×

สว. 67 : 5 ปี สว. หมอพรทิพย์ โบกมือลาการเมืองไทยถาวร ‘ไม่ภูมิใจ และไร้ผลงาน’ ชมก้าวไกลแนวคิดดี แต่ไม่ต่างจากระบอบทักษิณ

08.06.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ยอมรับว่า การทำงานในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำงานได้ไม่เต็มที่ กฎหมายด้านขบวนการยุติธรรมที่ต้องการขับเคลื่อนก็ถูกขัดขวาง จนทำให้ไร้ผลงาน
  • ยอมรับว่า สมัครเข้ามาเป็น สว. หวังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาปฏิรูปประเทศ แต่เมื่อเข้ามาแล้ว การปฏิรูปไม่ได้ถูกดำเนินการ จึงขอปิดสวิตช์ตัวเอง ไม่ขอใช้สิทธิใช้เสียงเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนไหน
  • พรรคก้าวไกลมีแนวคิดทางการเมืองที่ดี แต่ยังก้าวข้าม ม.112 ไม่ได้ เพราะมี Key Person ที่ไม่ยอมถอย ทำให้ไม่ต่างจากระบอบทักษิณ 
  • จากนี้ขอมุ่งสู่ทางธรรม และเดินตามรอยประวัติศาสตร์ไทย ขอโบกมือลาจากการเมืองไทยไปตลอดกาล

THE STANDARD ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านการสนทนาพิเศษกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 12 ชุดที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สว. ชุดพิเศษ’ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงผลงาน 5 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปหลังเข้าสู่ช่วงพ้นวาระ

 

การสนทนาครั้งที่ 3 นี้เป็นการสนทนาพิเศษกับ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ดาว สว. คนสำคัญ ซึ่งเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาตั้งแต่รับราชการ เป็นหมอนิติเวชมือชันสูตรคดีดังในอดีตหลายคดี ผู้ที่มีไลฟ์สไตล์การแต่งตัวอันโดดเด่นโดยเฉพาะสีผม 

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เปิดบ้านย่านสะพานสูง ต้อนรับทีมข่าว THE STANDARD พร้อมเปิดใจทุกเรื่อง หลังพ้นวาระการเป็น สว. ชุดที่ 12 ออกปากยอมรับด้วยตัวเองว่า 5 ปีที่ผ่านมา การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ไม่ขอโทษใคร 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เปิดบ้านต้อนรับทีมข่าว THE STANDARD 

พร้อมเปิดใจทุกเรื่อง หลังพ้นวาระการเป็น สว. ชุดที่ 12 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“ที่นี่ไม่ใช่ที่ของหมอ”

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ นั่งบนโซฟาสีเทาภายในบ้านพักย่านสะพานสูง บอกเล่าความรู้สึกการทำงานในฐานะ สว. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า ก่อนเป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 12 ได้พูดคุยกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ณ เวลานั้น) และได้รับคำตอบว่า “ถ้าอยากเป็นก็ไปสมัคร” 

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวต่อว่า เราก็พอที่จะจับสัญญาณได้ ว่าเขาอยากให้เราทำหรือไม่ สนับสนุนเราหรือเปล่า แต่การที่เขาพูดกับเราเช่นนั้นอาจหมายความว่า เขาเองก็น่าจะมีโควตาผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้จำนวนมากเช่นกัน จึงยื่นข้อเสนอมาว่า หากอยากเป็น สว. ก็ให้ไปลงสมัคร เราจึงเลือกที่จะเดินทางไปสมัครด้วยตัวเอง และในตอนแรกเกือบไม่ได้เป็น สว. แล้วด้วยซ้ำ 

 

สว. วัย 69 ปี เล่าให้ THE STANDARD ฟังต่อว่า ตนเองสนใจเรื่องของไทยแลนด์ 4.0 มานานแล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่าในพื้นที่ท้องถิ่น โดยมองว่างานคราฟต์ (อาชีพที่ต้องใช้ฝีมือ) คือการเริ่มต้นสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

 

การดำรงตำแหน่ง สว. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ตนเองมีผลงานที่ภูมิใจมีเพียงสิ่งเดียวคือ การได้มีส่วนร่วมคิดค้นการพัฒนาแพลตฟอร์มชื่อว่า ‘ย่านล้านนาสร้างสรรค์’ (Creative Lanna Community Platform) เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปช่วยเหลือชุมชน 

 

“เราจะทำอย่างไรเพื่อให้มีฐานข้อมูล หากเราจะไปเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ ไปตามสถานที่ต่างๆ วัด ร้านอาหาร มีงานคราฟต์อยู่ตรงไหนบ้าง ที่จะสามารถสร้างรายได้กับคนในชุมชนได้ นี่เป็นสิ่งเดียวที่ภูมิใจ เพราะเราเป็นคนริเริ่ม และคิดด้วยตัวเอง เราเป็นคนชอบแต่งตัว เป็นคนชอบทำงานนอกกรอบ ไม่ใช่การลงพื้นที่ไปดูน้ำแล้งดูดิน เพราะเราทำอะไรไม่ได้”

 

ผลงานนี้เราไปพูดแล้ว หลายคนอาจไม่เข้าใจ แต่เราได้พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แม้จะไม่ได้ออกมาเป็นผลงานชิ้นใหญ่ เพราะมันออกมาไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่นโยบายของสภา ไม่ใช่นโยบายของ สว. ผลงานอาจไม่เหมือนคนอื่น เพราะการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก 

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นั่งปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ อธิบายต่อว่า ตนเองไม่ได้ต้องการตำหนิใคร และไม่อยากให้เพื่อน สว. คนอื่นรู้สึกว่า ‘ยกตนข่มท่าน’ แต่รู้สึกว่า ‘ที่นี่ไม่ใช่ที่ของหมอ’

 

ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นยามที่มีการทำรัฐประหาร หรือยามที่สถานการณ์การเมืองปกติ เรายังก้าวไม่พ้นความเกรงใจ ซึ่งความเกรงใจนี้ยังมีอยู่ในหมู่นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล หรือตำรวจ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาสูงหรือสภาล่าง 

 

แล้วเหตุใดหมอถึงไม่พูดถึงทหาร พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ถามกลับ THE STANDARD ก่อนจะเฉลยว่า ก็เพราะเอาเข้าจริง ทหารจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็ต่อเมื่อมีการยึดอำนาจทำการรัฐประหารเท่านั้น แต่หากในช่วงเวลาปกติ เราในฐานะเคยเสนอกฎหมายของรัฐสภา เห็นว่าหากเราดำเนินการเรื่องกระบวนการยุติธรรมก็จะมีตำรวจคอยขวางตลอด 

 

ยกตัวอย่างเช่น เรามองเห็นว่า มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องต่อกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ในการทำงาน เราก็ไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้ เราเองก็ไม่เข้าใจ 

 

อึดอัดที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ไม่ใช่เพราะคนอื่นไม่ดี 

แต่เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา และไม่ใช่เวลาของเรา

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ขณะกำลังสนทนากับ ‘คำนูณ สิทธิสมาน’ และเพื่อน สว.
ระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

“มีความคิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า สว. เป็นทายาทของ คสช.” THE STANDARD ถาม

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ‘ใช่’ เพราะไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองแล้วต่างก็อยากมีแบ็ก เพื่อไม่ให้มีการกระเพื่อมทั้งนั้น และ สว. ก็เป็นแบ็กส่วนหนึ่งที่จะสามารถช่วยได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทำการรัฐประหารอยากจะคงหลักการบางอย่างไว้ 

 

ขณะเดียวกัน เป็นธรรมดาของหลักการที่คนทำการรัฐประหารพยายามเอาคนของฝ่ายเขาเข้าไปให้มากที่สุด แต่สำหรับหมอนั้น ด้วยปฏิกิริยาของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่เล่าไปตั้งแต่ตอนต้น คิดว่าตัวเองน่าถูกยัดๆ เข้าไปในโควตาลำดับท้ายๆ (หัวเราะ) 

 

5 ปี ไม่ภูมิใจ และไร้ผลงาน

 

“หากให้พูดถึงผลงานอื่น นอกจากการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘ย่านล้านนาสร้างสรรค์’ ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีผลงานที่ภูมิใจอื่นๆ อีกหรือไม่” THE STANDARD ถาม 

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ส่ายหน้า พร้อมกล่าวว่า ‘ไม่มีเลย’ และอธิบายให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น เช่น กฎหมายต่างๆ ที่เราพยายามเสนอเข้าไป แต่สุดท้ายก็ถูกดันออกหมด เราในฐานะคนที่สนใจเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และทำเรื่องนี้มาเกือบทั้งชีวิต กล้าพูดอย่างเต็มปากเต็มคำ เมื่อเข้ามาทำงานในสภาแล้ว ‘ไม่มีผลงานอะไรเลย ไม่มีจริงๆ’

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ระหว่างเข้าร่วมการอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ของประชุมสมาชิกวุฒิสภา 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

“รู้สึกภาคภูมิใจกับตำแหน่งนี้ไหม” THE STANDARD ถามต่อ

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ตอบว่า ‘ไม่เลย’ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่า ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ แต่ถ้าถามว่าวันนี้รู้สึกอะไร ก็รู้สึกเหมือนเดิม คือตรงนี้ไม่ใช่ที่ของเรา และเมื่อหมดวาระแล้ว หากให้กลับมาอีกก็คงไม่มาแล้ว 

 

ตอนเป็นข้าราชการของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีอุปสรรคมากมายไม่ต่างจากการเป็น สว. เลย แต่เรายังพอที่จะเดินได้ แต่เป็น สว. ถูกห้ามโน่นห้ามนี่เยอะมาก

 

อย่างกรณีการเสียชีวิตของ แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ นักแสดงชื่อดัง เราซักถามอะไรก็ไม่ได้ ทั้งยังถูกตำหนิอีกว่า นี่ไม่ใช่หน้าที่ สว. ตอนปฏิบัติหน้าที่ สว. เราไม่ได้เหนื่อยเลย เพราะทำอะไรมากไม่ได้ ตอนเป็นข้าราชการ แม้จะทำอะไรมากไม่ได้ แต่เราก็สู้และยังพอขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ได้ 

 

“ถ้าต้องให้คะแนนตัวเองตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จะให้เท่าไร” THE STANDARD ถาม 

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ตอบว่า “น่าจะได้ประมาณ 6 เต็ม 10 คะแนน เพราะในแง่ผลสัมฤทธิ์นั้นหมอไม่ค่อยได้ทำอะไรเท่าไร แต่ก็สามารถประคองตัวเองทำหน้าที่ในมุมของตัวเองที่ทำในเชิงรุกได้ ก็ขอให้แค่ 6 คะแนน”

 

ก้าวไกลแนวคิดดี แต่ไม่ต่างจากระบอบทักษิณ 

 

นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ สว. ชุดที่ 12 ทั้ง 250 คน ได้สิทธิในการเลือกนายก​​รัฐมนตรีร่วมกับ สส. ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดอนาคตของประเทศ ตามบทเฉพาะกาลที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ระบุไว้ THE STANDARD ถามว่า “คุณหมอมีความเห็นอย่างไร กับการที่ สว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี” 

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ตนเองสนใจการเมืองมานาน ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง เราจึงมีความคิดว่า ‘ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องสมมติ’ 

 

“ประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องสมมติ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นเรื่องสมมติ หมายความว่า มันไม่ใช่หลักธรรมชาติที่จะเป็นอมตะนิรันดร์กาล ทำไมถึงคิดเช่นนี้ เพราะระบอบประชาธิปไตยแบบดั้งเดิมที่มี 2 สภา ยุโรปเป็นคนคิด และหลายประเทศก็มี สว. มาจากการแต่งตั้ง แล้วทำไมต่างประเทศถึงไม่มีปัญหา อาจเป็นเพราะคุณภาพของคน และคุณภาพของกระบวนการยุติธรรมมันดี”

 

อย่างการเลือกนายกรัฐมนตรีในปี 2562 เขาให้เลือกเพื่อที่จะได้นายกรัฐมนตรีที่เข้ามามอนิเตอร์การปฏิรูปประเทศ และเมื่อเราได้ฟังตามตัวหนังสือแบบนั้น เราเห็นแคนดิเดตทั้ง 2 คน เป็นที่ชัดเจนว่า คนหนึ่งปฏิรูป 100% ส่วนอีกคนไม่ปฏิรูป 100% จึงไม่ขอเลือก 

 

แต่เมื่อเราได้นายกรัฐมนตรีเข้ามาแล้ว เราก็เห็นว่า ทหารเมื่อเข้ามามีอำนาจสู่การเมืองปกติ และตัวหนังสือที่ได้เขียนไว้ (การปฏิรูป) ที่จะเป็นกรอบให้เราได้เดินตาม กลับไม่ได้สานต่อเรื่องนี้เลย และทิ้งให้ระบบราชการเป็นผู้ปฏิรูป 

 

ทิ้งขว้างเลย หมอก็เลยรู้สึกว่า สว. ไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว 

เราจึงขอถอย โดยไม่ขอใช้สิทธิ

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ภายหลังเสร็จการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เมื่อเข้าสู่หลังการเลือกตั้งในปี 2566 เข้าสู่การเลือกนายกรัฐมนตรี โดยชื่อแรกที่ถูกเสนอเข้ามาคือ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ จากพรรคก้าวไกล เราก็ทำการบ้าน และมองว่าสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง และแนวคิดของพรรคก้าวไกลเป็นแนวคิดที่ (ถ้า) ทำได้ ที่ไม่ใช่เอาแต่พูด เป็น ‘แนวคิดที่ดี’

 

แต่จากการเฝ้าติดตามดู ก็เห็นว่าผู้นำพรรคต้องการเรื่องใหญ่ คือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมอพูดมาตลอด หากคุณไม่แตะ (ม.112) ฉันเลือก ขณะเดียวกันตอนนั้นก็เริ่มใจอ่อน และรู้สึกว่าเราอาจเลือกนายกรัฐมนตรีกันได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่ใช่ปัญหาของประชาชนเลย  

 

แต่ปรากฏว่า จากการที่มีแกนนำพรรคก้าวไกลมาพูดคุยด้วย ก็ได้รับคำตอบค่อนข้างชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลมี Key Person ที่ทำให้เปลี่ยนเรื่องนี้ได้ยาก แต่ทั้งหมดทั้งมวล ถ้าถามหมอ หมอว่าระบอบและวิธีคิดแบบนี้ก็ไม่ต่างจาก ทักษิณ ชินวัตร

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยอมรับว่า ตนเองค่อนข้างประทับใจการทำงานในสภาของ สส. พรรคก้าวไกล หลายคนทำการบ้าน โดยที่เราได้เห็นถึงความตั้งใจนี้ ขณะเดียวกัน เมื่อเรามองกลับไปอีกด้าน พรรคการเมืองเก่าๆ ถึงให้โอกาสคนรุ่นใหม่แล้ว แต่ทำไมยังต้องการการเมืองรูปแบบเดิม 

 

“ใครที่เป็นคนอุปถัมภ์พรรค ให้เงินสนับสนุนพรรค ต้องเป็นรัฐมนตรี เราก็เบื่อ และไม่รู้จะไปทางไหน จึงขอใช้สิทธิงดออกเสียง โดยไม่เลือกใคร ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ”

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นั่งปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

“เมื่ออยู่ท่ามกลางความอึดอัด ทำอะไรมากก็ไม่ได้ อย่างการเลือกนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้ง หลังการเลือกตั้ง 2566 คุณหมองดออกเสียงทั้ง 2 ครั้ง มีคนหลายคนมองว่าแล้วทำไมถึงยังเลือกที่จะอยู่ และทำไมไม่ลาออกเพื่อให้พ้นจากระบอบนี้ไป” THE STANDARD ถามต่อ 

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ตอบกลับว่า “เพราะหมอเป็นคนมีความหวังตลอดชีวิต”

 

คนที่คิดว่า เมื่อเราทำอะไรไม่ได้ แล้วทำไมถึงไม่เลือกที่จะลาออกไป คนที่คิดแบบนี้คือคนที่คิดแบบ ‘กำปั้นทุบดิน’ เมื่อลิขิตชีวิตให้เราต้องทำหน้าที่ สว. แล้ว หมอก็ยังมีความหวังและรอจังหวะเวลาเสมอ แต่เมื่อระยะเวลาได้ผ่านไป และเราไม่เห็นความหวังนั้น แต่เชื่อว่าเราทำดีที่สุดแล้ว 

 

อย่างตอนคดีบอส อยู่วิทยา เราก็คิดว่าจะมีโอกาสได้ทำ แต่สุดท้ายก็ไม่มี หรือแม้แต่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ก็คิดว่าจะมีโอกาสได้ผลักดันให้สำเร็จ แม้เราพยายามแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จอีก

 

หมอก็ใช้ชีวิตทุกวันให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ภายหลังเสร็จการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“ช่างหัวมัน” เมินทุกทัวร์

 

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ‘สว.ชุดเฉพาะกาล’ ทั้ง 250 คนตกเป็นตำบลกระสุนตก  ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอด โดยเฉพาะ #สว.มีไว้ทำไม ถูกตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของ สว. อย่าง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เองก็โดนโจมหนัก ขณะท่องเที่ยวในประเทศไอซ์แลนด์ เนื่องจากไม่พอใจการทำหน้าที่ สว. 

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้รองรับเรื่องพวกนี้ พร้อมทั้งมองว่า สังคมเปลี่ยนไป บริโภคข้อมูลเพียงด้านเดียวโดยไม่เสาะแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่ม และเรื่องนี้จะไม่ได้กระทบแค่ สว. แต่จะกระทบต่อทุกเรื่องในอนาคตอีกด้วย 

 

เราเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด ว่าทำไมถึงพูดแบบนั้น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเป็นอย่างไร เพราะเราเข้าใจว่าสังคมก็เป็นแบบนี้แหละ เปลี่ยนไปตามน้ำ เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เป็นความรู้สึกที่เบื่อคนนี้ อยากได้คนนี้ ไม่อยากได้คนนี้ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไป แต่ขอเตือนว่า ใครก็ตามที่เข้ามาอยู่หน้าแสง คุณแข็งแรงพอหรือยัง แต่สำหรับหมอนั้นไม่ว่าจะบูลลี่แค่ไหนเราสบายมาก ใครจะว่าอย่างไร ‘ก็ช่างหัวมัน’ ไม่ได้รู้สึกอะไร

 

เราจะเดินเข้าไปในกองขี้ทำไม เหม็นก็เหม็น สกปรกก็สกปรก เดินไม่ดีก็เหยียบโดนอีก เลือกที่จะไม่อ่าน และจะไม่สนใจเลยด้วย แต่เราก็แค่ต้องระมัดระวังตัวเอง ไม่เข้าไปอยู่ใกล้ๆ เพื่อไม่ทำให้เขารู้สึกรำคาญ

 

ตนเองทราบดีว่า กระแสการวิพากษ์วิจารณ์นี้ เวลาเกลียดก็จะเกลียดมากๆ และไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นก็พยายามที่จะไม่เข้าใกล้ พร้อมทั้งพยายามที่จะเรียนรู้กับพลังลบ เรื่องแฮชแท็กนี้ (สว.มีไว้ทำไม) เหมือนเป็นตัวอย่างหนึ่งของสังคมไทยในปัจจุบัน

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ภายหลังเสร็จการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD 

ยืนบริเวณด้านหน้าบ้านพัก ย่านสะพานสูง 

โดยมีท้องฟ้าและต้นไม้เขียวเป็นแบ็กกราวด์ 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

มุ่งหน้าสู่ทางธรรม จากลาการเมืองไทยตลอดกาล

 

“ตอนนี้น่าจะเลยความกังวลใจไปแล้ว สังคมไทยยังวนในอ่าง สุดท้ายแล้วก็เชื่อว่าประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็คุ้มครอง เลยรู้สึกว่าไม่ได้เป็นกังวลอะไรมาก และเราไม่รู้จะห่วงไปทำไม เพราะมันทำอะไรมากไม่ได้” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ตอบหลังถูกถามถึงความกังวลใจหลังพ้นวาระไป 

 

เชื่อว่าสุดท้ายแล้วประเทศไทยจะสามารถเซ็ตตัวได้

 

หลังจากนี้คงมุ่งหน้าสู่ทางธรรม และเดินตามรอยประวัติศาสตร์แผ่นดินไทยในรูปแบบสบายๆ ด้วยวิธีที่ไม่งมงาย และเข้าใจพื้นฐานของธรรมชาติ ส่วนตัวเป็นคนที่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม และไม่ได้เชื่อในสิ่งที่เลื่อนลอย

 

สิ่งที่กำลังดำเนินการหลังจากพ้นวาระคือ สานต่องานที่เกี่ยวข้องกับพ่อขุนผาเมือง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีคนมาทักว่าเราต้องไปขอขมาท่าน เราก็ไม่เข้าใจ แต่พอไปทำแล้วก็รู้สึกว่าทำแล้วสบายใจและสนุก หลังจากนี้มีภารกิจที่ได้ค้นเจอพระพุทธรูปเก่าตั้งแต่สมัยพ่อขุนผาเมือง โดยมีความตั้งใจว่า อยากจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไป แต่ก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้อาจเปิดสถาบันหรือโรงเรียนสอนแก่บุคคลที่สนใจด้านนี้ด้วย 

 

“สนใจกลับมาเล่นการเมืองอีกไหม” THE STANDARD ถาม 

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ตอบว่า ‘ไม่มีวัน’ ก่อนหน้านี้ก็มีกลุ่มพรรคการเมืองมาทาบทามเป็นลงสมัคร ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมบอกเราว่า หมอเป็นเพียงคนเดียวที่มีความนิยมโดยไม่ใช้เงิน แต่ในมุมของหมอเราถนัดเรื่องเดียว คือเรื่องความยุติธรรม เราผ่านมาทุกยุคทุกสมัย ก็คงไม่เอาแล้ว ไม่ทำเด็ดขาด (ยิ้ม) 

 

ถึงประชาชนและ สว.ชุดใหม่

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวถึงบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง สว.ชุดใหม่ ว่าอยากให้ทุกคนตระหนักว่า เมื่อเราได้กระทำใดๆ การกระทำนั้นจะส่งผลต่อตัวเราอย่างแน่นอน อย่าได้ทะนงว่าจะไม่กลับมาโดนตัวเรา ถ้าเราตระหนักถึงพื้นฐานสำคัญที่สุดของหลักการในทุกศาสนา สิ่งใดชั่วสิ่งนั้นไม่มีทางเปลี่ยนเป็นดี และสิ่งดีก็จะสำเร็จได้ด้วยดี

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยังกล่าวปิดท้ายถึงประชาชนที่รักทุกคนว่า ประชาชนต้องปรับวิธีคิด เราไม่มีหน้าที่ต้องตอบแทนบุญคุณ เพียงเพราะเขาได้ให้ (เงิน) เรามา เราต้องคิดให้รอบคอบว่า มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องในทางธรรมหรือไม่ ดังนั้นหากเราไม่เริ่มปรับวิธีคิด ประเทศไทยก็จะก้าวข้ามไม่พ้นการเป็นหนี้บุญคุณ วงจรของสังคมไทยที่ ‘โง่ จน เจ็บ’ ก็จะไม่เคยถูกเบรกด้วย

 

“เราทุกคนต้องตระหนัก ต้องตื่นรู้ได้แล้ว ต้องช่วยกันเพื่อสร้างสังคมที่ดี อย่าไปคิดว่า สส. สว. จะเป็นตัวแทนของเรา ตัวเราทุกคนต้องช่วยกันป้องกันคนที่ไม่ดี” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว และจบการสนทนากับ THE STANDARD

 

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ภายหลังเสร็จการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising