×

กลยุทธ์สร้างโอกาส ปรับธุรกิจด้วยเทคโนโลยี

23.06.2021
  • LOADING...
Disruption

เมื่อ Disruption นำไปสู่โอกาส

ในขณะที่องค์กรต่างๆ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการหยุดชะงักที่คุกคามศักยภาพในอนาคต ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงโดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อปลดล็อกความสามารถ และสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ธุรกิจในทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ในหลายอุตสาหกรรม การปรับสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบจากหน่วยงานควบคุม ความไม่สงบทางการเมืองและอุปสรรคทางการค้า การเพิ่มขึ้นของคู่แข่ง การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่ทันสมัย 

 

ความคาดหวังต่อผู้บริหารในสายงานด้านบัญชีและการเงิน

ผู้บริหารด้านการเงินจึงมักได้รับมอบหมายให้ผลักดันและเข้าร่วมโครงการ ‘นำร่อง’ กับซีอีโอ เพื่อเปลี่ยนผ่าน ผลักดัน และนำทางธุรกิจให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการค้าและการเงินให้มีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อต่อยอดธุรกิจได้ ผู้บริหารองค์กรมีความคาดหวังต่อผู้บริหารในสายงานด้านบัญชีและการเงินมากขึ้น ให้มีความยืดหยุ่น รวดเร็ว และสร้างคุณค่าจากผลลัพธ์ที่จับต้องได้

 

CFO ของบริษัทชั้นนำจะตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างความคล่องตัวในการทำงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องลดต้นทุนด้วยการใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึกอย่างชาญฉลาด โดยมีวาระที่สำคัญ 6 ประการ ดังนี้

 

  1. การกำหนดกลยุทธ์และสร้างคุณค่าให้ธุรกิจ

การรักษาและสร้างมูลค่าผ่านการจัดสรรเงินทุนและทรัพยากรที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ เช่น ปรับเปลี่ยนการลงทุนกับโครงการไอทีโดยการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud) เพื่อลดการลงทุนซื้อสินทรัพย์ เพื่อให้เป็นการเช่าเท่าที่ใช้งานจริง และสามารถปรับเพิ่มหรือลดทรัพยากรเมื่อต้องการ ให้สามารถตอบสนองการจัดการเชิงกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจใหม่

 

  1. บูรณาการกระบวนการในการทำงานกับระบบงานและข้อมูล 

ให้ความสำคัญกับการบูรณาการกระบวนการทำงานให้กระชับ ลดงานที่ต้องทำซ้ำซ้อนด้วยระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งจากประสบการณ์การบูรณาการกระบวนการทำงานด้วยระบบ Automation สามารถลดการใช้แรงงานโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 60-80 และยังส่งผลให้ข้อมูลมีความถูกต้องเที่ยงตรง และสามารถปรับเปลี่ยนหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไปทำงานด้านวิเคราะห์ ที่ต้องใช้ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้มากขึ้น 

 

จากผลสำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทชั้นนำของโลกในปีที่ผ่านมา พบว่าผู้บริหารสายบัญชีการเงินพบกับความท้าทายในการลดต้นทุน แต่ยังคงต้องมุ่งหน้าสร้างความเป็นเลิศให้องค์กรผ่านวิธีการต่างๆ เช่น

 

  • พิจารณาปรับเปลี่ยนระบบการวางแผนการจัดการ (Enterprise Resource Planning-ERP) ที่เดิมทีต้องมีต้นทุนการบำรุงรักษาสูง มาเป็น Modernized ERP ที่มีกระบวนการทำงานที่กระชับ สนันสนุนการทำงานผ่านอุปกรณ์ที่หลายหลาย ใช้ทรัพยากรแบบ Pay-Per-Use ซึ่งจากการสำรวจบริษัทชั้นนำระดับโลก มากกว่าร้อยละ 80 ของผลสำรวจพบว่า ต้นทุนรวมลดลงมากกว่าร้อยละ 20 ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์การทำงานแบบ Modern Workplace ที่สามารถเข้าถึงระบบและข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น 
  • หันมาใช้ Low Code, No Code Base Platform กับการทำงานที่ยังเป็น Manual ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ยังได้ข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้เพิ่มขึ้นด้วย จากการสำรวจบริษัทในยุโรปช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่ามีการใช้งาน No Code, Low Code และ Automation ร่วมกัน ทำให้การทำงานเร็วขึ้นกว่าร้อยละ 40 
  • Redefined AI/Analytics ที่เกิดจากข้อมูลธุรกิจที่แปรปรวนจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหลายบริษัทนอกจากจะปรับเปลี่ยนการทำงานแล้ว ยังมีการปรับปรุงระบบ Advanced Analytics ให้สามารถตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอีกด้วย 
  • นอกจากการปรับเปลี่ยนการทำงานให้ง่ายขึ้น การสำรวจการใช้เงินทุนของบริษัทชั้นนำในปีที่ผ่านมาพบว่า มีการวางงบประมาณด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ที่เพิ่มมากขึ้นจากการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้

 

  1. ข้อมูล การวิเคราะห์ และข้อมูลเชิงลึก

จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้บริหารหลายบริษัทเริ่มมองถึงอนาคตหลังโควิด-19  ว่าจบแล้วจะเป็นอย่างไร บนพื้นฐานการปรับตัวในช่วงเวลานี้ หากสามารถรักษาผลิตภาพ (Productivity) ที่เพิ่มขึ้นได้ พนักงานตอบรับกับเทคโนโลยีได้เร็วขึ้น ผู้บริหารเล็งเห็นถึงความพร้อมในการลงทุนใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และเพื่อสร้าง Scenario-Based Planning แบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการใช้เงินทุนเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

 

  1. ความคล่องตัวขององค์กร (Agility)

หลายบริษัทพบว่า พนักงานที่เคยมีการปรับตัวกับเทคโนโลยีได้ช้า ถูกสถานการณ์บังคับและสามารถปรับตัวได้มากขึ้น เป็นโอกาสอันดีในการสร้างเสริมความสามารถใหม่ๆ ให้ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอย่างรวดเร็วให้ทันกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า การนำเสนองานบริการแบบไร้รอยต่อ ผสานรวม ‘GIG’ และ ‘BOT’ กับพนักงานอย่างเต็มที่ และใช้ประโยชน์จากทุกอย่างเป็นบริการ โดยมีบริการใหม่ๆ ในสายงานบัญชีและการเงิน

 

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ทักษะด้านการวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อสร้างงานบริการใหม่ๆ ในแต่ละกระบวนการหลักทางธุรกิจ เช่น

 

 

การปรับเปลี่ยนดังกล่าวมุ่งเน้นการให้บริการที่มีคุณภาพตามศักยภาพและผลลัพธ์ โดยไม่คำนึงถึงสถานที่ที่ให้บริการ ซึ่งเอื้อให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ และสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ 

 

  1. แรงงานยุคใหม่ (Modern Workforce)

เหตุการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้าน Workforce อย่างมาก เป็นครั้งแรกจากการทำสำรวจในระดับโลก ที่พบว่าความกังวลเรื่องการถูก AI แทนที่น้อย มุมมองของการผสมผสานงานระหว่าง AI และคนมากขึ้นถึงร้อยละ 62 นั่นหมายถึงการเปิดรับสิ่งใหม่ เพื่อเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นมากขึ้นจากการปรับตัวในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ผู้บริหารในสายงานบัญชีและการเงินจึงมีบทบาทมากขึ้นในการมีส่วนร่วมเพื่อวางแผนการลงทุนด้านนวัตกรรม และกลยุทธ์การลงทุนสถาปัตยกรรมที่ต้องผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทั้งระบบอัตโนมัติ ระบบการสร้างแบบจำลองข้อมูลด้านการเงิน และการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ให้ทันต่อเทคโนโลยีต่างๆ ประกอบด้วย 

  • ทักษะด้าน Soft Skills: Agility, Storytelling, Empathy และ Collaboration เป็นต้น
  • ทักษะด้านธุรกิจ: ความเข้าใจธุรกิจ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อตอบโจทย์การจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
  • ทักษะด้านระบบอัตโนมัติ: การสร้าง Data Modeling และ Data Visualization การรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์
  • ทักษะด้านกระบวนงาน: การบริหารความเสี่ยงในกระบวนการโดยเฉพาะการเชื่อมโยงข้อมูลกับบุคคลที่สาม หรือบริษัทภายนอกที่อยู่ในระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem)

 

  1. ความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎระเบียบและการกำกับดูแล

เหตุการณ์โควิด-19 อาจจะนำมาซึ่งการสร้างกฎระเบียบโลกใหม่ จากการสำรวจในปีที่ผ่านมาผู้บริหารหลายบริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG มากยิ่งขึ้น โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในมุมมองที่หลายฝ่ายคาดคิดไม่ถึง กฎระเบียบใหม่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีความน่าอยู่และปลอดภัย นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจ

 

การปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจในยุค New Normal ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นทางรอดขององค์กรที่ต้องปรับเปลี่ยน ถ่ายโอนและละเลิกรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่เป้าหมาย สำคัญอย่างยิ่งกว่าวันนี้ แล้วคุณล่ะ ได้เริ่มต้นแล้วหรือยัง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising