ถ้าจะมีเรื่องใหญ่ในประเทศไทยที่ควรถ่ายทอดมาเป็นสารคดี แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นต้องมี ‘จังหวัดชายแดนภาคใต้’ แต่พอมีโอกาสจะทำเข้าจริงๆ ถึงเพิ่งตระหนักรู้ว่า ‘เรารู้จักจังหวัดชายแดนใต้น้อยมาก’ สิ่งที่ควรทำก่อนเลยคือ เราสเกาต์ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ คุยกันหลายชั่วโมง และการคุยกับผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทำให้เรารู้…
อย่างแรกคือ รู้ว่าเรายังไม่รู้ คือเรายังไม่รู้และเข้าใจถึงปัญหาที่ซับซ้อนในพื้นที่ดีพอที่จะสรุปว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เขาคิดเห็นอย่างไรกับกลุ่มขบวนการในพื้นที่ ก็เลยมาสู่สิ่งที่สองคือ สิ่งที่เราพอจะรู้ หรือพอจะหาคำตอบได้ก็คือ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เขาคิดเห็นและรู้สึกอย่างไรกับ ‘เหตุการณ์ในพื้นที่ของเขา’
ออกเดินทางไปทำสารคดีที่ปัตตานี
ทีมงานวางแผนเรื่องการออกกองถ่ายทำปกติ แต่ก่อนวันออกเดินทางก็เกิดเหตุการณ์ระเบิด 11 จุด ทั้งปั๊มน้ำมันและร้านสะดวกซื้อที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่เรารู้จักกันดี เหตุการณ์นี้มองได้ 2 แง่มุม ในฐานะคนทำสื่อก็มองว่าโชคดี น่าจะได้ภาพบรรยากาศความเป็นชายแดนใต้ แต่ในฐานะคนทั่วไปก็กลัวเหมือนกัน
ทีมงาน THE STANDARD ขึ้นเครื่องบินที่สนามบินในกรุงเทพฯ เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่จังหวัดปัตตานี แต่เราต้องลงเครื่องบินที่สนามบินหาดใหญ่ และเช่ารถตู้เพื่อเดินทางเข้าจังหวัดปัตตานี ทันทีที่เราขับรถเข้าจังหวัดปัตตานี นอกจากซุ้มประตูจังหวัด อีกสิ่งที่เราได้พบคือ ด่านตรวจความมั่นคง ด่านตรวจกลายเป็นแลนด์มาร์กที่บอกว่า เราถึงปัตตานีแล้ว
เปิดมุมมองใหม่ชายแดนใต้
ทีมงานเดินทางไปที่มัสยิดกรือเซะ เราอยากไปเยี่ยมชมด้วย และ ‘แบ’ คนขับรถของเราก็ต้องละหมาดพอดี อาจจะเพราะบรรยากาศด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่รู้สึกว่าการละหมาดที่เราเห็นวันนั้นมันงดงามมากเลย สงบแต่มีพลัง พี่น้องมุสลิมต้อนรับพวกเราอย่างดี แม้เราจะทำตัวกันประดักประเดิดแค่ไหนก็ตาม
ที่นี่เราได้เจอ ‘พี่ปาริ’ บุรุษไปรษณีย์ที่ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพเมืองปัตตานีลงโซเชียลมีเดีย ภาพพี่ปาริสวยจนแทบไม่เชื่อว่าถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือยี่ห้อไม่คุ้นหู ทีมงานคุยกับพี่ปาริอย่างสนุกสนานอยู่นาน ก่อนจะพบว่า ทีมงานเราได้รู้จักปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีกแง่มุมอย่างคาดไม่ถึง
เราจะได้ยินข่าวจากจังหวัดชายแดนใต้เมื่อเกิดระเบิดและความรุนแรง ในการรับรู้ของคนทั่วไปอาจไม่เคยรู้ว่าจังหวัดชายแดนใต้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเสน่ห์ทางวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม อาหารหลากหลาย ภาคประชาชนฉลาดเข้มแข็ง และมีความสงบเรียบง่ายตามวิถีทางวัฒนธรรม
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่นี่ทุกวัน ตลอดเวลา ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบนั้นเกิดขึ้นแบบนับครั้งได้ โชคร้ายที่คนส่วนใหญ่มีภาพจำกับสิ่งผิดปกติที่นานๆ จะเกิดขึ้น แต่สิ่งปกติที่เกิดขึ้นทุกวันกลับไม่ค่อยมีใครได้รับรู้หรือมาสัมผัส
พี่ปาริเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Melayu Living พวกเขามาจากหลายวัย หลากอาชีพ พยายามใช้พลังของชุมชนและผู้คนพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและความเข้าใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยที่พวกเขาไม่รู้มาก่อนว่าก่อนหน้านี้คนในพื้นที่ต่างศาสนาไม่ไว้วางใจพวกเขาเลย แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้เปลี่ยนความไม่ไว้วางใจนั้นไปสู่มิตรภาพและความเชื่อใจ เปลี่ยนบางพื้นที่เล็กๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ให้กลับไปเหมือนก่อนเหตุการณ์ความไม่สงบ
การเดินทางลงพื้นที่ปัตตานีของเรายังเจอเรื่องราวดีๆ อีกมาก มีกลุ่มคนที่ช่วยขับเคลื่อนให้พื้นที่ชายแดนใต้สงบสุข น่าอยู่ และมีความหวัง
ทีมงานได้เจอ ‘น้องวัง’ เด็กขี้โรคยากจนในปัตตานีที่ต่อสู้กับร่างกายตัวเอง ฝึกฝนอย่างหนักจนได้เป็นนักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทย วังรู้ตัวเองเสมอว่า ไม่เพียงแค่ความจนเท่านั้น แต่การเกิดและเติบโตในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้เขาลำบากกว่าคนอื่นๆ
แต่วันหนึ่งเมื่อเขาได้เข้ามาเป็นสมาชิกบ้านลูกเหรียง เขาได้รู้ว่า ความลำบากของเขาไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลยถ้าเทียบกับน้องๆ คนอื่นๆ ที่สูญเสียครอบครัวจากสถานการณ์ บางคนถูกลูกหลง เสียความมั่นใจ เครียด ว้าเหว่ และที่สำคัญคือ อยากแก้แค้นเอาคืน
เด็กกลุ่มนี้จึงเหมือนกับระเบิดที่ต้องรีบเก็บกู้เยียวยาบาดแผลทางจิตใจ มอบโอกาสและเปลี่ยนทัศนคติของพวกเขาให้ทันเวลา เปลี่ยนกับระเบิดให้กลายเป็นต้นไม้ที่งอกงามและส่งต่อดอกผลร่มเงาให้กับเด็กในพื้นที่รุ่นต่อไปที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน
THE STANDARD ร่วมกับ USAID ได้เรียบเรียงและถ่ายทอดออกมาเป็นวิดีโอสารคดี UNCOVER: Deep South 2 ตอน ได้แก่
- ฉันเกิดในชายแดนใต้ Born in the Deep South | UNCOVER: Deep South #1
- S E L A M A T P A T T A N I ความปกติที่ปัตตานี | UNCOVER: Deep South #2
ขอเชิญทุกท่านร่วมรับชมสารคดีพิเศษ ฟังเสียงสะท้อนอีกมิติผ่านบทสนทนาของชีวิต ความฝันคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงข้อเสนอแนะต่อการจัดการพื้นที่ในสารคดี Deep South ได้แล้วทาง THE STANDARD
ภาพ: ปาริ แวอิสอ