×

สรุปให้แล้ว! ทำไม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อาจไม่ได้ไปต่อ พร้อมหงายไพ่ตัวเลือกอื่นๆ ที่ (อาจ) เหลืออยู่

18.01.2024
  • LOADING...

หลังจากเมื่อวันที่ 16 มกราคม ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 1/2567 ออกไป 

 

โดยมีเหตุผลมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมจะส่งข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลเพิ่มเติม สะท้อนว่าโครงการเรือธงของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อาจจะเจออุปสรรคทางกฎหมายเพิ่มเติมจาก ป.ป.ช.

 

และเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อาจไม่ได้ไปต่อ โดย THE STANDARD WEALTH ได้สรุปปัญหาและอุปสรรคของโครงการมาให้แล้ว ดังนี้

 

เริ่มจากข้อคิดเห็นจาก ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ ซึ่งนับเป็นข้อคิดเห็นที่สำคัญ เนื่องจากกฤษฎีกาถือเป็นด่านแรกที่จะฟันธงว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทนี้จะผ่านหรือไม่ โดยข้อสังเกตที่กฤษฎีกาเสนอมา ได้แก่

 

1. รัฐบาลยังตอบไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่?

 

เนื่องจากตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ระบุว่า การกู้เงินเพิ่มเติมต้องเกิดสถานการณ์วิกฤต หรือต้องใช้กรณีจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

 

2. รัฐบาลยังตอบไม่ได้ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะคุ้มค่าหรือไม่?

 

เนื่องจากตามมาตรา 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ระบุว่า การกู้เงินเพิ่มเติมจะกระทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม

 

โดยนอกจากข้อคิดเห็นจาก ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ แล้ว รัฐบาลยังต้องการรอฟังข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย เนื่องจากต้องการจะทำให้มั่นใจว่าการเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปจะไม่ผิดกฎหมายใดๆ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ได้รับโทษ หรืออาจถูกจำคุกหลังจากการดำเนินโครงการนี้

 

โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม สื่อหลายสำนักรายงานข้อคิดเห็นบางส่วนของ ป.ป.ช. ที่เตรียมส่งให้รัฐบาล โดยหลายข้อคิดเห็นของ ป.ป.ช. ก็เป็นข้อคิดเห็นที่หลายหน่วยงาน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยแสดงความเห็นไปแล้ว ได้แก่

 

3. โครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการคลัง

 

เนื่องจากหากรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล ดังนั้นภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ และภาระทางการเงินการคลังในอนาคต 

 

4. มีความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย เหตุแหล่งเงินไม่ตรงตามที่หาเสียงไว้

 

เนื่องจากเงื่อนไขการแจกเงินไม่ตรงตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายตอนหาเสียง จากเดิม 4 แหล่ง จากการบริหารงบประมาณมาเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยการอ้างเหตุวิกฤตเศรษฐกิจ และเงื่อนไขในการแจกเงินเปลี่ยนไป

 

โดยเหตุผลข้อที่ 4 นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุผลที่สำคัญและแก้ยากที่สุดเลยก็ว่าได้ หากรัฐบาลจะเลือกออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทต่อไป

 

เปิด ‘ตัวเลือก’ ที่รัฐบาลยังเหลืออยู่ หากต้องการทำดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป

 

วานนี้ (17 มกราคม) ที่รัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่เอกสารของ ป.ป.ช. โดยมองว่า รัฐบาลอาจจะใช้ความเห็นของ ป.ป.ช. เป็นเหตุผลล้มโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

 

พร้อมยืนยันว่า “ความเห็นของ ป.ป.ช. ไม่ได้เป็นข้อกฎหมายที่จำเป็นอะไร ซึ่งเท่าที่อ่านมาก็ไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ด้วยซ้ำไป แต่หากคิดว่าเป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลก็ควรรับฟัง” พร้อมย้ำว่า “แต่ก็ไม่ควรนำมาเป็นจุดอ้างอิง”

 

นอกจากนี้ ศิริกัญญายังกล่าวถึงตัวเลือกอื่นๆ ที่รัฐบาลอาจทำได้ ได้แก่

 

1. เปลี่ยนแหล่งเงินไปใช้งบประมาณปี 2568 แทน

 

อย่างไรก็ตาม ศิริกัญญากล่าวว่า งบประมาณปี 2568 ก็มีข้อจำกัดคือ ไม่มีที่ว่างเหลือให้ใส่โครงการขนาด 5 แสนล้านบาทเข้าไป ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังระยะปานกลาง

 

ดังนั้น “หากรัฐบาลลดขนาดของโครงการลงมาให้เล็กลง ก็พอที่จะยัดเข้าไปในปี 2568 ได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุดแล้วที่ทำได้” ศิริกัญญากล่าว

 

2. การแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ตัดคำว่าวิกฤตออก

 

นอกจากนี้ ศิริกัญญากล่าวถึงอีกวิธีที่เป็นไปได้คือ การแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ในกรณีที่รัฐบาลอยากจะกู้เงิน ไม่จำเป็นต้องมีวิกฤตก็ได้อะไร ซึ่งรัฐบาลก็เป็นกลุ่มเสียงข้างมากในรัฐสภาอยู่แล้ว 

 

3. ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทแทน พ.ร.บ.

 

อีกทางหนึ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้คือ การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงิน เป็นการบายพาสขั้นตอนที่ยุ่งยากต่างๆ 

 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าตัวเลือกการใช้ พ.ร.ก. อาจถูกตัดทิ้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะถูกตรวจสอบภายหลัง

 

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​การคลัง​ ยันยืนเมื่อวันที่ 16 มกราคมว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงินยังเป็นตัวเลือกหลัก โดยระบุว่า “ยอมรับว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินนั้นมีความเสี่ยง และรัฐบาลเองก็มีทางเลือกอื่น ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชกำหนด หรือการรองบประมาณ ก็อยู่ในอำนาจที่ทำได้ แต่ขณะนี้คณะกรรมการยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ดังนั้นจึงยังคงเดินหน้า พ.ร.บ.กู้เงินต่อไป” 

 

จุลพันธ์ลั่น ดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่ทันเดือนพฤษภาคม แต่ยืนยันยังไม่ล้มโครงการ

 

โดยเมื่อวานนี้ (17 มกราคม) จุลพันธ์กล่าวอีกว่า “ถ้าดูกรอบเวลาวันนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่น่าจะทันเดือนพฤษภาคม แต่รัฐบาลยืนยันว่าเราจะต้องเดินหน้านโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป” 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ทันกรอบงบประมาณปี 2567 ยาวไปถึงปี 2568 จุล​พันธ์กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ ต้องรอหารือเรื่องนี้ในที่ประชุมก่อน 

 

พร้อมปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่ายังคงจะออกเป็น พ.ร.บ.​กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หรือจะใช้แหล่งที่มาอื่น โดยขอให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ก่อน และจะรอจนกว่าจะได้ความเห็นจาก ป.ป.ช. แม้ว่าจะต้องรอนานกว่า 1 เดือน และตอนนี้ยังไม่มีตัวเลือกที่จะยุติโครงการหรือล้มโครงการ 

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่เห็นจุดที่ต้องยกเลิกโครงการ แต่จะมีโอกาสไปถึงจุดนั้นใช่หรือไม่ จุล​พันธ์กล่าวว่า “ผมยังไม่เห็นจุดนั้นครับ” ส่วนใครจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะเดินหน้าหรือยุติโครงการ จุล​พันธ์ย้ำว่า ต้องรอการพูดคุยกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X