×

เลือกยืนตรงกลางไม่ใช่เรื่องผิด รู้จัก Disloyalty Aversion ความลำเอียงด้านพฤติกรรมที่ทำให้คนไม่กล้า ‘ทรยศ’

28.12.2020
  • LOADING...
เลือกยืนตรงกลางไม่ใช่เรื่องผิด รู้จัก Disloyalty Aversion ความลำเอียงด้านพฤติกรรมที่ทำให้คนไม่กล้า ‘ทรยศ’

ย้อนเวลากลับไปในปี 2018 ปีที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก ผมและนักศึกษาปริญญาเอกของผมได้ทดลองพิสูจน์ความลำเอียงด้านพฤติกรรมตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘Disloyalty Aversion’ หรือการเกลียดการทรยศต่อสิ่งที่เราเคารพรัก

 

โดยในการพิสูจน์นี้ พวกเราได้ให้เงินกับอาสาสมัครที่เป็นแฟนฟุตบอลทีมชาติอังกฤษทั้งหมด เพื่อให้แต่ละคนเลือกพนันว่าใครจะแข่งชนะ ระหว่างทีมชาติอังกฤษหรือทีมฝั่งตรงข้าม เช่น ทีมชาติโปรตุเกส เป็นต้น 

 

ผลลัพธ์ที่พวกเราค้นพบคือ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของอาสาสมัครทั้งหมดมักจะเลือกแทงทีมที่ตัวเองเชียร์ ซึ่งก็คือทีมชาติอังกฤษ แทนทีมฝั่งตรงข้าม ถึงแม้ว่าทีมอังกฤษจะเตะชนะ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ดีใจไปมากกว่าอาสาสมัครที่เชียร์ทีมอังกฤษ แต่ต้องเสียเงินไปเพราะพนันว่าฝั่งตรงข้ามชนะ (พูดง่ายๆ ก็คือทั้งสองกลุ่มดีใจพอๆ กัน) 

 

แต่พออังกฤษเตะแพ้ปุ๊บ อาสาสมัครที่พนันว่าอังกฤษจะชนะกลับเสียใจมากกว่าอาสาสมัครที่พนันว่าอังกฤษจะแพ้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าไม่ใช่แค่ทีมที่ตัวเองเชียร์จะแพ้เท่านั้น แต่เงินที่ลงพนันไปก็หายวับไปกับตา ส่วนคนที่เชียร์อังกฤษแต่กลับพนันให้ทีมตัวเองแพ้ ถึงแม้ว่าทีมที่เขาเชียร์จะแพ้จริงๆ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้รับเงินรางวัลกลับมาเป็นรางวัลปลอบใจ

 

แล้วถ้ากลยุทธ์ของการ Hedge ความเสียใจอย่างข้างบนนี้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของการหาผลลัพธ์ที่อยู่ตรงกลางไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม และถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงไม่เลือกทำกัน

 

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนเรามี Disloyalty Aversion นี้เอง

 

Disloyalty Aversion มาจากไหน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่ชอบ Cognitive Dissonance หรือการที่คนเรามีอะไรที่ขัดแย้งกันเองในหัว เช่น ก็ถ้าเราเชียร์อังกฤษ แล้วเราไปพนันให้อีกฝั่งชนะล่ะก็ อย่างนี้มันไม่ใช่การทรยศต่อสิ่งที่เราเคารพรักหรอกหรือ

 

แต่ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของ Disloyalty Aversion นั้นมาจากความกดดันจากสังคมหรือตราบาปของการเลือกตัดสินใจอะไรก็ตามที่อยู่ตรงกลางด้วย เช่น ถ้าคนอื่นๆ ที่เชียร์ทีมอังกฤษรู้ว่าเรา ซึ่งเป็นแฟนคลับทีมชาติอังกฤษเหมือนๆ กันกับเขา เลือกที่จะไปพนันให้ทีมโปรตุเกสชนะล่ะก็ พวกเขาก็คงจะคิดว่าเราทรยศ ไม่ได้เชียร์ทีมอังกฤษจริงๆ เผลอๆ พวกเขาอาจจะขับไล่เราออกจากแฟนคลับเลยก็ได้

 

Disloyalty Aversion ในเกมกีฬาเป็นอะไรที่พอจะเข้าใจได้นะครับ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเกมกีฬาส่วนใหญ่จะต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะที่ค่อนข้างจะชัดเจน แต่ถ้าในเหตุการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะที่ชัดเจน การมองหาทางออกที่อยู่ตรงกลางที่ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้ ถือว่าเป็นทางออกที่ยั่งยืนในเชิงของผลประโยชน์ส่วนรวมที่สูงที่สุดก็ว่าได้ 

 

เพราะฉะนั้น Disloyalty Aversion จึงไม่ควรที่จะมีบทบาทอะไรมากนักในบริบทที่ไม่ใช่เกมกีฬา และเราก็ควรจะเลิกต่อว่าคนที่อยู่ตรงกลางว่าทรยศดีกว่านะครับ เพราะการพยายามหาทางออกที่อยู่ตรงกลางอาจจะไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้เคารพหรือไม่รักในสิ่งที่คุณเคารพรัก เพียงแต่พวกเขาอาจจะเป็นคนที่ ‘มีเหตุมีผล’ ในการตัดสินใจมากที่สุดเลยก็ว่าได้

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Kossuth, L., Powdthavee, N., Harris, D., & Chater, N. (2020). Does it pay to bet on your favourite to win? Evidence on experienced utility from the 2018 FIFA World Cup experiment. Journal of Economic Behavior & Organization, 171, 35-58.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X