×

ปมบ้านพักตุลาการ มติสองฝ่ายยื่นขอดูพื้นที่ก่อสร้าง 20 เม.ย. ภาคประชาชนเผย ถ้าไม่ให้เข้าพื้นที่ เตรียมปักหลักนอนหน้าศาล

18.04.2018
  • LOADING...

ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการที่มีการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ในตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ และใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

 

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้มอบแนวทางให้ดัดแปลงส่วนบ้านพักตุลาการที่มีปัญหาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น แต่จะไม่ทุบทิ้งตามข้อเรียกร้องของประชาชนบางกลุ่ม เนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณภาครัฐดำเนินการไปแล้ว และมีสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชน

 

ล่าสุดวันนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการสองฝ่ายเพื่อกำหนดเขตรื้อถอนอาคารและบ้านพักศาลตามข้อเสนอของภาคประชาชนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โดยมีฝ่ายรัฐที่นำโดย นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพร่วมเจรจา โดยมีตัวแทนของรัฐและภาคประชาชนฝ่ายละ 6 คน ที่อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง

 

ภายหลังการหารือ นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่าภาคประชาชนยังยืนยันที่จะให้มีการทุบและรื้อถอนทิ้ง แม้ว่านายกฯ จะออกมาเปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาก็ตาม แต่ชาวเชียงใหม่ยังคงต้องการให้ป่ากลับมาอยู่ในสภาพเดิม

 

 

นายธีระศักดิ์เปิดเผยอีกว่า วันนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเสียที่มาจากโครงการก่อสร้างว่าจะทำอย่างไร เนื่องจากมีบางส่วนไหลลงไปในอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง

 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมหาทางออกร่วมกันครั้งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปในพื้นที่การก่อสร้างเพื่อดูแนวเขตป่า ดูเส้นทางน้ำ ดูผลกระทบจากระบบนิเวศ คณะกรรมการทั้งสองฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่าจะทำหนังสือขออนุญาตไปยังศาลยุติธรรม คือศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อเข้าไปในพื้นที่ในวันที่ 20 เมษายนนี้ และจนกว่าจะได้เข้าไปในพื้นที่ตามที่ขออนุญาตจึงจะสามารถสรุปแนวทางได้อีกที เพื่อส่งต่อไปยังจังหวัด ผ่านไปที่มณฑลทหารบกที่ 33 และส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี โดยในช่วงบ่ายวันนี้ กรมธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือขออนุญาตไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้ว

 

 

ผู้ประสานงานเปิดเผยอีกว่า วันนี้ได้มีแนวทางว่าไม่ว่าจะมีการรื้อหรือไม่รื้อถอนก็จะต้องมีการทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลับมาเป็นพื้นที่ป่าให้มากที่สุด และในระหว่างนี้ภาคประชาชนได้เสนอให้พื้นที่การก่อสร้างเป็นเสมือน ‘No man’s land’ คือไม่มีเจ้าของและไม่ให้ใครเข้าไปทำประโยชน์ในช่วงนี้ รวมทั้งจะต้องมีการทำสัญญาประชาคมกับประชาชนเพื่อหาทางออกร่วมกันในเรื่องข้อกฎหมาย ขณะเดียวกัน มีการเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่ากันชน โดยให้ผนวกรวมพื้นที่ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

 

“เครือข่ายจะรอฟังว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่เพื่อตรวจสอบความจริงในวันที่ 20 เมษายนนี้หรือไม่ และหากไม่อนุญาต ต่อจากนี้ภาคประชาชนจะไม่ขอพูดคุยอีก และจะเตรียมเต็นท์ เตรียมที่นอนมานอนที่หน้าศาล ซึ่งเรายืนยันว่าจะต้องมีการรื้อถอนกลับมาให้อยู่สภาพเดิม” นายธีระศักดิ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising