×

จับตา! ดอลลาร์แข็งค่า กดดันเงินทุนไหลออก ต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง

04.02.2021
  • LOADING...
จับตา! ดอลลาร์แข็งค่า กดดันเงินทุนไหลออก ต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง

ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา กระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ในตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นภาพของการขายสุทธิต่อเนื่องจากปีก่อนทั้งปีที่ขายไป 2.64 แสนล้านบาท ส่วนปีนี้จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ต่างชาติขายสุทธิ 1.81 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่ขายออกมา 1.36 หมื่นล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อสุทธิถึง 3.14 หมื่นล้านบาท 

 

จากการตรวจสอบข้อมูลผ่าน SETSMART พบว่า แรงขายที่ออกมาผ่านบริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติ คือ บล.แมคควอรี ขายสุทธิมากสุดราว 1.03 หมื่นล้านบาท และ บล.เจพีมอร์แกน ขายสุทธิ 5.61 พันล้านบาท ส่วน บล.เกียรตินาคินภัทร มีแรงซื้อสุทธิมากที่สุด 9.16 พันล้านบาท 

 

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า แรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลเรื่องค่าเงินดอลลาร์ที่อาจจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ สรพลมองว่า แนวโน้มของ Dollar Index ในระยะนี้ น่าจะเป็นภาพของการรีบาวด์ขึ้นในช่วงสั้น หรือ Bear Market Rally แต่ในระยะยาวยังมองว่า มีโอกาสจะอ่อนค่ากลับมาบริเวณ 88-89 ดอลลาร์ จากปัจจุบันที่แข็งค่าขึ้นมาทดสอบระดับ 91.2 ดอลลาร์ 

 

“หาก Dollar Index ทะลุระดับ 91.2 ดอลลาร์ อาจจะเห็นการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในระยะสั้น ซึ่งจะกดดันต่อ Fund Flow ต่างชาติที่อาจชะลอการเข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นเกิดใหม่ ต้องยอมรับว่าสัดส่วนการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย 40% คือต่างชาติ เมื่อมีการปรับมุมมองของต่างชาติ ก็มักจะส่งผลต่อตลาดหุ้นและทิศทางค่อนข้างมาก”

 

การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงสั้นเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

 

  1.  ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีสถานะขายสุทธิ (Net Short) ใน Dollar Index พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี 

 

  1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะเร็วกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อ ซึ่งล่าสุดลดลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 14 วัน ขณะเดียวกันการกระจายวัคซีนก็ค่อนข้างทำได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ โดยปัจจุบันฉีดไปแล้ว 26 ล้านโดส จากแผนคือ 100 ล้านโดส ภายใน 100 วัน นอกจากนี้ วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่น่าจะออกมาได้ ทำให้มีการประเมินกันว่า GDP สหรัฐฯ ในปีนี้ อาจจะเติบโตได้ถึง 6% จากเดิมที่คาดไว้ 4%

 

  1. ความคาดหวังต่อเงินเฟ้อขึ้นไปถึงระดับ 2.1% และบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นเป็น 1.15% ซึ่งตามมาด้วยความกังวลว่า อาจเห็นการลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยประธานเฟดในบางสาขาเริ่มเห็นด้วยกับการลดวงเงินอัดฉีดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ สอดคล้องกับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกราว 25% 

 

หากอิงจากปี 2558 การส่งสัญญาณลดวงเงินอัดฉีดของเฟด กระทบต่อการลงทุนใน Emerging Market มากสุด โดยตลาดหุ้นลดลงไปแรงสุด 10% ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าไปราว 13% แต่ในครั้งนี้อาจจะไม่รุนแรงแบบครั้งนั้น เพราะอาจจะเห็นการส่งสัญญาณล่วงหน้ามากกว่าที่จะเป็นการเซอร์ไพรส์ตลาดแบบในอดีต

 

“ทิศทาง Fund Flow ในช่วงต่อจากนี้คงต้องดูว่า Dollar Index จะพุ่งขึ้นทะลุ 91.2 ดอลลาร์หรือไม่ หากทะลุเชื่อว่าต่างชาติจะชะลอการเข้าซื้อหุ้นไทย แต่มองว่าดัชนี SET อาจไม่ได้ลงแรงมากนัก โดยมองแนวรับ 1,444 จุด ซึ่งจะเป็นบวกต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า เชื่อว่าดัชนีจะยังเป็นขาขึ้น มองเป้าหมายที่ 1,610 จุด” 

 

นอกจากแรงขายในตลาดหุ้นแล้ว จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังเปิดสถานะชอร์ตใน SET50 Futures อีก 13,392 สัญญา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดต่อวันของปีนี้ โดยปัจจุบันต่างชาติมีสถานะชอร์ตสุทธิจำนวน 44,047 สัญญา ขณะที่แรงซื้อผ่าน NVDR ก็หดตัวลงไปค่อนข้างชัดเจนสำหรับวันทำการก่อนหน้าเหลือระดับ 100 ล้านบาท |

เอกภาวิน สุนทราภิชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Fund Flow ไหลกลับ หลังจากที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความเห็นว่า จะไม่เน้นนโยบายให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า

อย่างไรก็ดี เรามองว่าแรงขายของต่างชาติจะไม่รุนแรงนัก เพราะก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างชาติไม่ได้เข้าซื้อในตลาดหุ้นไทยมากนัก โดยเป็นลักษณะของการเข้าซื้อเป็นรอบ แตกต่างจากในอดีตที่เราอาจจะเห็นการเข้าซื้อระดับ 1-2 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันเป็นการเข้าซื้อเพียง 3-5 หมื่นล้านบาทในแต่ละรอบ

“ส่วนตัวเชื่อว่าแรงขายต่างชาติจะไม่ได้มีต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่วนกรณีที่ต่างชาติจะพลิกกลับมาซื้อสุทธิแบบต่อเนื่องอีกครั้ง อาจจะเป็นช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมีปัจจัยบวกที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ และแนวโน้มของการเปิดประเทศ รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว หนุนให้กำไรบริษัทจดทะเบียนกลับมาเติบโตได้ และตัวเลข GDP ที่ฟื้นตัวดีขึ้น”

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้เน้นเลือกหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว ซึ่งมีแนวโน้มผลการดำเนินงานดี ในขณะที่ตลาดโดยภาพรวมอาจจะแกว่งตัวในกรอบ ทั้งนี้มองว่าหุ้นอย่าง SCGP และ SPALI น่าจะโดดเด่นกว่าตลาดได้ ส่วนความเสี่ยงขาลงของดัชนี SET ประเมินไว้ที่ 1,400-1,450 จุด แต่หากต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อ มองว่าดัชนีมีโอกาสฟื้นตัวกลับไปหาเป้าหมายที่ 1,600 จุด 

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising