“แต่ก่อนบ้านเราปลูกลิ้นจี่มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ถือว่าเป็นรายได้หลักของครอบครัวมาหลายปี แต่เมื่อดอยคำแนะนำให้ปลูกสตรอว์เบอร์รีทดแทนและรับซื้อผลผลิตด้วย รายได้ก็เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น” นี่คือคำบอกเล่าของเกษตรกร หนึ่งในหลายครอบครัวของอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีรายได้มากขึ้นจากการปลูกสตรอว์เบอร์รี หนึ่งในผลผลิตหลักของบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
แปลงปลูกสตรอว์เบอร์รีในพื้นที่สูงและภูเขาของอำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ และอำเภอแม่อาย
ในพื้นที่สูงและภูเขาของอำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เต็มไปด้วยไร่สตรอว์เบอร์รีที่ลดหลั่นกันออกผลผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี เกษตรกรต่างเก็บผลสตรอว์เบอร์รีสดสายพันธุ์พระราชทาน 80 หนึ่งในสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องผลผลิตและรสชาติดี โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตร โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) นำความรู้ทางวิชาการเกษตรจากโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืชมาถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกสตรอว์เบอร์รี โดยในปัจจุบันทั้งสามอำเภอมีเกษตรกรปลูกสตรอว์เบอร์รีรวมทั้งสิ้น 50 ไร่ 85 ครัวเรือน และมีรายได้ต่อครัวเรือนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนในสมัยปลูกลิ้นจี่เฉลี่ย 7-8 หมื่นบาท และถ้าเกษตรกรมีความตั้งใจและหมั่นดูแลแปลงสตรอว์เบอร์รีอย่างดีก็จะสามารถทำรายได้มากถึง 1-2 แสนบาทต่อครัวเรือนอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างมหาศาล
แปลงปลูกสตรอว์เบอร์รีในพื้นที่สูงที่เกษตรกรปลูกสลับกับสวนลิ้นจี่ ซึ่งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรจากโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) เข้าไปดูแลและให้ความรู้ในเรื่องการเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์พระราชทาน 80 ที่ต้องการความใส่ใจและพิถีพิถันเป็นพิเศษกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะกลุ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์พระราชทาน 80 หนึ่งในสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องผลผลิตและรสชาติดี
แต่เดิมแปลงสตรอว์เบอร์รีให้ผลผลิตเป็นเพียงลูกขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม และสีแดง เหมาะกับการนำไปทำผลิตภัณฑ์ทาขนมปังเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนมาเป็นแปลงสตรอว์เบอร์รีที่ให้ผลขนาดใหญ่ สีแดงสด กลิ่นหอม และตรงตามมาตรฐานของสตรอว์เบอร์รีคัดพิเศษของดอยคำ ซึ่งทุกผลจะต้องมีความสุกสูงถึง 90% และมีความหวานจากผลมากกว่า 10 บริก ทำให้เกษตรกรได้รับราคาผลผลิตที่สูงขึ้นมาก และเริ่มให้ความสำคัญในการพัฒนาและดูแลแปลงสตรอว์เบอร์รีของตัวเองมากขึ้น
ผลสตรอว์เบอร์รีสดหลากหลายขนาด ทำการคัดแยก ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)
เกษตรกรจะนำผลสตรอว์เบอร์รีสดที่เก็บได้แบบวันต่อวันมาส่ง ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จากดอยคำจะทำการคัดแยกผลสตรอว์เบอร์รีในหลากหลายขนาดเพื่อนำไปจัดจำหน่ายในรูปแบบรับประทานสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ โดยในทุกๆ วันจะมีเกษตรนำผลสตรอว์เบอร์รีสดเข้ามาขายที่โรงงานหลวง และเขียนชื่อหรือทำสัญลักษณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกและทำการวิเคราะห์คุณภาพของผลสตรอว์เบอร์รีในแต่ละครั้ง ไปจนถึงการประเมินราคาให้กับเกษตรกรอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของดอยคำและเกษตรกรในชุมชน
เจ้าหน้าที่จากดอยคำจะทำการคัดแยกผลสตรอว์เบอร์รีในหลากหลายขนาดเพื่อนำไปจัดจำหน่ายในรูปแบบรับประทานสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ
สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์พระราชทาน 80
หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของดอยคำกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า “บ้านผมก็มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรเช่นกัน ดังนั้นจึงมีความผูกพันกับชาวไร่ชาวสวน ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีความฝันที่อยากมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกร จึงเลือกศึกษาต่อในคณะที่เกี่ยวกับเกษตร ก่อนสอบติดคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับคัดเลือกให้เข้ามาทำงานที่โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ รู้สึกดีใจได้ทำงานที่ตนเองชอบ เพราะผมเชื่อว่าหากได้ทำงานที่ชอบแล้ว ชิ้นงานที่ทำย่อมประสบความสำเร็จ และตลอดเวลาที่ผมทำงานมากว่า 3 ปี ผมตั้งใจทำงานเต็มความสามารถ และดีใจทุกครั้งที่เกษตรกรมีผลผลิตดี เพราะตรงนี้จะนำมาซึ่งรายได้สู่เกษตรกรโดยตรง” เจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตร โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ เผยด้วยความประทับใจ
คุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรพื้นที่สูงมากขึ้น และเห็นชัดเจนว่าชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น
จากการบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าหน้าที่ของดอยคำในครั้งนี้ทำให้เราได้สัมผัสชีวิตของพี่น้องเกษตรกรพื้นที่สูงมากขึ้น และเห็นชัดเจนว่าชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น อีกทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตรฯ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากเรานำเอาผลสรุปงานวิจัยของนักวิจัยมาถ่ายทอดให้เกษตรกรก่อนลงมือทำงานในไร่ตัวเอง ในทางกลับกันเราก็พร้อมรับฟังปัญหาของเกษตรกรที่สะท้อนจากประสบการณ์จริงในทางปฏิบัติ เพื่อส่งสารต่อถึงนักวิจัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งดอยคำยังคงสนับสนุนเกษตรกรและร่วมหาแนวทางเพื่อให้เกษตรกรพื้นที่สูงสามารถปลูกสตรอว์เบอร์รีได้ผลผลิตงอกงาม และผู้บริโภคได้รับประทานผลสตรอว์เบอร์รีที่ดี มีคุณภาพ ภายใต้หลักการที่ดอยคำยังคงตระหนักอยู่เสมอว่า “การได้เห็นคนไทยทุกๆ ระดับได้กินดีอยู่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเมื่อไรที่เรากินดีอยู่ดี เมื่อนั้นย่อมจะหมายถึงความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน”
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)
อนึ่ง หลังเสร็จสิ้นการปลูกสตรอว์เบอร์รี ช่วงเดือนเมษายนในปีนี้ต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคม เกษตรกรกำลังรอเก็บผลผลิตลิ้นจี่ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในปีนี้ภาคเหนือมีอากาศหนาวต่อเนื่อง ทำให้ต้นลิ้นจี่ออกดอกเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลิ้นจี่ไม่ออกผล เมื่อเสร็จสิ้นการเก็บผลลิ้นจี่ ชาวบ้านจะเริ่มปลูกข้าว นอกเหนือจากเก็บไว้รับประทานเอง ชาวบ้านก็จะนำไปจำหน่าย จากนั้นจะเริ่มปลูกสตรอว์เบอร์รีอีกครั้ง ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านบนพื้นที่สูงมีกิจกรรมทางการเกษตรที่ต้องทำตลอดทั้งปี และถ้าหากขยัน อดทน เอาใจใส่พืชผลของตนเอง เชื่อว่าทุกครัวเรือนจะมีรายได้จุนเจือเลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์