วันนี้ (5 พฤษภาคม) จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรมโรงงานฯ ได้หารือร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถึงแนวทางการควบคุมการใช้สารไซยาไนด์ให้ถึงกลุ่มผู้ใช้รายย่อย เพิ่มเติมจากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดให้ร้านค้าปลีกรายใดครอบครองสารเคมีอันตรายเกิน 100 กิโลกรัม ภายใน 6 เดือน จะต้องรายงานมายังกรมโรงงานฯ
จุลพงษ์ระบุว่า ต่อไปอาจจะให้ร้านค้าปลีกทุกรายที่จำหน่ายสารโซเดียมไซยาไนด์และโพแทสเซียมไซยาไนด์ให้ผู้ซื้อรายย่อย ต้องลงทะเบียนคล้ายกับการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ โดยให้ระบุว่าซื้อแล้วนำไปใช้เพื่ออะไร เช่น นำไปในร้านชุบเงินชุบทอง หรือใช้ในห้องแล็บ หากหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าจะประกาศเงื่อนไขการใช้สารไซยาไนด์ภายในสัปดาห์หน้า สำหรับประเทศไทยนั้นไม่สามารถผลิตสารไซยาไนด์ได้เอง ต้องนำเข้าเท่านั้น โดยปัจจุบันมีผู้นำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์จำนวน 14 ราย ทั้งนี้ ถ้ามาตรการเพิ่มเติมผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว จะแจ้งให้ผู้นำเข้าทั้งหมดทราบมาตรการต่อไป
จุลพงษ์กล่าวต่ออีกว่า มาตรการที่เพิ่มขึ้นมาจะกำหนดเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ที่ซื้อต่อจากผู้นำเข้าทุกราย ทั้งโรงงาน ร้านค้าปลีก ผู้ใช้รายย่อย ต้องปฏิบัติตามแนวทางเรื่องการควบคุมดูแลการใช้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้นำเข้าและผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกต้องด้วย
ปัจจุบันสารไซยาไนด์มี 2 ประเภทที่ กรอ. ควบคุมอยู่ คือ โซเดียมไซยาไนด์และโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ มีไว้ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น การสกัดแร่ การชุบโลหะ ชุบทอง เงิน หรือใช้ในห้องแล็บ
นอกจากนี้ กรอ. ได้หารือเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วว่า อาจจะขอความร่วมมือ ไม่ควรนำสารไซยาไนด์ไปขายบนช่องทางออนไลน์ บนเว็บไซต์แพลตฟอร์มต่างๆ เนื่องจากเป็นสารอันตราย