×

D-M-H-T-T-A หยุด! ตัวย่อมาตรการที่ชวนสับสน ประชาชนจำชื่อเต็มได้แค่ไหน

08.10.2021
  • LOADING...
DMHTTA

เดือนตุลาคม 2564 นี้ น่าจะครบรอบ 1 ปีที่ประชาชนได้ยินชื่อมาตรการป้องกันโควิดที่ประกอบด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ 5-6 ตัว คือ ‘DMHTTA’ ซึ่งตอนแรกสุดมีเพียง 3 ตัวอักษร คือ DMH ต่อมาเพิ่มเป็น DMHT และสุดท้าย DMHTTA ที่ชวนสับสน หรือแม้แต่ภาครัฐด้วยกันเองก็ใช้สลับกับ DMHTT จนทำให้ชวนสงสัยอยู่บ่อยครั้งว่า ผู้ที่อ้างถึงมาตรการนี้จำคำเต็มของแต่ละตัวอักษรได้หรือไม่

 

ท่านผู้อ่านล่ะ จำกันได้หรือเปล่า?

 

ก่อนจะเป็นคำย่อ DMHTTA

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2563 คำขวัญที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ในการสื่อสารพฤติกรรมป้องกันโควิดยังไม่ใช่ DMHTTA แต่คือ ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ ซึ่งเป็นคำขวัญที่ใช้กับโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษมาก่อน ต่อมามีผู้ทักท้วงว่าโรคโควิดไม่ควรใช้ช้อนกลางร่วมกัน บ้างก็เปลี่ยนเป็น ‘กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน’ บ้างก็เพิ่มการเว้นระยะห่างเข้ามาเป็น ‘กินร้อน ช้อนกู ถูสบู่ อยู่ห่างกัน’ 

 

หรือ ‘กินร้อน ช้อนกู ต่างคนต่างอยู่ ห่างกู 2 เมตร’ อย่างที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำผ่านสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ต่อมาเดือนเมษายนจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีการรณรงค์ให้จำกัดการทำกิจกรรมว่า ‘โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน’ และเมื่อ ศบค. ประกาศล็อกดาวน์ ก็มีคำขวัญใหม่ว่า ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’

 

จนกระทั่งช่วงเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการระบาดระลอกแรก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. พูดถึงเรื่องการ์ดอย่าตกไว้ 3 ข้อ คือ ‘อยู่ห่างไว้ ใส่มาสก์กัน หมั่นล้างมือ’ ก่อนจะขยายเป็นมาตรการควบคุมหลัก 6 ข้อ ได้แก่ ‘อยู่ห่างไว้ ใส่มาสก์กัน หมั่นล้างมือ ถือหลักสะอาด ปราศจากแออัด เคร่งครัดไทยชนะ’ แต่คำขวัญในช่วงหลังน่าจะไม่ค่อยติดหูหรือใช้พูดกันติดปากสักเท่าไร

 

DMHTTA

ภาพ: Twitter PMOC ศปก.นรม. วันที่ 4 มิถุนายน 2563

 

พัฒนาการของ DMHTTA

ตอนแรกสุดมาตรการนี้มีเพียง 3 ตัวอักษร คือ DMH โดยผู้ที่นำตัวย่อนี้มาใช้ในระดับกระทรวงเป็นคนแรกคือ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ได้พบปะกับสื่อมวลชน กล่าวว่า “ในฐานะที่ตนทำงานกรมสุขภาพจิตมา มีคาถา DMH คือ D-Distancing เว้นระยะห่าง M-Mask สวมหน้ากากอนามัย และ H-Hand Washing ล้างมือ” 

 

สังเกตว่า DMH เป็นชื่อย่อของกรมสุขภาพจิตในภาษาอังกฤษ (Department of Mental Health) และน่าจะเป็นความบังเอิญที่มีลำดับคำตรงกับคำขวัญ 3 คำของ นพ.ทวีศิลป์ พอดี

 

ต่อมาปลายเดือนตุลาคม 2563 มี T-Testing ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ควบคุมโรคเร็ว และต่อเนื่อง เพิ่มมาอีก 1 ตัวเป็น DMHT ตัวย่อนี้บุคลากรทางการแพทย์จะจำง่าย เพราะเป็นตัวย่อของโรคที่แพทย์ใช้อยู่ก่อนแล้ว โดย DM คือเบาหวาน (Diabetes mellitus) ส่วน HT คือความดันโลหิตสูง (Hypertension) ซึ่งผู้ป่วยหลายรายมักพบ 2 โรคนี้พร้อมกัน จึงเรียกติดกันอยู่แล้วว่า ‘ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็น DM HT’

 

DMHTTA

ภาพ: Twitter กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 29 ตุลาคม 2563

 

สำหรับ T ตัวที่ 2 เพิ่มเข้ามาเป็น DMHTT ในช่วงที่เริ่มมีการระบาดระลอกที่ 2 โดยในขณะนั้นหมายถึง T-Thai Chana การสแกนไทยชนะ ถ้าจะให้เฉพาะเจาะจงวันที่เพิ่มตัว T น่าจะเป็นวันที่ 27 ธันวาคม 2564 เพราะในวันที่ 25 ธันวาคม ศบค. เพิ่งประกาศมาตรการป้องกันควบคุมโรคในเทศกาลปีใหม่ไป แต่ยังมีเพียงแค่ 4 ตัวอักษร ถึงแม้จะกำหนดให้มีการสแกนไทยชนะในรายละเอียดก็ตาม

 

DMHTTA

ภาพ: Facebook ศูนย์ข้อมูล COVID-19 วันที่ 27 ธันวาคม 2564

 

หลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับ DMHTT มากกว่า DMHTTA เพราะกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งจะแยก A-Application แอปพลิเคชันไทยชนะออกมาในการระบาดระลอกที่ 3 (น่าจะเป็นช่วงประกาศมาตรการป้องกันควบคุมโรคในเทศกาลสงกรานต์) และแยก ‘T-Temperature’ การตรวจวัดอุณหภูมิออกมาแทนที่ ‘T-Thai Chana’ เดิม ในขณะที่บางหน่วยงาน เช่น ระดับจังหวัด ยังใช้ตัวอักษรย่อแบบเดิมอยู่

 

DMHTTA

ภาพ: Facebook ศูนย์ข้อมูล COVID-19 วันที่ 7 เมษายน 2564

 

ในเมื่อ ศบค. ประกาศใช้ตัวย่อมาตรการ DMHTTA (ถึงแม้จะไม่ได้ระบุในข้อกำหนดที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ข้อสั่งการจาก ศปก.ศบค. ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระบุมาตรการนี้ไว้) ทำให้เวลาได้ยินมาตรการ DMHTT จะเกิดความสับสนว่า ตกลงแล้วจำเป็นต้องใช้สแกนไทยชนะหรือไม่ เพราะบางหน่วยงานอาจยังเข้าใจว่า T ตัวสุดท้ายหมายถึง T-Thai Chana ก็ได้

 

ยกตัวอย่างความลักลั่นของการสื่อสารมาตรการด้วยตัวย่อนี้คือ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชี้แจงมาตรการป้องกันแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ว่าเป็น ‘การยกระดับมาตรการ DMHT (อยู่ห่าง-ใส่มาสก์-ล้างมือ-วัดอุณหภูมิ)’ ทำให้เกิดความสงสัยว่า TA ที่ไม่ได้ถูกยกระดับไปด้วย ยังจำเป็นอยู่หรือไม่

 

โดยเฉพาะ A-Application ที่ในระยะหลัง ศบค. ไม่ได้เน้นย้ำมาตรการนี้เลย และไม่แน่ใจว่ากรมควบคุมโรคยังใช้แอปพลิเคชันไทยชนะในการสอบสวนโรคอยู่หรือไม่ ในขณะที่ประชาชนก็น่าจะไม่ได้สแกนไทยชนะเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์จากแอปพลิเคชันและมีความยุ่งยากในการใช้งาน (ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ควรมีการติดตามและประเมินผลมาตรการนี้) 

 

DMHTTA

ภาพ: Facebook ศูนย์ข้อมูล COVID-19 วันที่ 27 สิงหาคม 2564

 

ล่าสุดในมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-Free Setting) สำหรับเทศกาลกินเจที่ ศบค.มท. สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 มีตัวย่อ UP-DMHTA ซึ่งหมายถึงมาตรการ Universal Prevention ร่วมกับ DMHTA ที่มี T แค่ตัวเดียว เลยไม่ทราบว่า T ที่เหลืออยู่เป็น T อะไร (สันนิษฐานว่าน่าจะเหลือ T-Temperature ไว้ เพราะมีหัวข้อเรื่องการตรวจหาเชื้อด้วย ATK แยกต่างหาก)

 

และที่ตลกร้ายไปกว่านั้น ในแนวทางปฏิบัติสำหรับเทศกาลกินเจของกรมอนามัย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรการ COVID-Free Setting กลับใช้ตัวย่อทั้ง D-M-H-T-T-A และ UP-DMHTA ในประกาศฉบับเดียวกัน ซึ่งอาจถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานกำกับดูแลมาตรการด้านสาธารณสุข รวมถึง ศบค. ต้องตกลงกันว่ามาตรการใดจำเป็น/ไม่จำเป็น และจะใช้ตัวย่อให้ตรงกันอย่างไร

 

DMHTTA

ภาพ: โทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย วันที่ 5 ตุลาคม 2564

 

อนาคตของ DMHTTA

ผมอยากจะชวนทุกท่านเปิดอ่านคู่มือการปฏิบัติมาตรการ Sandbox Safety Zone in School เปิดเรียนมั่นใจ ปลอดภัยไร้โควิด-19 ในสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกรมอนามัย จะพบกับตัวย่ออย่างน้อย 3 ชุด ได้แก่ มาตรการหลัก DMHT-RC มาตรการเสริม SSET-CQ และมาตรการตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน (3T1V) ซึ่งมี DMHTTA กระจายอยู่ในทั้ง 3 ชุดนี้

 

ตัวย่อ RC ที่เพิ่มเข้ามาคือ R-Reducing ลดการแออัด ลดการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งผมเห็นว่าซ้ำซ้อนกับ D-Distancing เพราะหมายถึงการเว้นระยะห่างเพื่อลดความแออัดอยู่แล้ว ส่วน C-Cleaning ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม และ T-Testing ในที่นี้คือ ‘ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย’ ซึ่งควรใช้คำว่า ‘Temperature’ มากกว่า เพราะคำว่า ‘Test’ หมายถึงการตรวจหาเชื้อ 

 

ไทยชนะ (Thai Chana) ถูกแยกออกมาอยู่ในชุด SSET-CQ ส่วนการตรวจหาเชื้อ (Antigen Test Kit: ATK) จัดอยู่ใน 3T1V โดยอีก 2 T ที่เหลือคือ Thai Stop Covid Plus (TSC+) และ Thai Save Thai (TST) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของกรมอนามัยในการประเมินความเสี่ยงของสถานที่ (โรงเรียน) และบุคลากร (ครู นักเรียน) และใช้กับสถานที่อื่นด้วย เช่น ร้านอาหาร ตลาด

 

อาจเรียกได้ว่า ‘มาไกลมาก’ สำหรับตัวย่อ DMH ซึ่งเดิมเป็นตัวย่อของกรมสุขภาพจิต กลายเป็นชื่อย่อของมาตรการป้องกันโควิดของกระทรวงสาธารณสุข จนเป็น DMHTTA ในปัจจุบัน ในการบริหารการใช้ตัวย่อเช่นนี้มีความสะดวกในการถ่ายทอดนโยบายจากระดับผู้บริหารสู่ระดับปฏิบัติงาน แต่ในการสื่อสารกับประชาชน เมื่อย่อแล้วไม่ได้สร้างเป็นคำใหม่ให้จดจำได้ง่าย และจำนวนตัวอักษรยังเพิ่มขึ้นจนคนทั่วไปน่าจะสงสัยว่าหมายถึงอะไรบ้าง นอกจากนี้การใช้ตัวอักษรและชื่อมาตรการเป็นภาษาอังกฤษน่าจะเป็นอุปสรรค์ต่อผู้สูงอายุหรือผู้ที่ฟัง/อ่านภาษาอังกฤษไม่ได้

 

ท่านผู้อ่านล่ะครับ จำกันได้หรือไม่? และคำย่อนี้โน้มน้าวให้ปฏิบัติตามมากน้อยแค่ไหน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising