×

คนกราบหมา เมื่อศาสนาเป็นเหตุ ความงมงายจึงบังเกิด

23.05.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • อย่างที่หลายคนพอรู้กัน หนังเรื่อง คนกราบหมา ของ อิ๋ง-สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เองก็เป็นหนังที่โดนโทษประหัตประหารนั้น และเหตุผลที่ทำให้มันถูกห้ามฉายมานานกว่า 25 ปี เป็นเพราะการพูดถึงความเสื่อมทรามของศาสนาและความงมงายของผู้คนอย่างออกรสออกชาติ
  • แต่ถ้ามองอย่างถี่ถ้วนก็จะพบว่าหนังไม่ได้นำเสนอแนวคิดของตัวเองเพียงอย่างเดียว กลับกันมันเป็นการตั้งคำถามถึงคนดูราวกับตั้งใจจะบอกว่า ระบบความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลหรือไม่
  • แต่ความเซอร์เรียลของหนังก็เป็นสิ่งที่ทำให้ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ดูรุนแรงจนเกินไป มิหนำซ้ำเมื่อได้กลับมาฉายในตอนนี้มันก็อาจเป็นการดีที่แนวคิดของหนังสามารถเชื่อมโยงกับผู้คนในยุคปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย

ทุกวันนี้การทำหนังหรือซีรีส์ที่หยิบยกเอาเรื่องของศาสนามาหยอกล้ออาจไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่โตอะไร บ้างก็มองว่าเป็นความจริงที่เราทุกคนต่างก็รับรู้กันในสังคม บ้างก็มองว่าเป็นเรื่องขำขันที่สามารถสร้างเสียงหัวเราะได้ แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อนในวันที่เทคโนโลยีและการตื่นรู้ของผู้คนยังไม่เป็นเหมือนปัจจุบัน การจะหยิบจับองค์ประกอบของศาสนามาใช้ย่อมส่งผลให้ตำแหน่งแห่งที่ของหนังยืนอยู่คาบเกี่ยวกับคำว่า ‘โดนแบน’ อย่างไม่ต้องสงสัย

 

และอย่างที่หลายคนพอรู้กันหนังเรื่อง คนกราบหมา ของ อิ๋ง-สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เองก็เป็นหนังที่โดนโทษประหัตประหารนั้น และเหตุผลที่ทำให้มันถูกห้ามฉายมานานกว่า 25 ปี เป็นเพราะการพูดถึงความเสื่อมทรามของศาสนาและความงมงายของผู้คนอย่างออกรสออกชาติ ซึ่งนั่นรวมไปถึงการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่น่างุนงงตามชื่อเรื่องด้วย

 

 

อย่างไรก็ตาม หนังก็ไม่ได้เปิดเรื่องด้วยการพาคนดูเข้าไปสำรวจหรือทำความรู้จักกับกิจวัตรประจำวันของผู้คนในลัทธิประหลาด หากแต่เป็นการฟังพระสองรูปกำลังพูดคุยเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับศพ ซึ่งถ้าว่าตามทำเนียบปฏิบัติผู้เป็นพระย่อมไม่สามารถแตะเนื้อต้องตัวของสีกา (ผู้หญิง) ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าศพเป็นผู้ชายการกระทำของพระรูปนั้นจะบาปหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าเพียงแค่ฉากเปิดเรื่องที่ล่อแหลมนี้มันก็เพียงพอแล้วที่จะตอบคำถามว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงถูกกองเซ็นเซอร์แบนไปถึงสองทศวรรษ เพราะท่ามกลางอารมณ์ขันที่ปกคลุมบรรยากาศของการสนทนา ภาษาที่หนังใช้ก็เรียกได้ว่าไม่มีการประนีประนอมต่อความเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น 

 

แต่ถ้ามองอย่างถี่ถ้วนก็จะพบว่า หนังไม่ได้นำเสนอแนวคิดของตัวเองเพียงอย่างเดียว กลับกันมันเป็นการตั้งคำถามถึงคนดูราวกับตั้งใจจะบอกว่า ระบบความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อหนังขยับมาเล่าเรื่องของ โรบิน (น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์) ชายหนุ่มที่ต้องการพาตัวภรรยากลับมาจากลัทธิประหลาดที่มีหมาชื่อ ‘หมีควาย’ เป็นศาสดา ด้วยการแฝงตัวเข้าไปในลัทธิร่วมกับนักสืบชาวอเมริกันที่มีเป้าหมายในการเปิดโปงความจริงของสถานที่แห่งนี้ 

 

 

มองเผินๆ แล้วพล็อตเรื่องของ คนกราบหมา ก็ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร หนังเริ่มฉายภาพของผู้คนในลัทธิที่เริ่มทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ราวกับตัวเองเป็นหมา ไม่ว่าจะเป็น การกินอย่างหมา กราบเหมือนหมา หอนเหมือนหมา หรือแม้กระทั่งมีเพศสัมพันธ์เหมือนหมา และที่น่าพิลึกยิ่งกว่า คือทุกคนในลัทธิต่างก็เต็มใจที่จะทำมันโดยที่ไม่คิดว่าการทำแบบนี้จะเป็นเรื่องผิดแปลกอะไร และถ้านี่เป็นความฝันมันก็คงเป็นความฝันที่ชวนอึดอัดสำหรับพวกเขาทั้งสองคนที่ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเห็นอยู่คืออะไรกันแน่ 

 

โดยปริยายโรบินและนักสืบชาวอเมริกันจึงกลายเป็นตัวแทนของแนวคิดที่ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เพราะหากคิดตามหลักสามัญทั่วไปมันก็คงไม่มีมนุษย์คนไหนที่เดินสี่ขาหรือยอมกินข้าวเหมือนหมาเป็นแน่แท้ แต่ก็นั่นแหละ ‘เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม’ แม้ลึกๆ แล้วพวกเขาจะไม่อยากยอมรับสิ่งที่เห็นอยู่ก็ตาม 

 

 

ขณะเดียวกันหนังก็ใส่ครอบครัวหนึ่งเข้ามา ซึ่งทำให้มุมมองที่มีต่อลัทธิเปิดกว้างขึ้น เมื่อคำสอนของพวกเขาถูกมองว่าเป็นการ ‘เยียวยา’ ชนิดหนึ่ง เนื่องจากครอบครัวที่ว่านั้นมีลูกชายเป็นโรคซึมเศร้าและชอบทำร้ายร่างกายตัวเอง ซึ่งผู้เป็นพ่อและแม่ก็เชื่อว่าการมาที่นี่จะช่วยทำให้ลูกชายของพวกเขาเลิกทำร้ายตัวเองได้ตามคำบอกเล่าของเพื่อนบ้านที่เคยมารับฟังคำสอนจากลัทธิแห่งนี้ 

 

ว่าไปแล้วบริบทดังกล่าวก็ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกันหลายๆ ครั้งในสังคม เพราะหนึ่งในเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างมากที่สุดคือ การเยียวยา เช่น การกินน้ำที่มีสีแปลกประหลาดเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ดูอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นน้ำที่กินได้ตามผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่คนที่เชื่อว่าน้ำเหล่านั้นสามารถรักษาโรคได้จริงก็พร้อมที่จะดื่มมันอย่างไม่มีข้อสงสัยอะไร 

 

ซึ่งความเชื่อนี้ก็ถูกบอกเล่าผ่านครอบครัวดังกล่าว และบางครั้งจังหวะการเล่าเรื่องของหนังเองก็มีความเข้าอกเข้าใจในตัวของมนุษย์อยู่พอสมควร ความเชื่อจึงกลายเป็นเหมือนคุกและโรงพยาบาล เพราะมันไม่ได้มีแค่เอาไว้เยียวยาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นที่กักขังความคิดของพวกเขาด้วย ซึ่งฉากสุดท้ายของหนังก็ทำให้เห็นภาพกลไกนี้ชัดเจนที่สุดจนคนดูแทบจะอุทานแบบเดียวกับตัวละครภายในเรื่อง

 

 

แง่หนึ่งลัทธิและศาสนาจึงทำหน้าที่ในรูปแบบเดียวกัน นั่นคือการกลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน คำถามคือ เมื่อสองสิ่งนี้มีความเหมือนกันจนแทบจะแยกไม่ออกทางวิธีการ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เห็นอยู่นั้นเป็นของจริงหรือของปลอม การตั้งคำถามกับความศักดิ์สิทธิ์จึงถูกสะท้อนออกมาผ่านทุกอณูของหนัง ไม่เว้นแม้แต่บทสนทนาที่ชวนขบขันก็ตาม 

 

มีฉากหนึ่งที่หนังพาคนดูไปทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ไทยที่เข้ามาเป็นสายสืบในลัทธิ โดยมีเป้าหมายที่จะทลายแก๊งต้มตุ๋น และปกป้องไม่ให้ศาสนากลายเป็นเครื่องมือทำมาหากิน แต่ความตลกร้ายขั้นสุดคือ เมื่อเขาหอบเอาหลักฐานที่เป็นภาพของหมีควายกำลังผสมพันธุ์ไปฟ้องพระผู้ใหญ่ พระรูปนั้นกลับบอกว่า การกระทำดังกล่าวไม่อาจทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสียได้ พร้อมกับพูดแบบขอไปทีว่า ตัวเองจะเอาข้อมูลนี้ไปตรวจสอบให้ ซึ่งคนดูก็เดาได้ไม่ยากว่าหลักฐานนั้นก็คงกองอยู่บนโต๊ะเหมือนเดิม 

 

การได้เห็นภาพแบบนี้ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่า บางทีการที่ผู้คนหันหลังให้กับศาสนา และ ‘เลือก’ ที่จะเชื่อในการเคารพบูชาตัวบุคคลก็อาจเป็นเพราะตัวของศาสนาเองที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ยึดเหนี่ยวหรือสั่งสอน หากแต่เป็นการใช้อำนาจในรูปแบบหนึ่งเพื่อปกปิด บิดเบือนหรือแอบอ้างว่าการกระทำของตัวเองนั้นถูกต้อง และมันยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่ออำนาจทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ไม่คิดว่าลัทธิเล็กๆ ซึ่งประกอบไปด้วยคนไม่กี่คนจะทำให้อำนาจในคราบผ้าเหลืองของพวกเขาสั่นคลอนได้ 

 

 

แต่ความเซอร์เรียลของหนังก็เป็นสิ่งที่ทำให้ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ดูรุนแรงจนเกินไป มิหนำซ้ำเมื่อได้กลับมาฉายในตอนนี้มันก็อาจเป็นการดีที่แนวคิดของหนังสามารถเชื่อมโยงกับผู้คนในยุคปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นถ้าดูจากวันเวลาที่หนังถูกสร้างขึ้นมาก็คงจะพูดได้ว่ามันเป็นหนังที่มาก่อนกาลจริงๆ 

 

นอกจากนี้ คนกราบหมา ยังเป็นผลงานการแสดงเรื่องแรกของ กฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือ น้อย วงพรู ก่อนที่เขาจะแจ้งเกิดในหนังเรื่อง 13 เกมสยอง ด้วย และถ้าพูดถึงการแสดง คนที่สมควรจะได้รับคำชมก็ไม่ได้มีแค่น้อยเพียงคนเดียว แต่เป็นทีมนักแสดงทั้งหมดที่ช่วยกันรังสรรค์ความวิปลาสหน้านิ่งนี้ขึ้นมา เพราะมันเป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้ภาษาหนังที่มีลักษณะเฉพาะสามารถสำแดงพลังออกมาได้โดยที่แก่นสารของมันยังคงอยู่ครบถ้วนทุกประการ โดยเฉพาะเมื่องานภาพพร้อมที่จะโอบอุ้มความเย้ยหยันเหล่านั้นเอาไว้

 

โดยรวมหนังเรื่อง คนกราบหมา จึงไม่ใช่หนังที่ทำออกมาเพื่อมีหน้าที่เพียงแค่จิกกัดศาสนาหรือความงมงาย หากแต่เป็นการให้บันเทิงอย่างถึงที่สุดพร้อมกับชวนคนดูค่อยๆ ไตร่ตรองและตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็น ซึ่งหนังก็ไม่ได้ตีกรอบว่าความคิดของตัวเองจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกที่สุด 

 

การได้ดูหนังเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการพาคนดูเข้าไปสำรวจแง่มุมทางศาสนาที่ซุกซ่อนเอาไว้อยู่ใต้พรมด้วยอารมณ์ขัน ที่พอดูจบแล้วเราอาจย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา การที่หนังทำงานกับคนดูได้ร่วมสมัยขนาดนี้เป็นเพราะเนื้อหาของหนังที่มีความก่อนกาล หรือแท้จริงแล้วศาสนาและความงมงายยังคงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้

 

คนกราบหมา เข้าฉายแล้ววันนี้ที่ House Samyan

 

รับชมตัวอย่างได้ที่: 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X