×

กรมการค้าภายใน สั่งเบรกขึ้นราคาเนื้อไก่ออกไป 6 เดือน พร้อมตรึงราคาช่วยประชาชน เตรียมถกปรับขึ้นราคาไข่ไก่ด้วย

โดย THE STANDARD TEAM
11.01.2022
  • LOADING...
เนื้อไก่

วันนี้ (11 มกราคม) วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรแพง รวมถึงราคาเนื้อไก่ และไข่ไก่ที่เตรียมจะปรับขึ้นราคาตามต้นทุนว่า กรมการค้าภายในขยายราคาเนื้อสุกรราคาถูกจำหน่ายกิโลกรัมละ 150 บาทไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ และจะเร่งเพิ่มเนื้อสุกร โดยจะจับมือผู้ประกอบการรายเล็กให้ส่งสุกรให้กรมการค้าภายใน ซึ่งจะหารือกับกรมปศุสัตว์เพื่อจัดหาสุกร 

 

ส่วนปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรนั้น จะส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณเนื้อสุกรที่จะออกไปจำหน่ายตามโครงการของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ เป็นเรื่องที่กรมปศุสัตว์จะไปดูแล หาวิธีควบคุม 

 

วัฒนศักย์กล่าวต่อไปว่า เมื่อเนื้อสุกรปรับราคาแพงขึ้น ประชาชนหันไปบริโภคเนื้อไก่เป็นทางเลือก ส่งผลให้ราคาทั้งไก่และไข่ไก่ปรับราคาขึ้นนั้น กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือผู้ค้าให้ชะลอการปรับขึ้นราคาไก่สดและไข่ไก่หน้าฟาร์ม โดยจะตรึงราคาไก่มีชีวิตไว้ที่ 33.5 บาทต่อกิโลกรัม, ไก่สดรวม/ไม่รวมเครื่องใน 60-65 บาทต่อกิโลกรัม, น่องติดสะโพก/น่อง/สะโพก 60-65 บาทต่อกิโลกรัม, เนื้ออก 65-70 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะตรึงราคานี้ไปอีก 6 เดือน มีผลจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ 

 

ส่วนมาตรการระยะยาวได้ขอให้กรมปศุสัตว์และผู้เลี้ยงไปเร่งเพิ่มการผลิตโดยเร่งด่วน

 

ส่วนราคาไข่ไก่ ที่สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้ส่งออกไข่ไก่ จะปรับขึ้นราคาไข่ไก่ 20 สตางค์ต่อฟองนั้น วัฒนศักย์เห็นว่ายังไม่เหมาะที่จะปรับราคาขึ้นในช่วงนี้ จึงขอให้ชะลอออกไปก่อน ซึ่งบ่ายวันนี้กรมการค้าภายในจะประชุมหารือถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ปรับราคาขึ้นว่าเหมาะสมหรือไม่ ส่วนผู้ค้าที่ปรับราคาไปแล้วนั้นก็ขอให้ขายในราคาเดิมก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งราคาต้นทุนไข่ไก่ ตามสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) 2.85 บาทต่อฟอง 

 

ส่วนปัจจัยต้นทุนโดยเฉพาะอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้นนั้น ได้คุยกับสมาคมแล้ว โดยจะจัดส่งอาหารสัตว์ตรงให้กับผู้เลี้ยงรายย่อย และขอยืนยันว่ามีไก่เพียงพอต่อการบริโภค และไข่ไก่ยังไม่ขาดตลาด

 

นอกจากมาตรการชะลอปรับขึ้นราคาเนื้อไก่และไข่ไก่แล้ว กรมการค้าฯ จะเพิ่มจุดจำหน่ายราคาถูกอีก 1,000 กว่าจุด ให้เร็วที่สุด 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X