×

ผู้ป่วยโควิด-19 กับไทม์ไลน์ที่หายไป ประชาชนมีสิทธิ์รู้ไทม์ไลน์ผู้ป่วยแค่ไหน ทำไมจึงต้องรู้

27.01.2021
  • LOADING...
ผู้ป่วยโควิด-19 กับไทม์ไลน์ที่หายไป ประชาชนมีสิทธิ์รู้ไทม์ไลน์ผู้ป่วยแค่ไหน

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ไทม์ไลน์เป็นข้อมูลส่วนตัวที่ผู้ป่วยอาจเห็นว่าเป็น ‘สิทธิส่วนบุคคล’ ว่าจะให้หรือไม่ให้ข้อมูล ขณะเดียวกันโควิด-19 เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
  • ความจริงแล้วไทม์ไลน์ของผู้ป่วยมีที่มาอย่างไร มีความสำคัญต่อการควบคุมโรคโควิด-19 มากแค่ไหน ทำไมประชาชนทั่วไปถึงต้องรู้ไทม์ไลน์ด้วย?
  • โดยสรุปไทม์ไลน์ของผู้ป่วยโควิด-19 มีความสำคัญ ขอให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการเขียนไทม์ไลน์ เพื่อระบุผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งก็เพื่อความปลอดภัยของคนใกล้ชิดและคนรอบข้างของเขา ส่วนประชาชนทั่วไปควรติดตามไทม์ไลน์เพื่อประเมินความเสี่ยงของตนเอง และไม่จำเป็นต้องทราบรายละเอียดส่วนตัวของผู้ป่วยทั้งหมด

“ผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล” 

 

ไทม์ไลน์ของผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 645, 647, 657, 658 ของ กทม. ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ดีเจที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ระบุว่า พวกเขาไม่ให้ความร่วมมือในการบอกรายละเอียดกิจกรรมและการเดินทางในบางวัน (ยิ่งทำให้น่าสงสัยว่าทำไม)

 

ไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด ในตาราง

 

ไทม์ไลน์เป็นข้อมูลส่วนตัวที่ผู้ป่วยอาจเห็นว่าเป็น ‘สิทธิส่วนบุคคล’ ว่าจะให้หรือไม่ให้ข้อมูล ขณะเดียวกันโควิด-19 เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่ความจริงแล้วไทม์ไลน์ของผู้ป่วยมีที่มาอย่างไร มีความสำคัญต่อการควบคุมโรคโควิด-19 มากแค่ไหน ทำไมประชาชนทั่วไปถึงต้องรู้ไทม์ไลน์ด้วย? 

 

ผู้ที่รู้ไทม์ไลน์ดีที่สุดคือผู้ป่วย

ที่มาของไทม์ไลน์เริ่มต้นจากเมื่อโรงพยาบาลที่พบผู้ป่วยรายงานให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ (สำนักอนามัยของ กทม. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในต่างจังหวัด) เจ้าหน้าที่จะลงไปสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ผ่านโทรศัพท์ภายใน เพราะผู้ป่วยจะถูกแยกตัวในห้องแยกโรคหรือใช้โทรศัพท์มือถือ

 

เจ้าหน้าที่จะซักประวัติส่วนตัว เช่น โรคประจำตัว ที่อยู่ อาชีพ สถานที่ทำงาน อาการ และให้ผู้ป่วยเล่าประวัติกิจกรรมและการเดินทางของตัวเองในช่วงที่ผ่านมาว่าทำอะไร ที่ไหน กับใคร โดยจะย้อนกลับไป 14 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือวันตรวจพบเชื้อ หากไม่มีอาการ เพื่อหา ‘แหล่งโรค’ (Source) ว่าเขาติดเชื้อมาจากใคร 

 

และเลยไปข้างหน้าจนถึงวันที่เขาถูกแยกตัวในโรงพยาบาล โดยช่วงนี้และช่วงที่ซ้อนทับกัน 1-2 วันก่อนเริ่มมีอาการจะเป็นการหา ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิด’ (Close Contact) ว่าใครมีโอกาสรับเชื้อต่อจากเขาบ้าง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือบุคคลในครอบครัว, พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรนานเกิน 5 นาที, ถูกไอจามรด หรืออยู่ในสถานที่ปิดในระยะ 1 เมตรนานเกิน 15 นาที

 

ความครบถ้วนของไทม์ไลน์จึงขึ้นกับผู้ป่วยว่าจะให้ข้อมูลมากน้อยแค่ไหน แต่ทีมสอบสวนโรคก็อาจสัมภาษณ์ญาติหรือคนใกล้ชิดบนไทม์ไลน์เพิ่มเติมเพื่อนำข้อมูลมาประกอบกันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ถ้าผู้ป่วยพักอยู่ที่คอนโดฯ ทีมสอบสวนโรคก็จะเข้าไปทบทวนกล้องวงจรปิด หรือที่ห้างสรรพสินค้าก็เช่นกัน ว่าใครได้พบปะกับผู้ป่วยบ้าง

 

ไทม์ไลน์มีความสำคัญต่อการควบคุมโรค

ผมขอเปรียบเทียบไทม์ไลน์เป็น ‘แผนที่’ ที่ทีมสอบสวนโรคจะเดินทางไปตามจุดต่างๆ ที่ระบุไว้บนนั้นเพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด หากผู้ป่วยเขียนให้ละเอียด ทีมสอบสวนโรคก็จะทำงานง่ายขึ้น ติดตามผู้สัมผัสได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเขียนวกไปวนมา ทีมสอบสวนโรคก็จะเสียเวลาไปกับการปะติดปะต่อข้อมูลจากคนโน้นทีคนนี้ที 

 

อย่างกรณีดีเจชื่อดังที่ตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2564 ส่วนเพื่อนตรวจพบเชื้อระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม ผ่านไปแล้ว 5 วัน ไทม์ไลน์ยังหายไปอยู่

 

ยิ่งติดตามผู้สัมผัสได้ครอบคลุมมากเท่าไร ก็ยิ่งตัดวงจรการระบาดได้มากเท่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่จะให้ผู้สัมผัสกักตัวเองจนครบ 14 วันนับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย และนัดหมายให้มาตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไปตามระยะฟักตัว หากตรวจพบเชื้อก็จะได้รับการแยกตัวรักษาในโรงพยาบาล ปลอดภัยทั้งตัวเองและคนรอบข้าง

 

แต่ถ้าไม่ถูกติดตาม หากติดเชื้อขึ้นมาก็จะแพร่เชื้อต่อให้กับคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว เพราะวัยทำงานที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อต่อในระยะที่ยังไม่มีอาการได้ อาจยกตัวอย่างวันที่คลัสเตอร์นี้จัดงานเลี้ยงวันเกิด ในวันนั้นยังไม่มีใครมีอาการแต่ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อมากถึง 24 รายแล้ว

 

ประชาชนทั่วไปจำเป็นต้องทราบไทม์ไลน์หรือไม่

ทีมสอบสวนโรคจำเป็นต้องทราบไทม์ไลน์ผู้ป่วยทั้งหมดอย่างละเอียด แต่ประชาชนทั่วไปอาจไม่จำเป็นต้องทราบทั้งหมด เพราะถ้าทีมสอบสวนโรคสามารถติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ครบก็ไม่จำเป็นต้องประกาศไทม์ไลน์ให้คนอื่นทราบ เพียงแต่อาจจะประกาศเพื่อให้คนภายในจังหวัดที่เดินทางไปในสถานที่และเวลาเดียวกับผู้ป่วยสังเกตอาการตนเอง

 

หากมีอาการก็จะเข้าข่ายผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) สามารถไปขอรับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ได้ฟรี

 

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของไทม์ไลน์คือการ ‘ตีวง’ พื้นที่เสี่ยงให้อยู่ในวงสถานที่ที่ผู้ป่วยเข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้น เช่น คอนโดฯ A ห้างสรรพสินค้า B คนอื่นภายในจังหวัดที่ไม่ได้เดินทางไปยังสถานที่บนไทม์ไลน์ก็จะได้สบายใจว่าตนเองไม่มีความเสี่ยงจากผู้ป่วยรายนี้ (แต่ก็ยังต้องป้องกันตัวเองเหมือนเดิม เพราะอาจมีผู้ป่วยรายอื่นในจังหวัด)

 

ดังนั้นโดยสรุปไทม์ไลน์ของผู้ป่วยโควิด-19 มีความสำคัญ ขอให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการเขียนไทม์ไลน์ เพื่อระบุผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งก็เพื่อความปลอดภัยของคนใกล้ชิดและคนรอบข้างของเขา ส่วนประชาชนทั่วไปควรติดตามไทม์ไลน์เพื่อประเมินความเสี่ยงของตนเอง และไม่จำเป็นต้องทราบรายละเอียดส่วนตัวของผู้ป่วยทั้งหมด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising