วันนี้ (2 มกราคม) ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดทำงานหลังจากเทศกาลปีใหม่ ซึ่งยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางสายหลัก เส้นทางสายรอง รวมไปถึงถนนในชุมชนหมู่บ้าน ยังคงมีปริมาณรถหนาแน่น ผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดความเหนื่อยล้า เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเพิ่ม จึงได้ประสานทุกจังหวัดให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น เพื่ออำนวยความสะดวก
นอกจากนี้ให้ขนส่งจังหวัดดูแลความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน จัดเตรียมรถบริการรับ-ส่งผู้โดยสารจากสถานีขนส่งต่างๆ ให้เพียงพอ และตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถและรถขนส่งสินค้าให้อยู่ในสภาพปลอดภัยก่อนเดินทาง
“ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 6 โดยเน้นย้ำให้ใช้กลไกพื้นที่ โดยเฉพาะการตั้งด่านชุมชนหรือด่านครอบครัว เพื่อป้องปรามผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย” ภาสกรกล่าว
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568
ปภ. ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 มกราคม 2568 เกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 346 คน ผู้เสียชีวิต 50 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 38.94 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.56 ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 16.81
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.42 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 81.12 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.71 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.09 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01-01.00 น. เวลา 01.01-02.00 น. และเวลา 18.01-19.00 น.
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 24.49 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,774 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,744 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (24 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (36 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (7 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (27 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,739 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,694 คน ผู้เสียชีวิต รวม 272 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 8 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (63 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (73 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (12 คน)