ในครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงการทำหนังที่ Based on True Stories ที่มีกระบวนการที่ยุ่งยากมากมาย การซื้อสิทธิ์ การขออนุญาตเจ้าของเรื่องตัวจริง เพื่อแลกมาซึ่งความจริงหรือความสมจริงของหนังเรื่องนั้น แต่จริงๆ มีสิ่งที่ยากกว่าการทำหนังเรื่องแต่งที่ Based on True Stories นั่นคือการทำสารคดีที่เกี่ยวพันกับ True Story แบบเต็มๆ แบบไม่ Based on
ความแตกต่างของหนังเรื่องแต่งที่สร้างจากเรื่องจริง และหนังสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องจริง นั่นคือ หนังเรื่องแต่งนั้นคนดูจะรู้สึกว่าเรื่องที่ดูนั้นแม้จะสร้างจากเรื่องจริง แต่ตัวหนังมักจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจ หรือมีการดัดแปลงเพื่อความบันเทิงของการรับชม ความรู้สึกก้ำกึ่งว่าจริงกับไม่จริงจะยังมีความผสมกันอยู่ อะไรที่ไม่ดีต่อตัวบุคคลจริง เราอาจจะโยนความผิดให้คนเขียนบทได้ไปเต็มๆ
ในขณะที่หนังสารคดีนั้นคนที่อยู่ในหนังคือคนจริงๆ พูดบางอย่างออกมาจากปากตัวเองจริงๆ คนดูจึงรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นคือเรื่องจริงโดยปริยาย แน่นอนว่าพวกเขามักจะลืมนึกว่ามันมีการตัดต่อและมุมมองของผู้กำกับอยู่ เวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นมาหลังหนังฉาย บุคคลจริงเหล่านั้นจะปฏิเสธยาก และเหมือนต้องยอมรับข้อวิจารณ์หรือคำด่าต่างๆ เข้าตัวไปโดยปริยาย และนั่นแหละคือต้นทางของปัญหาทั้งหมดที่อาจจะหนักข้อกว่าหนังเรื่องแต่ง Based on True Stories
แต่การจะโยนความผิดให้ผู้กำกับหรือผู้สร้างเลยนั้นก็ดูจะเป็นการตัดสินที่รวดเร็วไปสักเล็กน้อย เพราะหากเราทำสารคดีที่ตัดต่อตามที่ตัวซับเจกต์ต้องการทั้งหมด นั่นก็อาจจะแปลว่าสารคดีนั้นไม่มีความคิดเห็นของคนทำเลยแม้แต่น้อย (ลองคิดถึงบทสัมภาษณ์ที่ตัวคนถูกสัมภาษณ์มีสิทธิ์แก้ไขคำตอบต่างๆ ทั้งหมดดูสิว่า จะดูไม่น่าเชื่อถือขนาดไหน) แต่ในขณะเดียวกันผู้กำกับก็ต้องบาลานซ์ให้ดีถึงความยุติธรรมต่อสิ่งที่ตัวซับเจกต์เป็นด้วย (ลองคิดถึงบทสัมภาษณ์ที่คนสัมภาษณ์เขียนอะไรตามใจ หรือแต่งเติมคำพูดของคนถูกสัมภาษณ์เอาเองเพื่อความสนุกและความแซ่บ)
แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ เมสเสจที่ผู้กำกับต้องการจะนำเสนอผ่านตัวซับเจกต์คนนั้น ถ้าหากมันเป็นเมสเสจที่ตัวซับเจกต์เห็นดีเห็นด้วยก็จะจบไป แต่ถ้าหากเมสเสจนั้นเป็นเมสเสจที่ดี เป็นเมสเสจที่จริง ไม่มีการบิดเบือน แต่ตัวซับเจกต์ดันไม่ชอบที่จะถูกนำเสนอแบบนั้น ความขัดแย้งก็จะเริ่มต้นขึ้น และหลายๆ ครั้งก็จะไปจบกันที่การฟ้องร้องกันในตอนท้าย
Tabloid (2011)
Etre et Avoir (2002)
หนังหลายๆ เรื่อง ผู้กำกับถูกตัวซับเจกต์ฟ้องร้องกันยกใหญ่ ตัวอย่างเช่นหนังเรื่อง Tabloid (2011) ของ เออร์รอล มอร์ริส ที่ว่าด้วยชีวิตของจอยซ์ แม็กคินนีย์ หญิงสาวที่เคยตกอยู่ในเคสลักพาตัวพระมอรมอนไปข่มขืน เธอได้ให้สัมภาษณ์มากมายในหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่คดีนั้นไปจนถึงชีวิตปัจจุบัน แต่สุดท้ายเธอคือคนที่ตะโกนด่าผู้กำกับกลางการฉายหนังรอบพรีเมียร์ว่า ‘ไอ้คนหลอกลวง’ เพราะเธอไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้จะออกมาเน้นเรื่องคดีพระมอรมอนอันฉาวโฉ่ขนาดนี้ แต่นึกว่าหนังเรื่องนี้จะเกี่ยวกับชีวิตของเธอด้านอื่นๆ มากกว่า ว่าง่ายๆ คือซับเจกต์มองหนังออกมาคนละแบบกับผู้กำกับ แม้ว่าจะพูดสัมภาษณ์แบบเดียวกันก็ตาม แต่การตัดต่อของผู้กำกับนั้นก็เป็นสิ่งที่ซับเจกต์ควบคุมไม่ได้
หรือหนังเรื่อง Etre et Avoir (2002) ที่ว่าด้วยชีวิตอันน่าประทับใจของคุณครูในโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่รับสอนเด็กมากมายแค่เพียงคนเดียวในหมู่บ้านหนึ่ง ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย แต่ทันทีที่หนังออกฉายและโด่งดังได้เงินมากมาย เขาก็ออกมาเรียกร้องว่า ทีแรกคนทำก็บอกว่านี่จะเป็นสารคดีเล็กๆ เพื่อการศึกษา แต่ทำไมตอนนี้เป็นหนังเพื่อการค้าไปซะแล้ว เขาเลยบอกว่าไม่ต้องการให้ตัวเองอยู่ในหนังแบบนี้และไม่ขอมีส่วนร่วม แต่ตัดภาพไปอีกที คุณครูคนนี้ก็พาเด็กๆ ที่โรงเรียนไปปรากฏตัวที่เทศกาลหนัง และให้สัมภาษณ์กับสื่อมากมายว่า ผมมีความสุขกับการเป็นซับเจกต์ของหนังเรื่องนี้มากครับ ทำให้มันย้อนแย้งกันกับสิ่งที่เขากล่าวมาในตอนแรก กลายเป็นว่าลึกๆ ที่เขาต้องการนั้นอาจจะเป็นเรื่องเงินทองชื่อเสียงที่เขาอยากจะได้ด้วย มากกว่าการต่อสู้เรื่องหนังการศึกษาหรือหนังพาณิชย์
ว่าง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องความต่างด้านมุมมองที่มีต่อหนัง หรือเรื่องเงินทองชื่อเสียง ทั้งหมดล้วนเกิดจากการที่ตัวหนังหรือคนที่อยู่ในหนังมีความสัมพันธ์กับโลกความเป็นจริงนอกตัวหนัง และพวกเขาก็ดีเวลลอปตัวเองตามเวลาจริงในโลก พวกเขาไม่ใช่ตัวละครในหนังเรื่องแต่งที่ชีวิตจะจบลงทันทีที่หนังจบ ซับเจกต์ในหนังสารคดีจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา หรือเปลี่ยนไปตามผลกระทบที่พวกเขาได้รับหลังหนังฉาย อีกทั้งพวกเขายังสามารถกลับมามีปฏิสัมพันธ์หรือโต้แย้งผู้สร้างอีกทีได้ด้วย มันทำให้การทำหนังสารคดีนั้นไม่ได้จบที่การปิดกล้อง มันจะยังดำเนินไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกข้อขัดแย้งจะจบลง
Bowling for Columbine (2002)
Fahrenheit 9/11 (2004)
ครั้งหนึ่งไมเคิล มัวร์ ผู้กำกับหนังสารคดีชื่อดังอย่าง Bowling for Columbine (2002) และ Fahrenheit 9/11 (2004) เคยบอกว่า “อย่าบอกว่าตัวเองกำลังทำ ‘สารคดี’ ให้บอกตัวเองว่ากำลังทำ ‘หนัง’”, คนดูไม่ได้อยากนั่งฟังคำสอนหรือฟังความจริง แต่เขาอยากได้รับความบันเทิงในวันที่เหนื่อยล้า แค่นั้นแหละ, ผมไม่ได้อยากให้คนดูหนังของผม เดินจ๋อยๆ ออกจากโรง แต่ผมต้องการให้พวกเขารู้สึกบางอย่าง หรือรู้สึกเกรี้ยวกราดหลังจากดู และมันต้องเกรี้ยวกราดพอที่จะลุกขึ้นไปทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคม ยิ่งหนังเรื่องนั้นของคุณมีซับเจกต์ที่ขัดแย้งหรือคิดต่างกับคุณมากเท่าไร หนังเรื่องนั้นก็จะยิ่งดี บางครั้งการทำสารคดีที่ดีที่สุดอาจจะต้องลืมทุกศีลธรรม ทุกความสัมพันธ์ และทุกความจริงที่อาจจะทำให้เราพารานอยด์ที่จะเล่าออกมา
เราอาจจะไม่ได้ความจริงมาอยู่ในหนังหากเราดันกลัวที่จะเผชิญกับความจริงนอกหนังเสียเอง แต่ในขณะเดียวกันหลายๆ ครั้งการทำแบบนั้นมันก็เหมือนการหักหลังตัวซับเจกต์แบบดื้อๆ หลายข้อมูลอินไซด์ที่เราได้มาก็เกิดจากการที่เรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากๆ กับตัวซับเจกต์นั้นๆ แล้วเราจะทำอย่างไรหากข้อมูลอินไซด์นั้นดีมากๆ และมันอาจจะดีหรือมีประโยชน์ต่อคนอื่นๆ (หรืออาจจะต่อชาวโลก) แต่ข้อมูลนั้นจะทำร้ายชีวิตของตัวซับเจกต์นั้น (ที่อุตส่าห์บอกข้อมูลนั้นกับเรา), การทำสารคดีมันจึงเป็นความก้ำกึ่งระหว่างการเป็นคนดีและการทำหนังดี
ความจริงเป็นสิ่งที่มีพลังในการสร้างสรรค์ และมีพลังในการทำลายด้วยเช่นกัน ผู้กำกับสารคดีที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่คนที่ขุดคุ้ยได้ดีที่สุด อาจจะไม่ใช่คนที่นิสัยดีที่สุด แต่อาจจะเป็นคนที่บาลานซ์และบริหารความจริงได้ที่สุดมากกว่า
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์