วันที่ 10 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ไฟเขียวโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป 50 ล้านคน เริ่มลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3/67 ผ่านแอปของรัฐบาล ยืนยันเงินเข้ากระเป๋าครั้งเดียวแน่นอนไตรมาส 4 หวังโครงการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโต 1.2-1.6% พร้อมย้ำหลักเกณฑ์คนที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทว่า “ทำตามคำแนะนำของแบงก์ชาติ ว่าให้ดูแลเฉพาะกลุ่ม”
ใครได้บ้าง
กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนประมาณ 50 ล้านคน
- อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
เงื่อนไขการใช้จ่าย
- ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
- ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า
- ใช้จ่ายได้หลายรอบ รอบที่ 1 ใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด)
- ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไปจะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
ประเภทสินค้า
- สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้
- ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์
คุณสมบัติร้านค้าที่เข้าร่วมได้
- สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT)
- ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
การจัดทำระบบจะใช้ผ่านแอปพลิเคชันใด
- รัฐบาล จะร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อยู่ระหว่างพัฒนาเป็น Super App ให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ Open Loop
- ไม่ใช้ผ่านแอปเป๋าตัง
แหล่งเงินจะใช้เงินจากงบประมาณ 3 แหล่ง
- เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
- การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะดูแลเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ 17 ล้านคน ตามมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 2568 จำนวน 172,300 ล้านบาท
- การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
เริ่มลงทะเบียนและใช้ได้เมื่อใด
- ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567
- เริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
เศรษฐามั่นใจเศรษฐกิจเพิ่ม GDP 1.2-1.8%
สำหรับความคุ้มค่า ประชาชน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.2-1.8 จากกรณีฐาน และเมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐ เช่น มาตรการอสังหา ก็เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ GDP ไทยปีนี้ ขยายตัวได้ ร้อยละ 5% ในปี 2568 ได้ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ
ดังนั้น หลังจากนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567ต่อไป
ต่อกรณีคำถามที่ว่า มาตรการที่ออกมาในวันนี้ ความรู้สึกลึกๆ ของนายกฯ ผิดกับความตั้งใจแรกในตอนหาเสียงอย่างไรบ้าง เศรษฐาระบุว่า
“ระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นได้ แน่นอนรัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชน ที่คาดว่าทีแรกจะออกต้นปีนี้ แต่ก็เลยไปถึงปลายปี ต้องฟังเสียงของทุกคนที่ให้คำแนะนำ เสนอแนะ และพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมา ต้องมีการดูอย่างดี อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นโครงการที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกอยู่กับประชาชน”
ส่วนหลักเกณฑ์คนที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทนั้น เศรษฐาระบุว่า “ผมทำตามคำแนะนำของแบงก์ชาติว่าให้ดูแลเฉพาะกลุ่ม ฉะนั้นคนที่มีเยอะแล้วก็เป็นไปตามนั้น เพราะมันเป็นเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นหลายภาคส่วน”
จุลพันธ์ยันรัฐบาลบริหารจัดการใช้หนี้ได้ แต่ไม่รับปากใช้หมดเมื่อใด
นอกจากนี้ จุลพันธ์ รมช.คลัง ยืนยันว่า จะใส่เม็ดเงินเป็นล็อตเดียว ครั้งเดียว ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องกำหนดใช้เงินให้ร้านค้าขนาดเล็กก่อน ถึงจะสามารถเบิกเงินได้ในรอบที่ 2 นั้น เหตุผลเพราะทางคณะกรรมการฯ มีข้อห่วงใยเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน
ส่วนเหตุผลที่ไม่ใช้งบประมาณประจำปีแบบนี้ตั้งแต่แรก จุลพันธ์ระบุว่า ได้พิจารณาแล้ว แต่มีหลายประเด็น และหลายปัจจัย เมื่อก่อนเราพูดกันว่าการกู้เงินคือการสร้างเงินใหม่ ซึ่งแบบนี้ก็ถือว่าเป็นการสร้างเงินใหม่อีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เพราะว่ามีการขาดดุลมากกว่ากรอบงบประมาณ หากรัฐบาลไปใช้งบประมาณและไม่มีการขาดดุลเพิ่มเติมก็ถือว่าเป็นเงินเก่า ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก
“แนวทางนี้ถือว่าเป็นเงินที่เติมเข้าไปใหม่ ยืนยันว่าเงินที่นำมาจาก ธ.ก.ส. ไม่ได้เป็นการผิดวัตถุประสงค์ และรัฐบาลสามารถบริหารจัดการในการใช้หนี้ได้ แต่ไม่สามารถจะตอบเวลาได้ว่าจะใช้หนี้หมดเมื่อไร” จุลพันธ์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เศรษฐาเชื่อ ประชาชนจะรู้สึกว่าเป็นนิมิตหมายดี แจกเงิน 10,000 บาท 50 ล้านคน
- คืบหน้าแจกเงิน 10,000 บาทผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลใช้แหล่งเงินจากงบประมาณปี 67-68
- ชมคลิป: จับตาบทสรุป ‘ดอกเบี้ย-ดิจิทัลวอลเล็ต’ | Morning Wealth 10 เม.ย. 2567