×

เจาะดราม่าญาติคนไข้-หมอโต้เถียงกันรุนแรง ปัญหาอยู่ที่ ‘คน’ หรือ ‘ระบบ’

07.11.2022
  • LOADING...
เจาะดราม่าญาติคนไข้-หมอโต้เถียงกันรุนแรง

หลายท่านน่าจะเห็นคลิปญาติคนไข้-หมอโต้เถียงกันอย่างรุนแรงที่โรงพยาบาลเชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันก่อน (4 พฤศจิกายน) บางช่วงบางตอนในคลิปคือญาติถามหมอที่นั่งก้มหน้ามองโทรศัพท์มือถืออยู่อีกฝั่งของโต๊ะว่า “เป็นแพทย์ทำไมไม่บริการลูกค้า” แล้วหมอคนนั้นตอบว่า “หมอไม่ใช่ผู้บริการ แต่เป็นผู้บริบาล อยากถ่ายคลิปก็ถ่ายไป”

 

และที่ฉีกทุกตำรา ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ คือเมื่อญาติถามว่า “ถ้าเป็นญาติคุณมา…” แล้วหมอตอบว่า “ฉันก็จะทำแบบนี้เหมือนกัน ถ้าญาติฉันโง่ขนาดนี้”

 

ความขัดแย้งระหว่างคนไข้-หมอ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อย บางครั้งก็เป็นความคิดในใจว่า “ทำไมหมอไม่…” ส่วนฝั่งหมอเองก็อาจสงสัยว่า “ทำไมคนไข้ถึงไม่…” หรือถ้าจะขยายภาพให้กว้างขึ้น ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นทุกจุดที่คนไข้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรของโรงพยาบาล เช่น คนไข้-พยาบาลคัดกรอง คนไข้-ผู้ช่วยพยาบาล

 

ถ้าความคาดหวังไม่ตรงกันก็มักจะขัดแย้งกัน บางคนอยากสอบถามเพิ่มเติม แต่พยาบาลคัดกรองตอบห้วนๆ ยิ่งถ้าคนไข้มาไม่ตรงนัดก็อาจโดนดุด้วย ทว่าจุดแตกหักมักจะเป็นที่ห้องตรวจ เพราะคนไข้จะได้ในสิ่งที่ต้องการหรือไม่อยู่ตรงนี้ บางคนอยากได้ยา บางคนอยากเจาะเลือด บางคนอยากได้ใบรับรองแพทย์ (หยุดงาน) บางคนอยากนอนโรงพยาบาล

 

แต่ถ้าหมอบอกว่า “ไม่ได้” ขึ้นมา แล้วคนไข้หรือญาติคิดว่า “ยังไงก็ต้องได้” ก็จะเกิดความสงสัยหรือโต้แย้งกันขึ้นมา

 

ความเจ็บป่วย vs. โรค

 

เหตุการณ์ลักษณะนี้เขียนแทนด้วยภาพวงกลม 2 วง ฝั่งหนึ่งเป็นมุมมองของคนไข้และญาติ อีกฝั่งเป็นของหมอ แนวคิดการดูแลแบบองค์รวม (Hoslistic Care) จะเรียกมุมมองของคนไข้ที่มีต่ออาการป่วยว่า ‘ความเจ็บป่วย’ (Illness) และเมื่อแพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ส่งตรวจเพิ่มเติม และวินิจฉัยโรค ก็จะเกิดเป็นมุมมองของหมอขึ้นมาว่า ‘โรค’ (Disease)

 

 

มุมมองของคนไข้ประกอบด้วยความคิด (Idea) ความรู้สึก (Feeling) ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน (Function) ความคาดหวัง (Expectation) ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งส่วนบุคคล-ครอบครัว-สังคม ในขณะที่มุมมองของหมอประกอบขึ้นมาจากความรู้วิชาการ ประสบการณ์ในการรักษา และจริยธรรมทางการแพทย์

 

บางครั้งวงกลม 2 วงนี้ซ้อนกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น คนไข้มีอาการปวดหลัง พอหมอซักประวัติ ตรวจร่างกายเสร็จบอกว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ คนไข้ก็พยักหน้าแล้วบอกต่อว่าสงสัยวันก่อนไปยกของหนักมา ต่อไปจะยกของให้ถูกวิธี

 

บางครั้งวงกลม 2 วงนี้ก็ซ้อนกันไม่มาก เช่น คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย พอหมอซักประวัติ ตรวจร่างกายเสร็จบอกว่าเป็นกล้ามเนื้อหรือกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ แต่คนไข้ไม่สบายใจ กังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจ อยากตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

หมอบางคนไม่ได้ถามว่าคนไข้กังวลอะไร สั่งยากลับบ้านเลย 

 

บางคนตอบว่า “ไม่ได้” แต่ไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม คนไข้อาจกลับบ้านไปพร้อมกับความเจ็บป่วยเหมือนเดิม 

 

บางคนตอบว่า “ไม่ได้” แล้วพยายามอธิบายให้เข้าใจความแตกต่างระหว่าง 2 โรคนี้ ความเจ็บป่วยของคนไข้อาจหายไปเกือบทั้งหมด แต่ก็ต้องใช้เวลาในการพูดคุย

 

บางคนตอบว่า “ได้” เพราะไม่อยากต่อความยาวสาวความยืด พอผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ คนไข้ก็กลับบ้านไปพร้อมกับความสบายใจ

 

บางครั้งวงกลม 2 วงนี้ก็แทบจะไม่ซ้อนกันเลย เช่น คนไข้เวียนศีรษะบ้านหมุน หมอซักประวัติ ตรวจร่างกาย บอกว่าจะให้ยากลับไปกินที่บ้าน แต่คนไข้บอกว่ากลับบ้านไม่ไหว ขอนอนโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือ กลัวกลับบ้านไปแล้วจะอาการหนัก และบ้านอยู่ไกล ถ้าเป็นอะไรจะไม่มีคนพามาส่ง

 

กรณีนี้หมอประเมินแล้วว่า ‘โรค’ นี้ไม่รุนแรง สามารถรักษาที่บ้านได้ และไม่มีข้อบ่งชี้ (Indication) หมายถึงเงื่อนไขในการนอนโรงพยาบาล เช่น อ่อนเพลียมาก ต้องสังเกตอาการใกล้ชิด ระดับเกลือแร่ผิดปกติ

 

แต่คนไข้คิดว่า ‘ความเจ็บป่วย’ นี้รุนแรง และยังมีความกังวลต่างๆ นอกจากตัวโรคทางกาย คนไข้ที่มีอาการแบบนี้บางคนก็งดอาหารจากบ้านมาแล้ว อยากรู้ระดับไขมันในเลือด หมอก็ต้องสั่งเจาะเลือดให้

 

อีกตัวอย่างที่วงกลม 2 วงนี้ไม่ค่อยลงรอยกันคือ การใช้ ‘ยา’ และ ‘สมุนไพร’ คนไข้โรคเรื้อรังหลายคนคิดว่าถ้ากินยาเยอะแล้วจะมีผลต่อไต ในขณะที่หมอมองว่าถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตได้ ไตก็จะไม่เสื่อม ส่วนสมุนไพร หมอมักมองว่ามีผลต่อตับหรือไต แต่คนไข้มองว่าสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่จะช่วยควบคุมโรคได้

 

กรณีคลิปญาติคนไข้-หมอโต้เถียงกัน

 

กลับมาที่โรงพยาบาลเชียงแสน จากคลิปเรายังไม่เห็นที่มาที่ไปของการโต้เถียงกันเท่าไรนักว่าคนไข้มีความเจ็บป่วยอะไร และหมอวินิจฉัยโรคอะไร คนไข้และญาติต้องการอะไร และก่อนหน้านั้นหมอให้คำแนะนำอะไรไปแล้วบ้าง แต่จากการแถลงข่าวของ นพ.สุขชัย เธียรเศวตตระกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 และข้อมูลจากญาติ สรุปได้ว่า

 

เหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นที่ห้องฉุกเฉิน เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 คนไข้เป็นหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ประมาณ 3 เดือน มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ มาโรงพยาบาลด้วยอาการแพ้ท้อง อาเจียนบ่อย กินไม่ได้ อ่อนเพลีย 

 

หมอสั่งการรักษาด้วยการฉีดยาแก้อาเจียน แต่คนไข้ไม่ต้องการฉีดยา เพราะเคยฉีดแล้วหายใจไม่ออก ขอนอนโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือ เมื่อหมอไม่ทำตามที่คนไข้ร้องขอ คนไข้จึงไม่พอใจและเรียกญาติเข้ามาในห้องฉุกเฉิน 

 

ทางโรงพยาบาลทบทวนมาตรฐานการรักษาพยาบาลพบว่า “เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน” และให้หมอในคลิปหยุดปฏิบัติงานเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างรอผลการตรวจสอบโดยละเอียด

 

แสดงว่าวงกลม 2 วงแทบจะไม่ซ้อนกันเลย คนไข้และญาติมองอย่างหนึ่ง ความเห็นหมออีกอย่าง แต่ทางโรงพยาบาลได้ยืนยันว่าวงกลมฝั่ง ‘โรค’ เป็นไปตามมาตรฐานแล้ว ที่เหลือคือจะสื่อสารเพื่อขยับวงกลมฝั่ง ‘ความเจ็บป่วย’ มาซ้อนกันได้อย่างไร

 

เหตุการณ์นี้อาจเป็นปัญหาระดับ ‘บุคคล’ คือถ้าหมอควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับญาติคนไข้โดยตรง และมีทักษะในการสื่อสาร ใช้เหตุผลในการพูดคุยว่าทำไมถึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล คนไข้มีทางเลือกอื่นในการรักษาหรือไม่ ข้อดี-ข้อเสียของการรักษาแต่ละแบบเป็นอย่างไร ความขัดแย้งก็คงไม่บานปลายเป็นการโต้เถียงที่รุนแรง

 

หรือในกรณีที่คนไข้และญาติยังไม่เข้าใจ ‘โรค’ ก็อาจซักถามเพื่อค้นหา ‘ความเจ็บป่วย’ ของคนไข้ และญาติก็จะสามารถให้คำปรึกษาและรักษาได้ตรงกับปัญหาที่แท้จริง

 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปกติหมอคนนี้ทำงานได้ดี มีจิตอาสา มีงานบริการที่ไหนก็จะอาสาไป แต่เป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวน จนเกิดกรณีคล้ายกันนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

 

ด้าน พล.อ.ท. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กในวันเดียวกันว่าได้รับเรื่องร้องเรียน และประสานผู้บังคับบัญชาของหมอดังกล่าวเพื่อขอข้อเท็จจริง หลังจากนั้นจะตั้งกรรมการพิจารณาว่าพฤติกรรมนี้เข้าข่ายการดูแลผู้ป่วยโดยไม่สุภาพและเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์วิชาชีพในระดับใด เพื่อให้กรรมการแพทยสภาพิจารณาโทษต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือ ‘ระบบ’ การดูแลคนไข้ ถ้าปัญหาอยู่ที่หมอยังสื่อสารกับคนไข้ได้ไม่ดี ก็ต้องวิเคราะห์สาเหตุว่าก่อนหน้านั้นมีคนไข้จำนวนมากหรือคนไข้อาการหนัก ทำให้หมอต้องรีบตรวจ และไม่มีเวลาคุยกับญาติหรือไม่

 

หรือเป็นเพราะตารางการทำงานที่อยู่เวรติดต่อกันหลายวัน พักผ่อนน้อย ทำให้หมออารมณ์เสียหรือหงุดหงิดได้ง่าย

 

เป็นไปได้หรือไม่ว่าโรงพยาบาลจะมีทีมสหวิชาชีพเข้ามาช่วยสื่อสารแทน โดยเฉพาะกับคนไข้ที่มีความคาดหวังสูง และกำหนดเป็นแนวทางของโรงพยาบาลว่าถ้าคนไข้ยืนยันว่าต้องการนอนโรงพยาบาล หมอและพยาบาลควรปฏิบัติอย่างไรต่อ รวมถึงในกรณีที่เกิดการโต้เถียงกันรุนแรง เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีระบบควบคุมเหตุการณ์ เช่น ให้พยาบาลหัวหน้าเวรรีบเข้าไปไกล่เกลี่ย 

 

นอกจากนี้ระบบการเรียนหมอจะต้องปรับปรุงวิธีการสอนที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งอาจส่งผลให้หมอปฏิบัติเช่นนั้นกับคนไข้โดยไม่ตระหนักถึงความไม่เหมาะสม

 

ผศ.นพ.คมสันต์ วรรณไสย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าสอนนักศึกษาแพทย์แบบเข้าใจและให้เกียรติในตัวนักศึกษาแพทย์” ไม่ด่าด้วยถ้อยคำแรงๆ ไม่กดขี่ด้วยวาจา ไม่ทำให้เขาอายต่อหน้าคนหมู่มาก หรือไม่เอาความหงุดหงิดจากที่ทำงานมาลงที่นักศึกษา “เราก็จะได้หมอที่เข้าใจและให้เกียรติคนไข้”

 

โดยสรุปเมื่อทำความเข้าใจกรณีญาติคนไข้-หมอโต้เถียงกันอย่างรุนแรงผ่านแนวคิดความเจ็บป่วย-โรค จะเห็นมุมมองต่ออาการป่วยที่ไม่ตรงกัน ทั้งฝั่งหมอและฝั่งคนไข้จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์มักนำไปสู่การแก้ไขในระดับ ‘บุคคล’ ขณะเดียวกันควรวิเคราะห์สาเหตุของเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันแต่ไม่รุนแรงหรือไม่เป็นข่าว เพื่อแก้ไขในเชิง ‘ระบบ’ ด้วย เช่น ภาระงาน ระบบการสื่อสาร วัฒนธรรมองค์กร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising