×

เปิดวิชันแม่ทัพ OR ธุรกิจน้ำมันและกาแฟเราทำสำเร็จได้ ทำไม Health & Beauty เราจะทำไม่ได้ และ ‘กัมพูชา’ มีดีอะไร ทำไม OR ถึงต้องไปปักหมุด

17.08.2023
  • LOADING...
ดิษทัต ปันยารชุน

HIGHLIGHTS

  • OR ลุยธุรกิจ Global เตรียมทุ่มงบกว่า 100 ล้านดอลลาร์สร้าง ‘คลังน้ำมัน-LPG’ ในกัมพูชา พร้อมปักหมุดและยกให้เป็นบ้านหลังที่สอง 
  • ครึ่งปีหลัง OR จะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจที่สามารถต่อยอด Value Chain ระยะยาว และสร้าง Synergy ธุรกิจภายในและภายนอกกลุ่ม ปตท. รวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาโอกาสการลงทุนในกลุ่ม Lifestyle เจาะธุรกิจสุขภาพและความงาม (Health & Beauty) 
  • จับตาความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน โดยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC+ รวมถึงสภาพคล่องสหรัฐฯ ที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

วิสัยทัศน์ ‘Empowering All toward Inclusive Growth เติมเต็มทุกโอกาสการเติบโตร่วมกัน’ ผ่านแนวคิด ‘RISE’ ที่สะท้อนถึงบทบาทความเป็นผู้นำที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนองค์กร เดินทางเข้าสู่ครึ่งทางของปี หลังจากที่แม่ทัพ ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดิษทัตจะปรับกลยุทธ์และแผนธุรกิจครึ่งปีหลังอย่างไร พร้อมพลิกกลับมาทำรายได้โค้งท้ายของปี

 

 

ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า แผนการดำเนินงานปีนี้ การขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจ Global หลังจากนี้จะมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ โดยจะเน้นเพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งมองหาพันธมิตรในการขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตผ่านการลงทุนใหม่ในรูปแบบต่างๆ ที่มีศักยภาพ โดยหนึ่งประเทศที่อยู่ในเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของ OR คือประเทศกัมพูชา บริษัทจะให้ประเทศนี้เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สองรองจากประเทศไทย

 

ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้แสวงหาพันธมิตรที่มีศักยภาพ ด้วยการเริ่มนำแบรนด์ไทยที่มีศักยภาพไปทดลองในตลาดต่างประเทศแล้ว อาทิ แบรนด์ Otteri wash & dry เปิดสาขาแรกใน PTT Station สาขา Chbar Ampov ถือเป็นการนำพันธมิตรของ OR ไปบุกเบิกตลาดร้านสะดวกซักในประเทศกัมพูชา เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบของผู้บริโภค ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจให้กับเครือข่ายสถานีบริการ PTT Station ในประเทศกัมพูชาที่ปัจจุบันมีอยู่ 170 แห่ง

 

หากถามว่าทำไมต้องเป็นประเทศกัมพูชา ดิษทัตบอกว่า เมื่อดู GDP เพื่อนบ้าน เรายังเติบโตได้อีกมาก นอกจากมองฟิลิปปินส์ไว้ หากดูจากภูมิศาสตร์ กัมพูชามีโลจิสติกส์ที่ดีในอาเซียน OR จึงต้องพยายามหาสินค้าใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดมากขึ้น และยังเป็นตลาดเสรีที่สามารถแข่งขันโดยการนำเข้าได้ ซึ่งเรามีจำนวนสถานีบริการกว่า 170 สาขา จึงคิดว่าจะได้ส่วนแบ่งตลาดที่ดี โดยธุรกิจในกัมพูชาถือว่ามีการเติบโต จึงตัดสินใจโฟกัสเป็นบ้านหลังที่สอง (2nd Homebase)

 

“ที่สำคัญ OR จะลงทุน Infrastructure เพื่อเช่าที่ดินสร้างคลังน้ำมันกับ LPG ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณกว่า 3 พันล้านบาท สำหรับตลาด LPG เป็นองคาพยพอุตสาหกรรม”

 

 

ดิษทัตบอกอีกว่า จากการที่ OR ได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่ผ่านมาได้รับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในรูปแบบการร่วมลงทุนกับบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จไปแล้วประมาณ 80% ดังนั้นคาดว่าปีหน้าจะเปิดให้บริการในส่วนนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายที่ปีหน้า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันได้ด้วย 

 

ขยายธุรกิจ Lifestyle เจาะ Health & Beauty เป้าหมายและโอกาสใหม่ 

 

นอกจากนี้ในครึ่งปีหลัง OR จะมุ่งเน้นการลงทุนที่สามารถต่อยอด Value Chain อย่างชัดเจนตามพันธกิจของ OR ได้ในระยะยาว และการสร้าง Synergy รวมทั้งจากภายในและภายนอกกลุ่ม ปตท. รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโอกาสการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านสุขภาพและความงาม (Health & Beauty) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์กระแสหลักเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) และกลุ่มประชากรในวัยทำงานที่จะถือเป็นกลุ่มหลักของคนในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มของการใส่ใจสุขภาพและความงาม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนารูปแบบของการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม

 

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตาคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่พัก (Tourism & Accommodation) ซึ่งทั้งสองกลุ่มสอดคล้องกับพันธกิจด้าน All Lifestyle ของ OR ที่ต้องการเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

 

และจากการที่กลุ่ม ปตท. ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจยาและผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม โดยเริ่มจากธุรกิจความสวยความงาม และไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยา ดังนั้น OR จะเป็นพื้นที่รองรับทั้งสินค้าทั่วไปและยา 

 

“เราปรับตัวรับการกระแทกได้ดี เพราะปัจจุบันเครื่องจักรหลักคือ การท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสูงขึ้นกว่าเป้าหมาย จะเห็นได้ว่าน้ำมันเครื่องบินมีการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดถึง 80% รวมไปถึง OR อยู่ระหว่างเปิดสถานีบริการน้ำมันชุมชนเกือบ 90 อำเภอ โดยปลายปีนี้จะเปิด 1 ปั๊ม 1 อำเภอ เพื่อให้คนในชุมชนได้เป็นเจ้าของ” 

 

ไตรมาส 4 ปีนี้ การดำเนินธุรกิจจะไม่ขาดทุนเหมือนปีที่ผ่านมา

 

ไตรมาส 2 ปี 2566 OR มีรายได้ขายและบริการจำนวน 187,708 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 OR มีรายได้ขายและบริการ 385,122 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,600 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 5,732 ล้านบาท ลดลง 4,681 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่าปกติ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน โดย OR ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแรงของธุรกิจหลัก (Core Business)

 

ส่วนคาดการณ์ไตรมาส 4 มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าปีนี้การดำเนินธุรกิจจะไม่ขาดทุนเหมือนปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน โดยการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยต่างๆ อาทิ สภาพเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโต ทั้งจากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่องและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

 

เมื่อถามว่าผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังจะมาจากธุรกิจใดนั้น ดิษทัตให้น้ำหนักกับกลุ่มธุรกิจ ‘Mobility’ ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle โดยเฉพาะ Cafe Amazon ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากแผนการขยายสาขา เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Global ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศของภูมิภาคนี้หลังจากโควิด ช่วยให้ปริมาณการขายน้ำมันและ Cafe Amazon เติบโตขึ้นในทุกประเทศเป็นสัญญาณบวก 

 

 

โดยรายได้ของ Cafe Amazon ไตรมาสแรกกับไตรมาส 2 ยอดขายโต 2.1% แม้จะขยายสาขาเยอะขึ้นก็ไม่กระทบสาขาเดิม ส่วนยอดขายแก้ว Amazon โต 2.3% อาหารและขนมต่างๆ ก็เติบโตเช่นกันเมื่อเทียบปีต่อปีที่ 7% ดังนั้น OR จะใช้ดาต้าช่วยในการหาพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 

“เรามั่นใจว่าจะฝ่าฟันไปได้ เพราะ 6 เดือนที่ผ่านมาหรือปีที่แล้ว โดยเฉพาะไตรมาส 4 ก็ฝ่าฟันมาได้ แม้ครึ่งปีแรกราคาน้ำมันจะผันผวน ธุรกิจผู้ขายน้ำมันมีแนวโน้มลดลงทุกราย แต่ผลการดำเนินงานของ OR ยังคงแข็งแกร่ง เราก็ผ่านมาได้ เพราะมีโอกาสในการเติบโตของธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน เรามีแผนการทำงานที่ไม่หยุดอยู่กับที่ โดยเฉพาะธุรกิจรีเทล (Retail), อาหาร (Food), รวมทั้งสุขภาพและความงาม (Health & Beauty) ที่มุ่งเจาะกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะทำให้แข็งแกร่งคือเลือกพาร์ตเนอร์ที่ดีด้วย”

 

ดิษทัตย้ำว่า ทุกธุรกิจย่อมมีการแข่งขัน เราชอบแข่งขันและพร้อมที่จะแข่งขันในธุรกิจนี้ (Health & Beauty) ยังไม่มีใครเด่นเท่าไรนัก ซึ่งหลายคนไม่ทราบว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ เราสามารถมาดึงส่วนแบ่งตลาดนี้ได้ด้วยการใช้ดาต้าเทคโนโลยี ซึ่งเร็วๆ นี้ OR จะเปิดตัวแอปพลิเคชัน xplORe เราจึงต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เรามีคือโครงสร้างพื้นฐานมั่นคง ดังนั้นทุกธุรกิจอาจไม่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างตรงที่วิธีคิดและจุดแข็งที่เรามี 

 

“จากการบริหารธุรกิจน้ำมันและกาแฟก็ทำได้ แล้วทำไมธุรกิจอื่นๆ อย่างเช่น สุขภาพและความสวยความงามเราจะทำไม่ได้” 

 

 

จับตาราคาน้ำมันและธนาคารกลางสหรัฐฯ

 

สำหรับธุรกิจน้ำมันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง แต่ตอนนี้เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC+ โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ยังคงขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่อง ซึ่งอาจมองว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง จึงพยายามรักษาระดับน้ำมันในระดับสูง

 

“ครึ่งปีหลังจะต้องจับตามองสภาพคล่องสหรัฐฯ, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจที่จะมีผลต่อราคาน้ำมันที่หลีกเลี้ยงไม่ได้ เพราะเราทำธุรกิจซื้อ-ขายน้ำมัน ทำงานเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลดูแลผู้บริโภค

 

“ดังนั้นรายได้จะสะท้อนมาจากราคาน้ำมัน ปีที่แล้วราคาดูไบเฉลี่ยที่กว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปีนี้เฉลี่ย 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อคำนวณทั้งหมดคงเทียบกับปีที่แล้วไม่ได้ ปีนี้จึงต้องพยายามทำรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ”

 

จากเเผนข้างต้นทั้งหมดนี้ ดิษทัตย้ำอย่างหนักแน่นว่า จะไม่ขาดทุนเหมือนปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising