เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และกรรมการ เลขานุการ โฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เปิดวิสัยทัศน์นโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยผ่าน Live กรรมกรข่าว คุยนอกจอ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า เป้าหมายของเพื่อไทยคือ การทำให้เศรษฐกิจและรายได้ของทุกคนเติบโตไปพร้อมๆ กัน หรือเรียกว่า ‘ทุนนิยมที่เท่าเทียม’
แล้ว ‘ทุนนิยมที่เท่าเทียม’ หมายความว่าอย่างไร?
เผ่าภูมิกล่าวว่า “ถ้ามองเศรษฐกิจให้เป็นเค้กหนึ่งก้อน เพื่อไทยจะต้องเพิ่มขนาดของเค้กก้อนนี้ให้ใหญ่ก่อนในขั้นแรก นั่นก็คือการผลักดันการเติบโตของระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายและลงทุน แล้วค่อยกระจายรายได้ให้กับประชาชนอย่างเท่ากัน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นโยบายหลักที่จะมาช่วยเสริมให้เป้าหมาย ‘เพิ่มขนาดเค้กให้ใหญ่แล้วกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม’ เริ่มจากโครงการ Digital Wallet
พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าเปิดตัว ‘Digital Wallet คนละ 10,000 บาท’ ภายในครึ่งปีแรกของปี 2567 ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมด 5.6 แสนล้านบาท โดยงบจะมาจากแหล่งเงิน 3 ส่วนด้วยกัน ดังนี้
- รายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้เป็นจำนวน 2.7 แสนล้านบาท ตามข้อมูลการคาดการณ์ของสำนักงานงบประมาณ
- รายได้ภาษีจากตัวโครงการ Digital Wallet จากเกิดการหมุนเวียนของเงินตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศอย่างทั่วถึงตามเงื่อนไขที่กำหนดบริเวณใช้จ่ายเงินของเงินดิจิทัลประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
- การจัดสรรแบ่งงบประมาณจากส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งพรรคเพื่อไทยประเมินไว้ว่าน่าจะเกลี่ยมาใช้ได้เพิ่มอีกประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท
เผ่าภูมิเล่าว่า Digital Wallet ดังกล่าวจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ โดยวัตถุประสงค์ที่ใช้มีอยู่ 2 ส่วน คือ การทำให้ระบบการเงินรองรับกับเศรษฐกิจแห่งอนาคต เนื่องจากระบบที่ใช้ในปัจจุบันทำได้ไม่เพียงพอ และส่วนที่สองคือ ความสามารถในการเขียนกฎกำหนดเงื่อนไขการใช้งาน เพื่อสร้างมาตรการการคลังที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ถ้าต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง รัฐสามารถเปลี่ยนเงินกระตุ้นจากเดิม 10,000 บาท ให้เป็น 12,000 บาท เพื่อจูงใจให้คนไปท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ
สำหรับความจำเป็นที่เงินดิจิทัลดังกล่าวต้องมีเงื่อนไข ระยะทางการใช้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร และต้องใช้ภายใน 6 เดือน มาจากการที่พรรคเพื่อไทยต้องการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงในทุกชุมชน ในทุกพื้นที่ และในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งผลลัพธ์จะต่างออกไปหากไม่กำหนดรัศมีและระยะเวลา เพราะเงินก็มีแนวโน้มจะมากระจุกตัวในเมืองใหญ่ และไม่เกิดการหมุนของกระแสเงินมาขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งขัดกับเจตจำนงของพรรคที่ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ส่วนเรื่องของจำนวน 10,000 บาทใน Digital Wallet เป็นปริมาณเงินที่ทางพรรคคิดมาแล้วว่าจะได้ทั้งกระตุ้นการบริโภคและการนำไปลงทุนด้วย โดยเฉพาะกับในต่างจังหวัดที่มักอยู่กันเป็นครัวเรือน เช่น ถ้าครอบครัวมี 10 คน สมาชิกก็สามารถเอาเงินมารวมกัน เพื่อนำบางส่วนไปใช้ลงทุนซื้อปัจจัยในการผลิตต่างๆ มาเพื่อต่อยอดทำธุรกิจ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยในหลากหลายพื้นที่
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่จะสร้างให้ไทยเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงก่อน ซึ่งพรรคเพื่อไทยมองว่าในเมื่อเป็นเช่นนั้น การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นไปได้มากกว่าการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ พวกเขาเพียงอย่างเดียว เพราะประเทศไทยจะมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในสายตานักลงทุนต่างชาติหากนโยบายเป็นไปตามที่หวังจริง
“Digital Wallet เปรียบเสมือนเครื่องมือทำให้นโยบายอื่นๆ ที่ตามมาของเราเป็นไปได้ลื่นไหลมากขึ้น” เผ่าภูมิกล่าว