×

ดิสรัปชัน คือเสียงที่เราไม่ได้ยิน

26.10.2020
  • LOADING...
ดิสรัปชัน Disruption

‘ดิสรัปชัน’ (Disruption) คือคำที่เราได้ยินกันจนเบื่อ โดยส่วนใหญ่จะมากับคำว่าดิจิทัล หรือเทคโนโลยี 

 

แต่ความจริงแล้วดิสรัปชันไม่จำเป็นต้องมาจาก หรือเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเท่านั้น  เพราะคำนี้ในยุคปัจจุบันมีความหมายที่กว้างกว่านั้นมาก

 

และการเข้าใจถึงต้นตอและพลวัตของดิสรัปชันมีความสำคัญอย่างมากกับการปรับตัวสู่อนาคตของคน องค์กรธุรกิจ และสังคม

 

วันนี้จึงอยากชวนมา ‘ดิสรัปต์’ (ป่วน) ความเข้าใจเกี่ยวกับดิสรัปชันกันครับ

 

ดิสรัปชันกับการเปลี่ยนแปลงแบบ Exponential

ดิสรัปชันมักจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง โดยส่วนใหญ่มักเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นเส้นตรง (Linear) แต่เป็น Exponential 

 

ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงแบบนี้คือช่วงแรกความเร็วในการเปลี่ยนแปลงอาจดูอืดๆ ช้าๆ จนเราไม่สังเกตหรือถึงเห็นก็ไม่สนใจนัก (ระยะก่อตัว)

 

แต่ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเสมือน ‘เครื่องติด’ กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรุนแรงกว่าที่คาดจนกลายเป็น ‘ดิสรัปชัน’

 

 

มนุษย์เราถูกสร้างขึ้นมาให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอัตราคงที่เป็นเส้นตรง แต่จะปรับตัวได้ยากกับการเปลี่ยนแปลงแบบ Exponential 

 

เปรียบเทียบเสมือนเรากำลังเดินข้ามถนนโดยไม่ใช้ทางม้าลาย หากรถวิ่งมาด้วยความเร็วคงที่ เสมือนการเปลี่ยนแปลงปกติการข้ามถนนก็ไม่ยากนัก แต่ถ้ารถที่วิ่งมากำลังเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ คนเราจะมีโอกาสพลาดถูกรถชนได้สูง

 

เราจะคิดว่ารถวิ่งเร็วเกินไปแต่แท้จริงแล้วปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ความเร็วอย่างเดียว แต่เกิดจากความเร็วมันเปลี่ยนจากที่เราคาดคิดไว้

 

เทคโนโลยีช่วยเร่งได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยี

จริงอยู่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนทำให้การเติบโตแบบ Exponential เกิดได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เมื่อมีคนใช้เพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่งจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า Network Effects คือคนอยากเข้าไปใช้มากขึ้นเพราะเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ใช้กัน 

 

และเมื่อมีคนมากขึ้นช่วยแชร์คอนเทนต์ เช่น รูปภาพ วิดีโอ บทความ ก็จะทำให้ระบบนิเวศของโซเชียลเข้มแข็งขึ้น และยิ่งดึงดูดคนให้เข้ามาในแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยต้นทุนต่อหัวจากการมีคนใช้มากขึ้นนั้นต่ำมาก

 

แต่การเปลี่ยนแปลงแบบเร่งเร็วขึ้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ได้ และสามารถพบเห็นได้รอบๆ ตัว

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านก็ชี้ให้เห็นว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดบ่อยขึ้น โรคระบาดที่มาถี่ขึ้น ล้วนแล้วแต่ก็มาจากการที่ระบบนิเวศทางธรรมชาติได้ถูกทำลายสะสมมาต่อเนื่องจนเสียสมดุล ทำให้เกิดเป็นดิสรัปชันรูปแบบต่างๆ ที่มาจากธรรมชาติ

 

อีกตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัวหน่อย คือการเติบโตของเด็กเล็กหรือวัยรุ่นที่บางครั้งก็มีพลวัตที่คล้ายกัน คือจะมีบางช่วงอายุที่อุปนิสัยและความคิดของเด็กบางคนเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนบางทีเมื่อพ่อแม่รู้ตัวอีกทีก็เปลี่ยนไปจากที่คุ้นเคย กลายเป็นคนใหม่ที่ทำใจรับไม่ทัน

 

เปลี่ยนแปลงรวดเร็วไม่ได้แปลว่าเพิ่งเกิดขึ้น

เพราะการเปลี่ยนแปลงช่วงที่ ‘เครื่องติด’ แล้วมันรวดเร็วมาก จนหลายครั้งเรามักจะคิดว่าฟันเฟืองแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้มันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้และไม่น่าจะยั่งยืน 

 

แต่ความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงแบบ Exponential นี้มีการ ‘ก่อตัว’ และ ‘สะสม’ มานานแล้ว เพียงแต่ช่วงที่มันช้าเราก็อาจไม่ได้สังเกต แม้จะมีคนเตือนเราก็อาจจะไม่ได้ยิน

 

เสมือนฟ้าผ่าที่รวดเร็วรุนแรง แต่แท้จริงเกิดจากการสะสมประจุไฟฟ้าในเมฆเป็นเวลานาน แต่เราอาจไม่ได้สนใจตอนที่เมฆดำเพิ่งเริ่มก่อตัว

 

ตัวอย่างนั้นมีมากมาย

 

บริษัท Kodak สมัยเป็นเจ้าตลาดถ่ายรูปเคยทำกล้องดิจิทัลออกมาแล้วก่อนคนอื่น แต่สุดท้ายก็ไม่เอามาใช้เพราะอยากขายฟิล์มกับภาพถ่ายต่อไป ไม่ได้ยินเสียงผู้บริโภคที่ต้องการรูปภาพที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยากใช้เวลานาน 

 

หลายบริษัทเทคโนโลยีปัจจุบันเติบโตขึ้นมาจากการสร้างแอปพลิเคชันในมือถือ ในช่วงที่สมาร์ทโฟนมีการใช้แพร่หลาย (Smartphone Revolution) จนก้าวข้ามยุคของคอมพิวเตอร์ (Desktop) ไม่ใช่เพราะพวกเขามีเทคโนโลยีที่ดีกว่าคนอื่นตั้งแต่ต้น แต่เป็นเพราะพวกเขาได้ยิน ‘เสียงบ่น’ ของผู้บริโภคที่ต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องมีโมเดม บรอดแบนด์ต่อที่บ้าน 

 

แม้แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เห็นบ่อยขึ้น แรงขึ้น บางคนก็บอกว่ามาจากการที่เรา ‘ไม่ฟังเสียงของธรรมชาติ’ มาเนิ่นนาน

 

สิ่งที่สำคัญคือการได้ฟัง ได้ยิน และใส่ใจ ‘เสียงบ่น’ ของ ‘ผู้บริโภค’ ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะความต้องการนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่ได้อยู่นิ่ง

 

พอคาดเดาได้ แต่ไม่รู้เมื่อไรและอย่างไร

หลายคนมักมองว่าดิสรัปชันเป็นเหตุการณ์ภายนอกที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เราคุ้นเคย คาดเดาไม่ได้ 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถเห็นแววของดิสรัปชันที่จะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่นๆเพราะการเปลี่ยนแปลงแบบ Exponential มักจะมี ‘ระยะก่อตัว’ สะสมมานานก่อนที่จะถึงจุดผกผันให้เกิด ‘ฟ้าผ่า’

 

แต่ที่ยากคือเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไรและในลักษณะไหน 

 

นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินที่ติดตามตลาดมักจะพอรู้ว่ามีวิกฤตเศรษฐกิจ/การเงินเกิดขึ้นทุกๆ ประมาณ 10 ปี แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าโดมิโนจะเริ่มล้มเมื่อไรและจากที่ใด ครั้งนี้ก็คงไม่มีใครเดาได้ว่าจะมาพร้อมกับโรคระบาด

 

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าโควิด-19 จะนำการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาสู่โลกเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคมอย่างแน่นอน แม้หลังจากโรคระบาดผ่านไปแล้ว แต่เรากลับมีเพียงภาพร่างลางๆ เท่านั้นว่าโลกหลังจากนี้หน้าตามันจะเป็นอย่างไร 

 

ดังนั้นการปรับตัวแบบออกตัวแรงๆ จึงมีความเสี่ยง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่ควรเตรียมตัวอะไรเลย 

 

สิ่งสำคัญคือ การเปิดรับฟัง ‘เสียงของผู้บริโภค’ หลายๆ ฝ่าย สร้างบรรยากาศให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ เพราะในเสียงที่แตกต่าง หลากหลาย ผสมผสานกันนี้อาจมีภาพโลกแห่งอนาคตที่แท้จริงซ่อนอยู่

 

Disruption ไม่ได้อยู่ที่ตัว Disruptor

ปัจจุบันเรามักให้ความสำคัญกับตัวบุคคล ผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือดิสรัปเตอร์ (Disruptor) มาก ไม่ว่าจะในแง่ดีหรือแง่ร้ายก็ตาม ราวกับว่าถ้าไม่มีคนหรือบริษัทนั้นๆ ดิสรัปชันจะไม่เกิดขึ้น

 

แต่ความจริงดิสรัปชันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจาก 3-4 เงื่อนไข มากกว่าจะเป็นเพราะบุคคลหรือองค์กรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

เงื่อนไขสำคัญมี 4 ข้อที่มักพบเห็นบ่อยๆ คือ 

  1. การเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภคที่อาจสะสมมานาน (เช่น มีผู้บริโภครุ่นใหม่เข้ามาในตลาด)
  2. การที่มีกลุ่มคนที่ได้ยิน ‘เสียง’ ของคนเหล่านี้ และหาทางแก้ปัญหาตอบสนอง
  3. การที่ผู้เล่นในตลาดปัจจุบันไม่ได้ยิน ‘เสียง’ ของผู้บริโภคเหล่านั้น
  4. การมีตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น เทคโนโลยี หรือวิกฤต

 

หากมีเงื่อนไขเหล่านี้ โอกาสเกิดดิสรัปชันจะสูงมาก แม้จะไม่มีบริษัทชื่อดังที่เรารู้จักกันอยู่ทุกวันนี้

 

แม้ไม่มี Facebook ก็คงจะมีแพลตฟอร์มโซเชียลอื่นมาตอบสนองความต้องการติดต่อเชื่อมโยงกันของคนทั่วโลกในยุคอินเทอร์เน็ต

 

แม้ไม่มี Netflix ก็คงจะผู้เล่นอื่นมานำการเปลี่ยนแปลงในตลาดดูหนังที่บ้านอยู่ดีไม่ใช่ว่า Blockbuster จะเป็นเจ้าตลาดด้วยการให้คนเช่าดูวิดีโอไปตลอด

 

และในทางกลับกันแม้จะกำจัด Disruptor ไปก็ไม่อาจฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงได้อยู่ดี

 

เมื่อ 20 ปีที่แล้วมีซอฟต์แวร์ชื่อ Napster ที่ทำให้คนสามารถแชร์เพลงกันได้อย่างแพร่หลายแบบฟรีๆ ในยุคที่คนยังซื้อซีดีกันอยู่ แม้บริษัทนี้จะถูกบริษัทเพลงต่างๆ ฟ้องร้องจนต้องปิดเซิร์ฟเวอร์และล้มละลายไป แต่การเดินทางของวงการเพลง ‘จากซีดีสู่ออนไลน์’ ก็ไม่เคยหยุดอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

 

คนถูกดิสรัปต์ไม่ใช่ผู้แพ้ และคนดิสรัปต์ไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป

ผู้ดิสรัปต์อาจไม่ใช่ผู้ชนะ

 

Napster เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แม้ว่าอาจจะชนะสงครามการเปลี่ยนแปลงวงการเพลงไปตลอดกาล แต่ตนเองก็ไม่ใช่ผู้ชนะศึกที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น 

 

บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังหลายเจ้าทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เจ้าแรกที่บุกเบิกและดิสรัปต์วงการ 

 

ผู้โดนป่วนอาจไม่ใช่ผู้แพ้

 

ในวงการต่างๆ ที่กลัวดิสรัปชัน ผู้เล่นเจ้าใหญ่ดั้งเดิมก็ตื่นตัวและปรับตัว ไม่ใช่แค่ในแง่หยิบเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ แต่มีการหันมาฟังผู้บริโภคมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ฟังเสียงที่หลากหลายกว่าเดิม กลายเป็นดิสรัปต์ตัวเองก่อนโดนป่วน เกิดเป็นองค์กรที่แกร่งและยั่งยืนกว่าเดิม

 

ที่สำคัญนี่ไม่ใช่เกมการแข่งขันที่ว่าคนหนึ่งชนะแล้วอีกคนต้องแพ้

 

ทุกวันนี้มีการร่วมมือกันระหว่าง Disruptor และผู้เล่นเดิมให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกันของบริษัทฟินเทคกับธนาคาร หรือแม้แต่ในประเทศจีนที่มียักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีการเงินแบบแอนท์ ไฟแนนเชียล ก็ไม่ได้มาแทนที่ธนาคาร เพราะสินเชื่อส่วนใหญ่ (กว่า 90%) ที่ตน ‘ปล่อย’ ให้ลูกค้าก็ถูกส่งต่อไปที่ธนาคารที่เป็นพาร์ตเนอร์ โดยทางแอนท์เก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ค่าบริการเท่านั้น

 

หัวใจสำคัญของการปรับตัวในยุคดิสรัปชัน คือการก้าวข้ามความคิดที่ว่าผู้ถูกดิสรัปต์นั้นคือผู้แพ้ และผู้นำการเปลี่ยนแปลงคือผู้ชนะ 

 

เพราะทั้งคู่สามารถชนะ และแพ้ได้

 

ดิสรัปชันคือเสียงที่เราไม่ได้ยิน

ก่อนจะเกิดดิสรัปชันใหญ่มีเสียงคอยบอก คอยเตือนอยู่เสมอ บางเสียงอาจเบา บางเสียงอาจไม่ชัด บางเสียงอาจเตือนผิด บางเสียงอาจบอกใบ้อนาคตอย่างแม่นยำ

 

บางเสียงมาจากคน บางเสียงมาจากธรรมชาติ 

 

แต่ดิสรัปชันเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้จนกระทั่งสายไปแล้ว

 

อาจเพราะไม่ได้ฟัง

อาจได้ฟังแต่ไม่เข้าใจ

อาจเข้าใจแต่ยังไม่มีเวลาสนใจ

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์หลายท่านบอกว่าโควิด-19 อาจเป็นดิสรัปชันที่เป็นบททดสอบความสามารถในการปรับตัวของคน องค์กร สังคมที่จะต้องเผชิญกับอีกหลายดิสรัปชันที่ตามมาในอนาคต จากทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และธรรมชาติ 

 

มันอาจเป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการคิดใหม่ (Reimagine) เพื่อเตรียมความพร้อม แต่ทั้งหมดต้องเริ่มจากการฟังเสียงต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา

 

เพราะสิ่งเดียวที่คงที่คือการเปลี่ยนแปลง

 

แต่การเปลี่ยนแปลงเองก็ไม่เคยอยู่คงที่

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising