ข่าวใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศโลก หลังทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า มีทะเลสาบซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีสถานะเป็นของเหลวอยู่ใต้ผืนน้ำแข็งดาวอังคารจริงเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นกุญแจสู่การนำไปต่อยอดเรื่องการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้
ก่อนหน้านี้ทีมนักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์ต่างพบหลักฐานว่า บนดาวอังคารมีน้ำ ทั้งที่อยู่ในสถานะของเหลวและของแข็งจริง อีกทั้งยังได้ค้นพบทางน้ำไหลบริเวณพื้นผิวของดาวอังคารเมื่อหลายล้านปีก่อน ในการค้นพบครั้งนี้ ทีมวิทยาศาสตร์ได้ใช้เรดาร์ Marsis ที่ติดตั้งอยู่กับดาวเทียมสำรวจของ ESA ซึ่งส่งขึ้นสู่วงโคจรเกือบ 15 ปีก่อน เพื่อส่งสัญญาณตรวจสอบชั้นหินและพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้ เพื่อค้นหาแหล่งน้ำ ก่อนที่จะรวบรวมข้อมูลและประเมินสัญญาณที่เรดาห์ไปตกกระทบ
นับเป็นการค้นพบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุดบนดาวอังคารเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ลึกใต้แผ่นน้ำแข็งที่หนากว่า 1.5 กิโลเมตร และมีขนาดกว้างถึง 12 ไมล์ (ราว 20 กิโลเมตร) โดยอาจจะยังด่วนสรุปไม่ได้แน่ชัดว่า มีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารจริงหรือไม่ แม้จะมีการค้นพบแหล่งน้ำแล้วก็ตาม เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นจัดของดาวอังคาร แต่แหล่งน้ำที่พบยังคงสถานะเป็นของเหลวอยู่ได้ ทำให้ทีม ESA คาดการณ์ว่า อาจจะมีปริมาณของเกลือละลายน้ำอยู่อย่างเข้มข้น ซึ่งอาจไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตเท่าใดนัก
มานิช พาเทล จาก Open University เผยว่า “แม้เราอาจจะยังไม่เข้าใกล้การค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนี้ แต่การค้นพบครั้งนี้ให้จุดตำแหน่งต่างๆ ที่เราควรจะมองหา และตรวจสอบบนพื้นผิวของดาวอังคาร ราวกับแผนที่ของขุมมหาสมบัติ”
อ้างอิง: