×

แพทย์ เผยหมูป่า 5 ชีวิตสุดท้ายปลอดภัยดี ผลตรวจ 4 คนแรกไม่พบเชื้ออันตราย

11.07.2018
  • LOADING...

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2561) ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมนายแพทย์สำเริง สีแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้รับมอบหมายให้เป็นโรงพยาบาลหลักด้านการรักษา และควบคุมป้องกันโรคแก่สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายและโค้ช ซึ่งได้ทยอยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 8-10 กรกฎาคม 2561 ครบทั้ง 13 คน เรียบร้อยแล้ว



โดยผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 จำนวน 4 คน อายุ 14-16 ปี เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2561 ล่าสุดเช้านี้ อาการโดยรวมทุกคนสดชื่นดี สามารถลุกนั่ง ทำกิจวัตรประจำวัน รับประทานอาหารปกติได้ โดยเริ่มจากอาหารที่มีพลังงานตามที่ร่างกายของผู้ป่วยควรได้รับ (1,800-2,000 กิโลแคลอรี) ทีมแพทย์อนุญาตให้ญาติเยี่ยมผู้ป่วย โดยญาติได้สวมชุดป้องกัน ตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรค อยู่ห่างจากเด็กในระยะ 2 เมตร และงดการสัมผัสผู้ป่วย



ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 จำนวน 4 คน อายุ 12-14 ปี ที่เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2561



ล่าสุดเช้านี้ อาการโดยรวมทุกคนสดชื่นดี พูดคุยโต้ตอบได้ดี ไม่มีไข้ รับประทานอาหารปกติแล้ว ขณะนี้ไม่ต้องปิดตา สามารถมองสู้แสงได้ดี ผลตรวจเอกซเรย์ปอดปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทีมแพทย์อนุญาตให้ญาติเยี่ยมผู้ป่วย โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรค อาทิ สวมชุดป้องกัน อยู่ห่างจากเด็กในระยะ 2 เมตร และงดการสัมผัสผู้ป่วย



ผู้ป่วยกลุ่มที่ 3 จำนวน 5 คน ทยอยเดินทางมาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่เวลา 18.34 น. ของวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 อายุ 11-25 ปี ผลการตรวจประเมินจากทีมแพทย์ พบแรกรับสัญญาณชีพ ความดันโลหิตดี ไม่มีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ ผลเอกซเรย์พบมีปอดอักเสบเล็กน้อย 1 คน ผู้ป่วยทุกคนทีมแพทย์ได้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักและพิษสุนัขบ้า ให้วิตามินบี 1 และยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำตามแผนการรักษา และวางแผนให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินร่างกายโดยละเอียดอีกครั้ง ได้แก่ ประเมินสายตาและการมองเห็น โภชนาการ และสภาวะจิตใจ ทั้งนี้ ได้ส่งตัวอย่างเพื่อหาเชื้อไวรัสโรคอุบัติใหม่ที่อาจพบได้ พร้อมกันนี้ ทีมแพทย์ได้อนุญาตให้ญาติเยี่ยมผู้ป่วยผ่านห้องกระจกตามเวลาที่กำหนด



สำหรับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ส่งตรวจเพิ่มเติมที่กรุงเทพฯ ในผู้ป่วยกลุ่มแรกตรวจไม่พบเชื้อโรคติดต่อประจำถิ่นที่เป็นอันตราย (โรค Melioidosis, Leptospirosis, Scrub Typhus, Nipah Virus) ส่วนการตรวจอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการตรวจเพิ่มเติม



สำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้ให้บัตรเฝ้าระวังโรค (Health Beware Card) พร้อมคำแนะนำการสังเกตอาการผิดปกติ เช่น หากมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก ภายใน 2 สัปดาห์ ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising