอลลาร์มาหลายเดือน และกระแสการเทขายทำให้ผู้จัดการกองทุน เช่น M&G Investments และ UBS Asset Management เตรียมพร้อมเข้าลงทุนในสกุลเงินที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น อย่างเช่น เงินเยน และสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่
ปีเตอร์ วาสซัลโล ผู้จัดการกองทุนของ BNP Paribas Asset Management กล่าวว่า สถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ เงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าต่อไปในหลายเดือนข้างหน้า และเบนเข็มการเดิมพันไปยังสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และโครนนอร์เวย์
ในขณะเดียวกัน จอร์จินา เทย์เลอร์ หัวหน้าฝ่าย Multi-Assets และผู้จัดการกองทุนของ Invesco Asset Management ระบุว่า บริษัทยังไม่พร้อมที่จะลดความเสี่ยงจากเงินดอลลาร์ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของเงินดอลลาร์ยังคงสูงอยู่
ไมเคิล คาฮิล นักยุทธศาสตร์จาก Goldman Sachs Group คาดว่า ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คือเหตุผลที่การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะน้อยกว่าในรอบที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนเงินดอลลาร์อาจพังทลายลง หาก Fed ยุติการต่อสู้กับเงินเฟ้อ แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะถูกบังคับให้คงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นต่อไปอีกนานก็ตาม
อ้างอิง: