×

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ย้ำชัดพร้อมหลักฐาน ‘ตลาดนัดจตุจักร’ ไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
01.03.2021
  • LOADING...
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ย้ำชัดพร้อมหลักฐาน ‘ตลาดนัดจตุจักร’ ไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19

วันนี้ (1 มีนาคม) ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานแถลงข่าว ‘ไขปริศนา โควิด-19 กับสัตว์ป่า’ ร่วมด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, สมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, ประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา และ นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ 

 

ดร.รุ่งนภากล่าวว่า จากสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ธรรมชาติ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ตลอดจนร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และองค์กรเอกชนระหว่างประเทศหลายองค์กร ในการดำเนินการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ธรรมชาติและโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

 

ขณะที่ผลการศึกษาวิจัยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในสัตว์ป่าที่ผ่านมาทั่วโลกพบว่า ค้างคาวซึ่งเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสโคโรนาหลายชนิด โดยในปี พ.ศ. 2546 พบการระบาดของโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) จากไวรัสโคโรนาที่มีต้นตอมาจากค้างคาวและถ่ายทอดสู่อีเห็น ก่อนระบาดในคน และปี พ.ศ. 2555 พบการระบาดของโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) จากไวรัสโคโรนาที่สามารถตรวจพบได้ในคนและสัตว์หลายชนิด เช่น อูฐ และค้างคาว เป็นต้น ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนาสามารถแบ่ง 4 สกุล (Genus) ได้แก่ อัลฟ่า (Alpha), เบต้า (Beta), แกมม่า (Gamma) และเดลต้า (Delta) โดยในคนพบรายงานการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในกลุ่ม Alpha และ Beta

 

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ, ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยค้างคาวอย่างน้อย 146 ชนิดทั่วประเทศ และพบสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาจากค้างคาวมากกว่า 400 ตัวอย่าง ทั้งที่เป็นไวรัสเดิมที่พบทั่วโลก และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีรายงานการก่อโรคในคน

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจพบเชื้อไวรัสชนิดใหม่ในกลุ่มไวรัสโคโรนาจากตัวอย่างค้างคาวในประเทศไทย แม้ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบการติดเชื้อในคน แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนให้มีการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ไปยังสัตว์อื่น ที่อาจกลายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ในอนาคต รวมทั้งการติดต่อสู่คนได้โดยตรง ซึ่งการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ป่ามาสู่คนนั้น อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด การปนเปื้อนเชื้อโรคจากซากสัตว์ป่า หรือการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า ดังนั้น การป้องกันคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่า งดการล่าหรือการบริโภคสัตว์ป่า และไม่บุกรุก ทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

 

สำหรับการดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอุบัติใหม่และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ 1. การสำรวจไวรัสโคโรนาและเชื้อโรคอุบัติใหม่ในค้างคาวอีก 23 ชนิด รวมทั้งสัตว์ป่าของกลาง สัตว์ป่าพลัดหลง และสัตว์ป่าในธรรมชาติ 2. การวางมาตรการความปลอดภัยในการท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ เช่น ใส่แว่นตา ผ้าปิดจมูก และหมวกคลุมผม 3. มาตรการความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับสัตว์ป่า ด้านสุขอนามัยและอาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน 4. เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนตามคู่มือ ‘การอยู่ร่วมกันกับค้างคาวอย่างปลอดภัย’ และให้คำแนะนำต่างๆ ผ่านสายด่วน 1362 5. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการตรวจตราและเฝ้าระวังและคัดกรองโรคตามด่านตรวจสัตว์ป่าและแนวชายแดน เช่น ด่านปศุสัตว์ ด่านศุลกากร เป็นต้น 6. ปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามและจับกุมผู้ล่า ผู้ค้าสัตว์ป่า และผู้บริโภคสัตว์ป่า ควบคู่กับการให้ความรู้ด้านกฎหมาย

 

ด้านสมปองกล่าวว่า จากกรณีสื่อต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลว่า ‘ตลาดนัดจตุจักร’ อาจเป็นต้นกำเนิดเชื้อโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่นนั้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง โดยตลาดในเขตพื้นที่นั้นคือ ‘ตลาดศรีสมรัตน์’ เป็นตลาดเอกชนที่อยู่ในบริเวณข้างเคียงกับตลาดนัดจตุจักร เป็นตลาดจำหน่ายสัตว์เลี้ยง สัตว์ปีก ปลาสวยงาม ที่มีการลักลอบค้าสัตว์ป่าในอดีต โดยวันที่ 20 มีนาคม 2563 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สำรวจชนิดสัตว์ที่มีการค้าในจตุจักรว่ามีการลักลอบค้าสัตว์ป่าหรือไม่ พร้อมทั้งร่วมลงพื้นที่ทำความสะอาด ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และสุ่มเก็บตัวอย่างเชื้อโรคจากสัตว์ที่มีการค้าในตลาดนัดสวนจตุจักร เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสระดับวงศ์ (Family) ในกลุ่ม Paramyxovirus และ Coronavirus พบว่า

 

  1. กระรอก พบเชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus กลุ่มย่อยชนิด Alpha (ไม่ติดสู่คน) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มย่อยชนิด Beta
  2. กลุ่มแมว พบ (2.1) เชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus กลุ่มย่อยชนิด Alpha (ไม่ติดสู่คน) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มย่อยชนิด Beta (2.2) เชื้อไวรัสในกลุ่ม Paramyxovirus
  3. สุนัข พบเชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus กลุ่มย่อยชนิด Alpha (ไม่ติดสู่คน) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มย่อยชนิด Beta
  4. กลุ่มหนู ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม
  5. เม่นแคระ ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม
  6. กระต่าย ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม
  7. ลิงมาโมเสท ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 
  8. ชูการ์ไกลเดอร์ ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 
  9. เมียร์แคต ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 
  10. หมูแคระ ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 
  11. .แพรี่ด็อก ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 
  12. ชินชิล่า ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม

 

ส่วนการศึกษาวิจัยเชิงรุก ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาวที่พบว่ามีรหัสพันธุกรรมคล้ายคลึงกับ โควิด-19 นั้น ยืนยันว่าเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบไม่สามารถติดต่อมาสู่คนได้โดยตรง

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising