×

รมว.คลัง เคาะ แจกเงินหมื่น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หลัง 20 กันยายนนี้ ให้กลุ่มเปราะบางราว 14.5 ล้านคนเป็นกลุ่มแรก

09.09.2024
  • LOADING...

รมว.คลัง เผย เล็งแจกดิจิทัลวอลเล็ตหลัง 20 กันยายนนี้ ให้กลุ่มเปราะบางราว 14.5 ล้านคนเป็นกลุ่มแรก เล็งปรับภาษีบริโภคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้สูง รวมทั้งปรับภาษีรายได้บุคคลและนิติบุคคลเพื่อแข่งขันเป็นศูนย์กลางการเงิน

 

วันนี้ (9 กันยายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้าง เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ทำให้บางอย่างต้องเร่งด่วนขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์บางอย่างก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย เช่น การฟื้นตัวของตลาดหุ้น หลังจากตลาดมีความเชื่อมั่นดีขึ้น

 

พิชัยกล่าวอีกว่า เนื่องจากเงื่อนไขปัจจุบัน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต (เฟสแรก) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดี ส่วนตัวต้องการเห็นการโอนเงินให้ประชาชนกลุ่มแรกภายในวันที่ 20 กว่าๆ ของเดือนกันยายน โดยประชาชนกลุ่มแรกที่จะได้รับคือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอาจรวมถึงผู้พิการ 2.2 ล้านคนด้วย จะอยู่ที่ประมาณ 14.5 ล้านคน

 

ก่อนหน้านี้ เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยืนยันว่า งบกลางปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องใช้จ่ายภายในสิ้นเดือนนี้

 

สำหรับการประชุมดิจิทัลวอลเล็ตนัดต่อไป พิชัยคาดว่าจะมีขึ้นหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

 

เล็งปรับภาษีเพื่อลดช่องว่างคนรายได้น้อย

 

พิชัยระบุอีกว่า ไทยและทุกประเทศกำลังศึกษาเรื่องการปรับปรุงภาษีบริโภค รวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างไรก็ดี พิชัยมองว่า การปรับปรุงควรทำไปเพื่อการปิดช่องว่างระหว่างคนรายได้น้อยและรายได้สูง 

 

วิสัยทัศน์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลและ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษา Negative Income Tax ซึ่งเป็นการโอนเงินสดไปยังผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ เพื่อการดูแลผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ ลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

 

เล็งปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลไทยให้แข่งขันได้

 

พิชัยยังกล่าวถึงกรณีการปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับนิติบุคคล โดยระบุว่า เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ไทยควรตั้งเงื่อนไขที่จะสามารถแข่งขันได้

 

“หากมองที่มาตรฐานระดับโลก (International Standard) ก็มีแนวโน้มจะลดลงส่วนใหญ่ ท่ามกลางภาวะที่องค์กรต่างๆ อาจจะต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมพร้อมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการที่จะปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น” พิชัยกล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีอัตราภาษีธุรกิจการเงินต่างๆ ค่อนข้างสูงกว่าศูนย์กลางการเงินอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์และดูไบ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising