×

ความน่าเป็นห่วงต่อโบราณสถานบนพื้นที่ดอยสุเทพ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเชียงใหม่

31.03.2020
  • LOADING...
โบราณสถาน ดอยสุเทพ

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เหตุไฟไหม้ดอยสุเทพ-ปุย ครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้เฉพาะต้นไม้และสัตว์ป่าเท่านั้น หากแต่ยังกระทบต่อแหล่งโบราณคดีบนดอยสุเทพ ซึ่งมีเส้นทางวัฒนธรรมหลายเส้นที่มุ่งไปสู่พระธาตุดอยสุเทพ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา 
  • ในอนาคตหากเส้นทางโบราณที่ใช้ขึ้นดอยสุเทพนี้ได้รับการรื้อฟื้นเพื่อจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวทางเลือกคงเป็นเรื่องดีไม่น้อย เสียดายที่ไฟป่าครั้งนี้คงสร้างความเสียหายให้กับต้นไม้ที่เคยร่มรื่นบนดอยสุเทพไปมากพอสมควร
  • ดังนั้น การป้องกันไฟป่าจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่ได้แค่เพียงคืนปอด และอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนเชียงใหม่-ลำพูนเท่านั้น แต่ยังช่วยอนุรักษ์เส้นทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอีกด้วย การป้องกันไฟป่าในอนาคตจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก

เหตุไฟไหม้ดอยสุเทพ-ปุย ครั้งนี้นับว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะก่อให้เกิดฝุ่นควันพิษปกคลุมไปทั่วแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ค่ามลพิษสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซ้ำเติมจากควันที่มีอยู่แล้วจากการเผาไร่เพื่อทำการเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง 

 

แม้หมู่บ้านป่าแหว่งที่เป็นประเด็นเมื่อปีก่อน ก็ได้ข่าวว่าไฟเกือบลามเข้าไปในหมู่บ้าน จนกลายเป็นภาระให้กับหน่วยงานต่างๆ ต้องช่วยป้องกันไม่ให้ไฟลามเข้าไป ซึ่งหลายคนเคยเตือนมาแล้วว่า ถ้าเกิดไฟป่าขึ้นหมู่บ้านนี้จะถูกไฟไหม้ไปด้วย และไม่สามารถพักอาศัยได้ เพราะเต็มไปด้วยควันพิษ 

 

แต่ที่น่าเห็นใจที่สุดตอนนี้ คือเจ้าหน้าที่ของสถานีควบคุมไฟป่าบนดอยสุเทพที่มีอยู่เพียงหน่วยเดียว และนักผจญเพลิงอาสาสมัคร ซึ่งมีทั้งกำลังคนและเครื่องมือจำกัด ซึ่งต้องขอเป็นกำลังใจให้ครับ 

 

ความจริงเรื่องปัญหาฝุ่นควันพิษในภาคเหนือนี้จะว่าไปก็เกิดขึ้นซ้ำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ที่หนักมากขึ้น แต่ดูรัฐบาลก็ยังไม่ได้จัดการอะไรจริงจัง มีเพียงกรมอุทยานฯ ที่ต้องมารับผิดชอบ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะส่งผลกระทบกับคนเป็นวงกว้าง มันจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นจะจัดการได้เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นปัญหาระดับชาติ และจำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เครื่องบินสำหรับดับไฟป่า ซึ่งสามารถโปรยน้ำได้อย่างมหาศาล การจัดซื้อเครื่องไม้เครื่องมือแบบนี้ดูจะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเสียยิ่งกว่าการจัดสรรงบประมาณไปซื้ออาวุธของกองทัพ และค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอื่นๆ เสียอีก 

 

ไฟไหม้ครั้งนี้คงไม่ได้สร้างความเสียหายให้เฉพาะต้นไม้และสัตว์ป่าเท่านั้น หากแต่น่าจะกระทบต่อแหล่งโบราณคดีบนดอยสุเทพด้วย เพราะมีเส้นทางวัฒนธรรมหลายเส้นที่มุ่งไปสู่พระธาตุดอยสุเทพ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา เมื่อหลายปีก่อนผมเคยสำรวจดอยสุเทพ ร่วมกับ อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล ภายใต้การกำกับของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และ หจก.โบราณนุรักษ์ ได้เคยไปสำรวจแหล่งโบราณคดีตามเส้นทางที่ขึ้นไปสู่พระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งพบหลายสิบแห่ง ในบทความนี้จึงจะชวนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของดอยสุเทพ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าอยากให้เมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก การอนุรักษ์ดอยสุเทพนั้นคือเรื่องสำคัญ 

 

ดอยสุเทพ ถิ่นฐานเดิมของชาวลัวะ

ก่อนคนไทเคลื่อนย้ายอพยพมา รอบดอยสุเทพเป็นถิ่นฐานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวลัวะ ลัวะเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ในสาขาปะหล่อง ปัจจุบันยังอยู่อาศัยมากตามเขตภูเขาแถบเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน 

 

ในตำนานพระธาตุดอยสุเทพระบุว่า ครั้งหนึ่ง ปู่แสะย่าแสะได้อาศัยอยู่ที่ดอยคำ ชอบจับมนุษย์กินเป็นอาหาร วันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้มาธุดงค์ และปราบปู่แสะย่าแสะได้ อนุญาตให้กินได้แค่เนื้อควายปีละครั้งเท่านั้น ส่วนลูกชายได้ขอบวชเป็นพระ แต่ทนกับการถือศีลไม่ไหว จึงสึกแล้วบวชเป็นฤษีมีชื่อว่า ‘วสุเทวะ’ หรือ ‘วาสุเทพ’ ไปอาศัยอยู่ที่ดอยอ้อยช้าง ทำให้ดอยแห่งนี้มีชื่อใหม่ว่า ดอยสุเทพ 

 

ทุกวันนี้จึงยังมีพิธีเลี้ยงดง หรือ เลี้ยงผี ที่เชิงดอยคำ เพื่อเป็นการบูชาปู่แสะย่าแสะ ฤษีวาสุเทพ และขุนหลวงวิลังคะ รวมถึงกลุ่มผีบรรพบุรุษระดับผู้นำของชาวลัวะตนอื่นๆ อีก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวแทนของพลังแห่งภูเขาและป่า ไม่ต่างจากเมืองสุโขทัยที่มีพระขพุงผีที่เป็นผีใหญ่แห่งภูเขา พิธีนี้จะจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี เดิมเป็นพิธีปิด แต่ทุกวันนี้มีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาเสริม

 

ดอยสุเทพ

ถ้ำฤษีบนดอยสุเทพ ภาพซ้ายเป็นภาพของเทวรูปฤษีวาสุเทพ (ทำใหม่) ภาพขวาเป็นพระธุดงค์ที่มาอาศัยถ้ำฤษีนั่งกรรมฐาน

 

ใกล้กับพระธาตุดอยสุเทพ มีเพิงผาอยู่แห่งหนึ่งชื่อว่า ‘ถ้ำฤษี’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวร่วมร้อยปี ที่นี่เคยเจอพระรอดลำพูน ปัจจุบันยังคงเหลือเศษอิฐที่บ่งบอกว่าคงเคยมีเจดีย์ขนาดเล็กแต่ถูกทำลายไปแล้ว ที่เพิงผาแห่งนี้ผม และอุดมลักษณ์ ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีได้พบว่า อาจมีการเข้ามาใช้พื้นที่ตั้งแต่ยุคหินใหม่เมื่อสัก 3,000-4,000 ปีมาแล้ว เห็นได้จากการพบกำไลหินขัด และเศษภาชนะดินเผาแบบเก่า แต่ไม่พบหลักฐานจากการขุดค้นที่เชื่อมโยงโดยตรงกับฤษีวาสุเทพ 

 

เรื่องของฤษีวาสุเทพนี้เกิดขึ้นเมื่อไรนั้น สันนิษฐานว่าคงเมื่อสักราวพุทธศตวรรษที่ 13 เพราะฤษีวาสุเทพนี้เองที่สร้างเมืองหริภุญไชย และได้เชื้อเชิญให้พระนางจามเทวีขึ้นมาเป็นกษัตรีย์ (บางตำราว่าครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1205) การเชิญพระนางจามเทวีมาปกครองนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับขุนหลวงวิลังคะ ซึ่งเป็นผู้นำชาวลัวะเช่นกันแต่นับถือผี ในขณะที่ฤษีวาสุเทพนับถือพุทธ-พราหมณ์-ผี ผลก็คือเกิดการรบพุ่งกัน ขุนหลวงวิลังคะพ่ายแพ้จนต้องหนีขึ้นไปทางเหนือเข้าไปในป่าเขารกชัฏ 

 

โบราณสถาน ดอยสุเทพ

โบราณสถานกู่ดินขาว อาจสร้างในสมัยหริภุญไชย (พุทธศตวรรษที่ 13-17) ตั้งอยู่ในเขตสวนสัตว์เชียงใหม่

 

มีโบราณสถานอยู่ 2 แห่งที่อาจจะสร้างในสมัยหริภุญไชย คือ โบราณสถานกู่ดินขาว ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ ลักษณะของโบราณสถานนี้เป็นอิฐก้อนใหญ่เผาอย่างดี ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของอิฐล้านนา อีกทั้งจากการขุดค้นขุดแต่งยังพบพระพิมพ์แบบพระแปดแบบหริภุญไชยอีกด้วย อีกแห่งหนึ่งคือ โบราณสถานสันกู่ ซึ่งมีการขุดค้นพบพระพุทธรูปศิลปะหริภุญไชย แม้ว่าจะเป็นเจดีย์สมัยล้านนาก็ตาม (ข้อมูลการขุดค้นขุดแต่งทั้งสองแห่งนี้สามารถอ่านได้จาก พาสุข ดิษยเดช, สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และประทีป เพ็งตะโก 2527; ไกรสิน อุ่นใจจินต์ 2544) นอกจากนี้ ถ้าหากเดินทางขึ้นดอยสุเทพจะพบ ‘กู่’ หรือเจดีย์หลายแห่งที่มีชื่อว่า ‘กู่ลัวะ’ อีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่าพื้นที่นี้เคยเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวลัวะมาก่อน

 

สถาปนาพระธาตุดอยสุเทพเป็นศูนย์กลางจักรวาล

พระธาตุดอยสุเทพได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชสมัยพญากือนา เมื่อพระสุมนเถระอัญเชิญพระธาตุมาจากเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1913 ในตำนานพระธาตุดอยสุเทพได้กล่าวว่า ในคืนหนึ่งพระสุมนเถระฝันว่า เทวดาได้มาบอกให้ไปนำเอาพระธาตุจากเจดีย์องค์หนึ่งในเมืองปางจา ซึ่งเจดีย์องค์นั้นได้พังลง เพื่อเอาพระธาตุไปประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ ครั้นรุ่งขึ้นพระสุมนเถระจึงได้เดินไปเมืองศรีสัชนาลัย เพื่อเข้าพบพญาลือไทย เมื่อพญาลือไทยทราบความตามที่พระสุมนเถระได้เล่าให้ฟัง จึงได้สั่งให้คนไปช่วยพระสุมนเถระขุดบูชาพระธาตุที่เมืองปางจา พระสุมนเถระจึงได้พระธาตุจากเจดีย์องค์หนึ่ง 

 

กษัตริย์เมืองสุโขทัยจึงให้พระสุมนเถระเก็บพระธาตุไว้กับตัวเอง จนกระทั่ง พ.ศ. 1913 พญากือนาได้ไปอาราธนาพระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัยมายังเมืองเชียงใหม่ เพื่อเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ พระสุมนเถระจึงได้นำพระธาตุติดตัวมาด้วย โดยมาพำนักที่วัดพระยืนเมืองลำพูนก่อน จากนั้นจึงมาประทับยังเวียงสวนดอกที่พญากือนาทรงสั่งให้สร้าง เพื่อเป็นที่พำนักของพระสุมนเถระ เมื่อ พ.ศ. 1915 พญากือนาพร้อมด้วยพระสุมนเถระได้ก่อเจดีย์ในวัดสวนดอกไม้หลวงเพื่อประดิษฐานพระธาตุ  

 

เหตุการณ์ตอนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับดอยสุเทพคือ เมื่อ ‘ปีล่วงไก๊ศกได้ 733 ตัว’ พญากือนาและพระสุมนเถระต้องการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานยังสถานที่แห่งใหม่เพื่อเป็นการสืบศาสนา ‘จิรกาลนานตราบ 5,000 พระวัสสา’ เพราะเชื่อกันว่าเมื่อถึง พ.ศ. 5000 ศาสนาพุทธจะเสื่อมลงจนไม่เป็นที่รู้จัก และจะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่เกิดขึ้นมา ซึ่งเป็นความคิดที่ผลักดันให้ชาวพุทธเร่งทำบุญด้วยการสร้างพระพุทธรูป พระพิมพ์ และเจดีย์จำนวนมากมาย ด้วยเหตุนี้ พญากือนาและพระสุมนเถระจึงดำริหาสถานที่ที่สามารถประดิษฐานพระธาตุได้อย่างมั่นคงถาวรเพื่อสืบศาสนา ทั้งสองจึงได้นำพระธาตุขึ้นช้างมงคลนามว่า ‘พวงคำ’ เสี่ยงทายหาสถานที่ที่เหมาะกับการประดิษฐานพระธาตุโดยให้เทวดานำทาง 

 

พระธาตุได้บรรจุในโกศแก้วขึ้นทรงบนช้างพวงคำ มีเศวตฉัตร พัด และจามร ซึ่งเป็นเครื่องสูงของกษัตริย์กางกั้นไปด้วย พร้อมทั้งมีดุริยดนตรีขับกล่อม และโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่ว พญากือนาได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อเทวดา เมื่อช้างมงคลถูกปล่อยได้ร้องขึ้น 3 ทีแล้วก็เดินออกประตูหัวเวียง ก่อนจะมุ่งหน้าเดินไปยังดอยสุเทพ โดยมีขบวนของพญากือนาและพระสุมนเถระเดินตามหลัง

 

ช้างมงคลเดินมาจนถึงตีนดอยสุเทพ ได้มาหยุดตรงที่ดอยใหญ่ลูกหนึ่ง เพื่อหยุดพักหรือ ‘หนุน’ ที่ภูเขาลูกนี้ ทำให้ภายหลังดอยลูกนี้ได้รับการเรียกว่า ‘ดอยหมากขนุน’ (ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ 2510:51) จากการสำรวจพบว่าดอยหมากขนุนนี้ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ดอยหมากหนุน’ ดอยลูกนี้ปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้กับวัดฝายหิน ซึ่งค้นพบโบราณสถานร้างสมัยล้านนาเช่นกัน 

 

โบราณสถาน ดอยสุเทพ

วัดฝายหินที่เชิงดอยสุเทพ มีเจดีย์ประธานแบบล้านนาอยู่องค์หนึ่ง

 

จากนั้นช้างได้เดินขึ้นไปจนถึงยอดดอยลูกหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบดี พญากือนาและพระสุมนเถระจึงหมายจะประดิษฐานพระธาตุที่บริเวณนั้น แต่ปรากฏว่าช้างมงคลก็ไม่ยอมหยุด แต่ยังบ่ายหน้าเดินต่อไป บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า ‘สนามยอดดอยงาม’ แต่ต่อมาภายหลังเรียกกันว่า ‘สามยอด’ (ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ 2510:51) จากการสำรวจพบว่าพื้นที่บริเวณสามยอดตรงกับวัดร้างแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘วัดสามยอด’ เป็นวัดขนาดใหญ่มาก มีพื้นที่ราบเรียบดี ตรงกับที่ตำนานพระธาตุดอยสุเทพกล่าวถึง และเส้นทางนี้ยังเป็นเส้นทางโบราณที่สามารถเดินไปยังวัดผาลาดได้ 

 

ดอยสุเทพ

โบราณสถานวัดสามยอดในตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ก่อด้วยหินทั้งหมด เดิมคงมีโครงสร้างเครื่องไม้ ผู้เขียนกำลังยืนอยู่หน้าบันไดหินทางเข้าวิหาร

 

โบราณสถาน ดอยสุเทพ

โบราณสถานที่วัดผาลาด ดอยสุเทพ ภาพนี้ถ่ายในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งถ้าหากไฟไหม้เข้าวัดคงได้รับความเสียหายอย่างมาก

 

ช้างมงคลได้เดิน ‘ไต่ราวดอย’ หรือสันเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงยอดดอยสุเทพ เมื่อถึงยอดดอยช้างมงคลได้เดินเวียนประทักษิณ 3 รอบ แล้วจึงคุกเข่าทั้ง 4 ขาอยู่เหนือยอดดอย เมื่อพญากือนาและพระสุมนเถระนำพระธาตุลงจากหลังช้างแล้ว ช้างมงคลเชือกนั้นก็ตาย ซึ่งปัจจุบันที่วัดพระธาตุดอยสุเทพจะมีรูปปั้นของช้างเชือกนี้ให้เห็นอยู่ 

 

เมื่อนั้นพญากือนาและพระสุมนเถระจึงได้ให้คนขุดดินลึกลงไป 3 ศอก (1.5 เมตร) แล้วเอาแท่งหินใหญ่ 7 ก้อนมาทำเป็นหีบหินขนาดใหญ่วางลงไปในหลุมที่ขุดแล้ว จึงอาราธนาพระธาตุที่บรรจุอยู่ใน ‘โกศ’ ลงในหีบหินนั้น จากนั้นจึงให้คนนำหินมาถมเป็นจำนวนมาก แล้วให้คนแปงที่เป็นที่ราบเพื่อก่อเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งมีความสูง 5 วา (ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ 2510:52) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพระธาตุดอยสุเทพ 

 

สำหรับรูปแบบของเจดีย์ที่สร้างขึ้นในเวลานั้น เป็นไปได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม คล้ายคลึงกับเจดีย์ประธานของวัดสวนดอกในปัจจุบัน เพราะเจดีย์แบบนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของคณะสงฆ์นิกายลังกาวงศ์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเจดีย์ประธานของวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นเจดีย์สำคัญ จึงผ่านการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด ซึ่งการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยของครูบาศรีวิชัย เพราะฉะนั้นเจดีย์ประธานองค์นี้จึงมีรูปแบบที่ต่างออกไปจากเจดีย์ทรงระฆังในสมัยพญากือนา 

 

หลังจากนั้นตำนานพระธาตุดอยสุเทพได้กล่าวว่า นับตั้งแต่สมัยของพญากือนาเป็นต้นมา กษัตริย์ที่ครองราชย์เมือง ‘นพบุรีศรีมหานครเมืองพิงค์เชียงใหม่’ ได้มานมัสการ ‘พระมหาธาตุเจ้าสุเทพ’ โดยตลอด จนเมื่อในสมัยของพระเมืองแก้ว (ท้าวแก้ว) ซึ่งถือเป็นยุคทองของล้านนาอีกช่วงเวลาหนึ่ง ลูกของพระองค์ชื่อท้าวอ้าย (ลูกคนโต) ได้อาราธนาพระมหาญาณมงคลโพธิเจ้าแห่งวัดอโสการาม มาซ่อมแซมบูรณะเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาได้มีการหุ้มแผ่นทองจังโกที่องค์พระธาตุ รวมถึงการก่อสร้างอาคารต่างๆ เช่น พระวิหาร ต่อเติมเรื่อยมา นอกจากนี้ ผู้เขียนตำนานพระธาตุดอยสุเทพยังเชื่ออีกด้วยว่า ในอนาคตนั้นไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดจะปรากฏขึ้นบนโลกในกัปใดก็ตาม เช่น พระศรีอริยเมตไตรย พระธาตุของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะบรรจุที่พระธาตุดอยสุเทพแห่งนี้ (ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ 2510:52-57)

 

เส้นทางโบราณขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ

ทุกปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีประเพณีรับน้องขึ้นดอย รุ่นน้องจะต้องเดินขึ้นไปตามถนนสายหลักปัจจุบัน แต่รุ่นพี่มักแอบลักไก่ด้วยการใช้เส้นทางวัดผาลาด ซึ่งจะย่นระยะทางได้กว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางโบราณตั้งแต่สมัยพญากือนา หรือก่อนหน้านั้น เส้นทางนี้จะเริ่มต้นที่วัดฝายหิน ผ่านโบราณสถานต่างๆ ตามตำนานที่ว่ามาที่สำคัญคือ วัดสามยอด วัดผาลาด และโบราณสถานร้างแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่าวัดต้นหนุน แล้วจึงตัดขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ 

 

ด้วยความสำคัญของพระธาตุดอยสุเทพที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงทำให้มีเส้นทางโบราณอีกหลายเส้นที่ใช้ขึ้นดอยสุเทพ ซึ่งพบโบราณสถานอีกหลายแห่ง เส้นทางอีกเส้นทางหนึ่งพบว่า เริ่มต้นจากวัดอุโมงค์ จากนั้นตัดขึ้นไปบริเวณจุดชมวิว (ที่คนชอบไปดูวิวดาวบนดิน) จากนั้นเดินขึ้นไปยังโบราณสถานร้างริมห้วยอุโมงค์ และขึ้นไปยังวัดร้างแห่งหนึ่งตรงโบสถ์เซนต์หลุยส์ (โบราณสถานนี้อยู่ใกล้กับโค้งสปิริต) แล้วค่อยขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ

 

ดอยสุเทพ

แผนที่นี้แสดงเส้นทางเดินสมัยโบราณที่ใช้ขึ้นดอยสุเทพ ประกอบด้วยเส้นทางผาลาด และเส้นทางห้วยอุโมงค์ ซึ่งพื้นที่บางส่วนตอนนี้กำลังโดนไฟป่าไหม้อยู่

 

เส้นทางสุดท้ายคือ เส้นทางขุนช่างเคี่ยน เส้นทางนี้ยังมีการสำรวจกันน้อย จุดเริ่มต้นน่าจะอยู่แถวๆ หมู่บ้านป่าแหว่ง หรือแถวห้วยตึงเฒ่า ไต่สันดอยขึ้นไปก็จะพบโบราณสถานอยู่ในเขตสวนลิ้นจี้ที่บ้านขุนช่างเคี่ยน จากนั้นก็ค่อยๆ เดินทางไปตามสันเขาก็จะถึงพระธาตุดอยสุเทพ เส้นทางนี้ยังไม่มีการสำรวจทางโบราณคดีมากเท่าไรนัก (ในสมัยนั้นกันดารมาก ปัจจุบันไม่ทราบ)

 

ในอนาคตหากเส้นทางโบราณที่ใช้ขึ้นดอยสุเทพนี้ได้รับการรื้อฟื้นเพื่อจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวทางเลือกคงเป็นเรื่องดีไม่น้อย เสียดายที่ไฟป่าครั้งนี้คงสร้างความเสียหายให้กับต้นไม้ที่เคยร่มรื่นบนดอยสุเทพไปมากพอสมควร ดังนั้น การป้องกันไฟป่าจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่ได้แค่เพียงคืนปอดและอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนเชียงใหม่-ลำพูนเท่านั้น แต่ยังช่วยอนุรักษ์เส้นทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอีกด้วย การป้องกันไฟป่าในอนาคตจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก

 

ภาพเปิด: Chiang Mai News

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • ไกรสิน อุ่นใจจินต์. 2544. วัดกู่ดินขาว-เวียงเจ็ดลิน. เชียงใหม่: สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ (เอกสารอัดสำเนา). 
  • พาสุข ดิษยเดช, สายันต์ ไพรชาญจิตต์ และประทีป เพ็งตะโก. 2527. โบราณสถานสันกู่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รายงานเบื้องต้นการขุดแต่ง-ศึกษาและวิเคราะห์ทางโบราณคดี. เชียงใหม่: หน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (เอกสารอัดสำเนา).
  • ห้างหุ่นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์ และ กรมศิลปากร. 2553. รายงานการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี โครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ดอยสุเทพ. เชียงใหม่: สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร, นักโบราณคดีผู้ปฏิบัติงานและจัดทำรายงาน พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ และ อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล. 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising