×

กรมปศุสัตว์ เตรียมรับมือส่งออกเนื้อหมู หลังไทยพบ ASF ชี้ไม่กระทบมากนัก ส่วนหมูเป็นยังห้ามส่งออก 3 เดือน

โดย THE STANDARD TEAM
17.01.2022
  • LOADING...
กรมปศุสัตว์ เตรียมรับมือส่งออกเนื้อหมู

วันนี้ (17 มกราคม) นส.พ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการประกาศโรค ASF ในสุกรในประเทศไทย และได้รายงานไปองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและรับมือผลกระทบด้านการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ หลังการประกาศพบเชื้อ ASF ในสุกรในประเทศไทย จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาถึงผลกระทบและเงื่อนไขในการส่งออกเนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด 

 

โดยจากการค้นคว้าข้อมูลตามระเบียบประเทศคู่ค้า และตามหลักมาตรฐานสากลพบว่า การส่งออกเนื้อสุกรดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร คาดการณ์ว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากประเทศไทยมีตลาดส่งออกหลักทั้งเนื้อสุกรดิบและสุก ที่ยอมรับในการปฏิบัติตามคำแนะนำของ OIE และเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าที่กำหนด โดยตลาดส่งออกหลักของเนื้อสุกรดิบคือฮ่องกง ส่วนเนื้อสุกรสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร ตลาดหลักคือญี่ปุ่นและฮ่องกง ซึ่งการส่งออกในกรณีที่ประเทศมีการระบาดของโรค ASF ในสุกรนั้นจะพิจารณาตามข้อแนะนำของ OIE และเงื่อนไขประเทศผู้นำเข้าที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น เป็นการห้ามทั้งประเทศ หรือห้ามเป็นพื้นที่ หรือห้ามเป็นฟาร์ม โดยมีข้อกำหนดดังนี้

 

  1. การส่งออกเนื้อสุกรดิบ สำหรับบางประเทศที่ไม่ได้ห้ามนำเข้า กรมปศุสัตว์จะอนุญาตให้ส่งออกต่อเนื่อง โดยมีการควบคุมการผลิตเนื้อสุกร ไม่ให้มีเชื้อ ASF ในสุกรปนเปื้อนในกระบวนการผลิต เช่น การกำหนดให้แหล่งที่มาของสุกร ต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP มีการตรวจหาเชื้อ ASF ในสุกรมีชีวิตก่อนส่งโรงฆ่า และได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายโดยเป็นไปตามแนวทางข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออกจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสุกรทุกฟาร์ม (100%) เพื่อเฝ้าระวังเชื้อ ASF ในสุกรปนเปื้อนก่อนอนุญาตให้ส่งออก หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารของคน หรืออาหารสัตว์เลี้ยง

 

  1. สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรปรุงสุก OIE ได้กำหนดเงื่อนไขการทำลายเชื้อไวรัส ASF ในสุกรดังนี้ การทำลายเชื้อไวรัส ASF ในเนื้อสุกรต้องผ่านความร้อน 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที หรืออาหารกระป๋อง F0≥3 หรือเนื้อสุกรผ่านการหมักด้วยเกลือและตากแห้งอย่างน้อย 6 เดือน และใน Casing จากสุกรต้องหมักเกลือหรือน้ำเกลือ (Aw<0.8) หรือสารประกอบเกลือฟอสเฟต 86.5%NaCl + 10.7%Na2HPO4 + 2.8%Na3PO4 เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน

 

  1. ในกรณีที่บางประเทศมีการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเป็นการเฉพาะ กรมปศุสัตว์จะเร่งเจรจากับหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศนั้นๆ เพื่อขอส่งสินค้าเนื้อสุกรปรุงสุก หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรให้ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น สำหรับส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์แปรรูปผ่านความร้อน ประเทศสิงคโปร์มีข้อกำหนดต้องมาจากประเทศที่ปลอดจากโรค ASF ในสุกรอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนวันเชือดและวันส่งออก ประเทศฟิลิปปินส์กำหนดห้ามการนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากประเทศที่มีรายงานโรค ASF ในสุกร สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็น/แช่แข็ง ในฮ่องกงมีข้อกำหนดเนื้อสุกรต้องมาจากสุกรมีชีวิตในพื้นที่ปลอดจากโรค ASF ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตาม Health Certificate ในอินเดียกำหนดให้ต้องมาจากประเทศที่ต้องปลอดจากโรค ASF ในสุกร หรือสำหรับประเทศที่พบ ASF ในสุกร หากมีแผนเฝ้าระวังและมีการกำหนดพื้นที่ปลอดโรคตาม OIE สามารถส่งออกเนื้อสุกรสดได้ เป็นต้น

 

  1. สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรดิบ และสินค้าเนื้อสุกรปรุงสุก หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร ในปี 2565 จะพิจารณาจากท่าทีและเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าที่จะมีการกำหนดเพิ่มเติมอย่างไร และปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานการณ์โควิด โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 การส่งออกน่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยส่งออกประมาณ 23,000 ตัน มูลค่า 3,646 ล้านบาท

 

สำหรับการส่งออกสุกรมีชีวิตนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพง ภาครัฐได้มีการแก้ปัญหาโดยมาตรการระยะเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม -5 เมษายน 2565) ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพิจารณาถึงแนวทางให้เหมาะสมตามสถานการณ์ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising