×

ทำไมตำแหน่ง Director of Football จึงสำคัญในเกมฟุตบอลสมัยใหม่

15.07.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เอดูเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคคนแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรอาร์เซนอล ก่อนหน้าที่จะเป็นเขา อาร์เซนอลเคยมีข่าวกับ มอนชี และมาร์ก โอเวอร์มาร์ส
  • ก่อนรับงานกับอาร์เซนอล เอดูเป็นผู้จัดการทีมทั่วไปของทีมชาติบราซิลมาก่อนครับ และผลงานของเขาคือการเป็นส่วนหนึ่งที่นำพา ‘ลา เซเลเซา’ คว้าแชมป์โคปาอเมริกาเมื่อวันอาทิตย์ก่อน (7 กรกฎาคม 2019) 
  • ตำแหน่ง Director of Football (ที่อาจจะเรียกชื่ออื่นก็ได้ เช่น Technical Director หรือ Sporting Director แล้วแต่สโมสรและแล้วแต่รายละเอียดในหน้าที่) เดิมเป็นตำแหน่งที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ของเกมฟุตบอลอังกฤษ เพราะโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของสโมสรฟุตบอลในเมืองผู้ดีนั้นเป็นเอกลักษณ์
  • งานของผู้อำนวยการฟุตบอลนั้นต้องทำอะไรบ้าง? ในความเข้าใจของแฟนบอลทั่วไปคือ การเจรจาซื้อขายผู้เล่น (ซึ่งเป็นงานที่คอบอลทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นงานหลัก) แต่ในความเป็นจริงแล้วตำแหน่งนี้ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก

“การมาของเขา คือจิ๊กซอว์ชิ้นส่วนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาโครงสร้างฟุตบอลใหม่ที่จะนำเราก้าวไปข้างหน้า” 

 

คำพูดข้างต้นคือคำพูดของ ราอูล ซานเญฮี ผู้บริหารในตำแหน่ง Head of Football ของทีม ‘ปืนใหญ่’ อาร์เซนอล ที่กล่าวต้อนรับสมาชิกคนใหม่ในฝ่ายบริหารอย่าง เอดู ซึ่งได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคคนแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร

 

สำหรับคนที่ติดตามฟุตบอลมานานตั้งแต่ยุคมิลเลนเนียล ผมเชื่อว่าจะคุ้นชื่อของเอดู อยู่ใช่ไหมครับ? แต่ถ้าความจำเลือนรางไป ขออนุญาตทวนให้สั้นๆ ว่านี่คืออดีตกองกลางชาวบราซิลที่เป็นหนึ่งในขุนพลชุดประวัติศาสตร์ของอาร์เซนอล หรือ ‘The Invincibles’ ที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาครองได้โดยไม่แพ้ใครตลอดฤดูกาล 2003-04 ซึ่งเป็นสโมสรแรกที่ทำได้ และยังไม่มีสโมสรใดที่ทำได้อีกเลยนับจากนั้นเป็นต้นมา

 

หลังแยกทางไปเริ่มต้นการผจญภัยครั้งใหม่กับบาเลนเซียเมื่อปี 2005 ชื่อของเขาก็ค่อยๆ หายไปจากความจำของเหล่ากันเนอร์ส ก่อนที่จะกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในวันนี้ กับบทบาทใหม่ที่หลายคนเองก็ประหลาดใจ เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าเขาจะกลับมารับตำแหน่งสำคัญที่อาร์เซนอลเฝ้ารอคอยมาอย่างยาวนาน

 

ก่อนหน้าที่จะเป็นเขา อาร์เซนอลเคยมีข่าวกับ มอนชี ผู้อำนวยการสโมสรคนดังระดับที่มีชื่อเสียงมาจากความสำเร็จในยุคของเซบียา ซึ่งแม้ว่าจะล้มเหลวไม่เป็นท่านักกับโรมา แต่เมื่อมีข่าวว่าจะเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสรของอาร์เซนอลที่ว่างลงหลังจากที่ สเวน มิสลินทาต ประกาศอำลาสโมสรไปแบบไม่คาดคิดเมื่อหลายเดือนก่อน ชื่อเสียงเก่าๆ ของเขาก็สร้างความตื่นเต้นได้อยู่พอสมควร

 

น่าเสียดายที่มอนชีเปลี่ยนใจกลับไปทำงานที่เก่ากับเซบียาแทน

 

อีกคนที่มีข่าวตามมาคือ มาร์ก โอเวอร์มาร์ส ที่รับบทผู้อำนวยการสโมสร และมีส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัมให้กลับมาเป็นสโมสรฟุตบอลชั้นนำของยุโรปอีกครั้ง เพียงแต่อดีตปีกลอยลมที่เคยเป็นขวัญใจของชาวกันเนอร์สยุค 90 ก็ไม่คิดจะกลับมาในเวลานี้

 

เรื่องนี้จึงเหมือนถูกเก็บเข้าลิ้นชักไป โดยที่กูนเนอร์สกลับมาลุ้นกับเรื่องการซื้อขายผู้เล่นไปพลางๆ

 

แล้วจู่ๆ ก็ได้เอดูกลับมา!

 

 

แน่นอนครับว่าเรื่องแรกที่หลายคนสนใจคือ เรื่องของความรู้ความสามารถว่าอดีตกองกลางมาดนิ่งคนนี้เก่งจริง และเก่งพอที่จะทำงานในตำแหน่งนี้หรือไม่

 

ก่อนหน้าที่เขาจะตกลงยอมรับข้อเสนอของอาร์เซนอล เอดูรับบทผู้จัดการทั่วไปของทีมชาติบราซิลมาก่อนครับ และผลงานของเขาคือ การเป็นส่วนหนึ่งที่นำพา ‘ลา เซเลเซา’ คว้าแชมป์โคปาอเมริกาเมื่ออาทิตย์ก่อน (7 กรกฎาคม 2019) 

 

โดยชื่อตำแหน่งแล้ว งานผู้จัดการทีมทั่วไปเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นงานที่มีรายละเอียดมากมายที่ต้องใส่ใจดูแล ซึ่งเมื่อครั้งที่ได้รับตำแหน่งในปี 2016 เอดูไม่ได้รับการยอมรับมากนักในบ้านเกิดของตัวเอง เนื่องจากมีคนครหาว่าเขาได้งานเพราะการแนะนำของ ติเต โค้ชทีมชาติบราซิล ที่ทำงานร่วมกันในสโมสรโครินเธียนส์

 

แทนที่จะตอบโต้ด้วยปาก เอดูก็ใช้การทำงานพูดแทนความรู้สึกของใจ และความตั้งใจ ความสามารถของเขาก็เอาชนะใจทุกคน

 

ภายใต้การดูแลของเขา ‘หลังบ้าน’ ของบราซิลเป็นไปอย่างเรียบร้อย การทำงานมีแบบแผนและใส่ใจในรายละเอียด แม้กระทั่งเรื่องของการเดินทางที่สะดวกสบาย ซึ่งทำให้นักเตะบราซิลมีความสุข และส่งผลต่อเนื่องไปสู่ผลงานในสนาม โดยก่อนจะถึงฟุตบอลโลก 2018 บราซิลสร้างสถิติชนะรวดถึง 9 นัด

 

และในฟุตบอลโคปาอเมริกาที่ผ่านมา บราซิลก็คว้าแชมป์รายการใหญ่ครั้งแรกได้นับตั้งแต่ปี 2007 หรือครั้งแรกในรอบ 12 ปี

 

 

ดังนั้นถ้าถามเรื่องความสามารถ ผมคิดว่าผลงานและโปรไฟล์ไม่ขี้เหร่ครับ

 

อย่างไรก็ดี งานที่อาร์เซนอล ในบทบาทผู้อำนวยการสโมสรนั้นเป็นงานที่มีความยากและท้าทายมากขึ้นไปอีกขั้น

 

เหตุผลเพราะสำหรับเกมฟุตบอลสมัยใหม่แล้ว ตำแหน่งผู้อำนวยการของสโมสรฟุตบอลเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างมาก

 

ตำแหน่ง Director of Football (ที่อาจจะเรียกชื่ออื่นก็ได้ เช่น Technical Director หรือ Sporting Director แล้วแต่สโมสรและแล้วแต่รายละเอียดในหน้าที่) เดิมเป็นตำแหน่งที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ของเกมฟุตบอลอังกฤษ เพราะโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของสโมสรฟุตบอลในเมืองผู้ดีนั้นเป็นเอกลักษณ์

 

ในเกมฟุตบอลอังกฤษ คนที่ใหญ่ที่สุดแต่เดิมมา (นอกจากเจ้าของหรือประธานสโมสร) คือผู้จัดการทีม ที่จะทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องของการคุมทีมลงแข่งขัน การคุมทีมฝึกซ้อม การติดต่อเจรจาเรื่องการซื้อขายผู้เล่น การเจรจาเรื่องสัญญาของนักฟุตบอลในสโมสร การประสานงานกับเจ้าของหรือประธานสโมสร เรื่อยไปจนถึงเรื่องของการร่วมงานกับฝ่ายการตลาดในการดูแลการค้าการขายของสโมสร

 

ตรงนี้จะแตกต่างจากสโมสรบนแผ่นดินใหญ่ของยุโรป ผู้จัดการทีมจะเป็นแค่โค้ชหรือเทรนเนอร์ที่มีหน้าที่เรื่อง ‘ในสนาม’ เพียงเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการฟุตบอลของสโมสรที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ตรงนี้ให้

 

แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงในเกมฟุตบอลที่รวดเร็ว การบริหารสโมสรฟุตบอลเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีรายละเอียดมากขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้สโมสรฟุตบอลในอังกฤษค่อยๆ มีการปรับโครงสร้างจากเดิม และเพิ่มเติมตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลเข้ามา

 

ในฤดูกาลที่แล้ว จาก 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก มีถึง 15 สโมสร ที่มีตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอล (หรือในชื่ออื่น) ทำหน้าที่การบริหารนอกสนามให้ โดยที่หลายสโมสรก็เริ่มมีการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้จัดการทีมให้เป็นโค้ชใหญ่ หรือ Head Coach แทน เพื่อความชัดเจน

 

แล้วตกลงงานของผู้อำนวยการฟุตบอลนั้นต้องทำอะไรบ้าง?

 

ในความเข้าใจของแฟนบอลทั่วไป อาจจะคิดว่าก็คงดูแค่เรื่องของการเจรจาซื้อขายผู้เล่น (ซึ่งเป็นงานที่คอบอลทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นงานหลัก) โดยประสานร่วมกับฝ่ายของการจัดซื้อผู้เล่น หรือ Recruitment Department (ในแต่ละสโมสรก็จะแตกต่างออกไปอีก เช่น อาจจะมีหัวหน้าแผนกจัดซื้อ มีหัวหน้าแมวมอง มีทีมแมวมอง ฯลฯ) รวมถึงเรื่องของการเจรจาต่อรองเรื่องสัญญาของผู้เล่น เรื่องของเงินค่าเหนื่อย เงินโบนัสต่างๆ ที่จะต้องอยู่ในงบประมาณที่สโมสรสามารถจ่ายได้และไม่ผิดต่อกฎการเงิน Financial Fair Play

 

แต่ในความเป็นจริงแล้วตำแหน่งนี้ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประสานกับฝ่ายต่างๆ ของสโมสร ไม่ว่าจะเป็น Finance Director ที่ดูแลเรื่องการเงินของสโมสร, Commercial Director ที่ดูแลด้านการตลาดของสโมสร, Club Secretary เลขาฯ ของสโมสร ที่ดูแลเรื่องกำหนดการ ตาราง การนัดหมาย และรายละเอียดต่างๆ

 

นอกจากนี้ยังต้องลงมาแตะในเรื่องของการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทห้างร้านต่างๆ ด้วยว่า หากตกลงสนับสนุนสโมสรแล้วจะได้อะไรกลับไปบ้าง จะใช้บุคลากรในทีมได้มากน้อยแค่ไหน (ซึ่งก็ต้องสู้รบปรบมือกับฝ่ายการตลาด) 

 

ไหนจะเรื่องของการประสานกับฝ่ายอคาเดมีของสโมสร ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลานี้ และจะสำคัญสุดๆ ในอนาคต เพราะหลังจากที่ค่าตัวผู้เล่นเฟ้อถึงขีดสุดกับการย้ายทีมของ เนย์มาร์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สโมสรใหญ่ประสบปัญหามากขึ้นในเรื่องของการซื้อสตาร์เข้ามาเสริมทีม และสตาร์ยังบริหารจัดการยากด้วย ทำให้การผลักดันผู้เล่นเยาวชนของสโมสรเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดการใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองเหล่านี้ (หรือปั้นมาแล้วไม่มีที่ลงก็ยังขายออกได้)​ 

 

แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นรายละเอียดมากกว่าครับ

 

หน้าที่สำคัญที่สุดของผู้อำนวยการฟุตบอลจริงๆ แล้วคือ การกำหนดทิศทางอนาคตของสโมสร

 

ทีมจะเล่นฟุตบอลแบบไหน สไตล์ไหน จะใช้ผู้เล่นแบบไหน นักเตะต้องมีทัศนคติแบบไหน ไปจนถึงผู้จัดการทีมหรือโค้ชเองจะต้องเป็นคนที่ทำทีมในสไตล์ไหน

 

พูดง่ายๆ คือเป็นคนกำหนด ‘อัตลักษณ์’ และ ‘ตัวตน’ ของสโมสรอีกที

 

 

ตัวอย่างของผู้อำนวยการฟุตบอลที่เก่งและประสบความสำเร็จมากคือ ซิกิ เบกิริสไตน์ ของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทีมจากแมนเชสเตอร์

 

อีกคนที่โด่งดังขึ้นมาในรอบปีที่ผ่านมาคือ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส ผู้อำนวยการสโมสรของลิเวอร์พูล ที่นอกจากจะซื้อขายผู้เล่นได้อย่างน่าประทับใจ เขายังเป็นคนที่ตัดสินใจเลือก เจอร์เกน คล็อปป์ เป็นผู้จัดการทีมด้วย

 

เรียกได้ว่านี่เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากครับ ซึ่งหลังการตามหาคนที่จะทำหน้าที่นี้มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สิ้นยุคของ อาร์แซน เวนเกอร์ ในที่สุดอาร์เซนอลก็ได้คนที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้เสียที

 

นอกจากความรู้ความสามารถแล้ว เอดูยังถูกมองในฐานะคนที่เคยอยู่กับทีมในชุด ‘ไร้พ่าย’ ที่ย่อมรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้อาร์เซนอลยิ่งใหญ่ไร้เทียมทานได้ในสมัยนั้น

 

แต่จะสามารถนำกันเนอร์สกลับมาเกรียงไกรอีกครั้งหรือไม่ในภารกิจ ‘Arsenalisation’ ก็ต้องติดตามกันครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • ในวันแรกที่เอดูย้ายมาร่วมทีมเมื่อปี 2000 พร้อมๆ กับ ซิลวินโญ เขาเกือบโดนส่งตัวกลับบราซิล เพราะตัดสินใจผิด เลือกใช้พาสปอร์ตโปรตุเกส แทนที่จะใช้พาสปอร์ตบราซิล เพราะอ่อนเพลียจากการเดินทาง 11 ชั่วโมง​ จนขี้เกียจต่อแถว ตม. ที่ยาวเหยียด
  • เชื่อว่าการเจรจาดึงตัวเอดูเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยอาร์เซนอลได้ติดต่อกับสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล เพื่อขอตัวเอดูมาทำงานด้วย ซึ่งนับจากนั้น เอดูมีการติดต่อสอบถามข้อมูลของทีมเก่าว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร รวมถึงทำความรู้จักกับทีมงานของ อูไน เอเมรี ผู้จัดการทีมด้วย
  • เอดูเป็นคนอนุมัติการย้ายทีมของ กาเบรียล มาร์ติเนลลี กองหน้าดาวรุ่งชาวบราซิลวัย 18 ปี จากทีมอิตัวโน ซึ่งเป็นนักฟุตบอลใหม่คนแรกของอาร์เซนอล ในช่วงซัมเมอร์นี้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X