×

2 แกน 3 ทางเลือกของนโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’

01.09.2023
  • LOADING...
เงินดิจิทัล

ในช่วงที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสถกกับนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน และคนฝั่งเทคโนโลยีในเรื่องนโยบายดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลใหม่มาพอสมควร จึงอยากจะเขียนแชร์ข้อคิดใหม่ๆ ที่ได้เผื่อมีประโยชน์ครับ 

 

โดยสรุปผมมองว่านโยบายนี้มี 2 แกนสำคัญที่ผูกติดอยู่ด้วยกัน เป็นการพยายามยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว 

 

แกนที่ 1 ‘กระตุ้น’ เศรษฐกิจ – เป็นโจทย์เร่งด่วน ที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะให้ความสนใจ โดยมี 3 คำถามที่ต้องคิด

 

1.1 รูปแบบไหน – แจกทุกคน หรือมีข้อแม้อะไรบ้าง

 

ไอเดียหนึ่งคือแทนที่จะแจกทุกคน แจกเฉพาะคนที่รายได้น้อยและจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ได้ไหม เพราะกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสจะใช้เงินที่ได้มามากที่สุด แน่นอนการคัดกรองคนที่รายได้น้อยอาจทำได้ยาก เพราะแรงงานกว่าครึ่งอยู่นอกระบบ แต่วิธีหนึ่งที่อาจใช้ได้ตามที่ TDRI เคยเสนอคือ คัดกรอง ‘คนรวย’ ออก เพราะข้อมูลตรงนั้นอาจหาได้ง่ายกว่า แม้จะรั่วไปบ้างอย่างน้อยก็ไม่ใช่คนรวยทุกคนจะได้

 

1.2 เท่าไร – ใช้เงินเท่าไรถึงจะเหมาะสม

 

ตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ และการส่งออกคงซึมอีกนาน การจะกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่คำถามคือปริมาณเงินที่ใช้จำเป็นต้องมากขนาด 5 แสนกว่าล้านบาท (~3% ของ GDP) หรือไม่ ทางเลือกหนึ่งคือใช้เงินน้อยกว่านั้น และเก็บ ‘ยาแก้ปวด’ ทางการคลังไว้เผื่ออนาคตเศรษฐกิจโลกล้มป่วยอีก เราจะยังได้มียาไว้รับประทาน แน่นอนว่าหากไม่ได้แจกทุกคนก็อาจใช้งบน้อยลงด้วย แม้ทุกคนจะได้ 10,000 เหมือนเดิม

 

1.3 เอาเงินจากที่ไหน – จะกระทบฐานะการคลังมากไหม

 

ความกังวลเรื่องแหล่งเงินจะมาจากไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก (มากกว่างบลงทุนในปีงบประมาณล่าสุดทั้งปี) และความกังวลว่าหากมันไม่ได้เพิ่มรายได้/GDP ไปถึง 5-7% ตามที่คาด และไม่ได้เพิ่มรายได้ภาษีเป็นแสนล้านจะทำอย่างไร (เช่น หากตัวคูณหรือ Multiplier ของการกระตุ้นการคลังครั้งนี้มันไม่สูงอย่างที่คิด – ขอไม่เจาะเรื่องนี้ตรงนี้)

 

ทางหนึ่งก็คือลดไซส์ของนโยบายนี้ลงมาหน่อยอย่างที่กล่าวข้างบน และอาจต้องทำ Scenario เผื่อไว้ว่าถ้ารายได้ภาษีไม่เพิ่มเท่าที่คิดจะหาแหล่งเงินมาเสริมจากตรงไหน

 

แกนที่ 2 ‘ทรานส์ฟอร์ม’ – การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลใหม่ เป็นโจทย์ระยะยาว ที่หากทำดีๆ จะช่วยพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจและการทำนโยบายในอนาคตได้ 

 

บางคนในภาคเทคโนโลยีชี้ให้เห็นว่า นโยบายนี้อาจไม่ได้มองแค่การกระตุ้นระยะสั้น แต่เป้าหมายจริงๆ คือการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลใหม่ เช่น ระบบชำระเงินของประเทศแบบใหม่บน Blockchain ที่แตกต่างจากพร้อมเพย์-เป๋าตัง ที่คุ้นเคยกัน

 

ถ้ามองจากมุมนี้การแจกเงินอาจไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่เป็นการให้แรงจูงใจดึงดูดให้คนเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐาน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ของประเทศ 

 

2.1 ทำไมต้อง Blockchain

 

แต่ความจริงระบบการชำระเงินของพร้อมเพย์และวอลเล็ตเป๋าตังก็ดีมากอยู่แล้ว ทำไมยังต้องทำใหม่เป็น Blockchain? จากที่คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ การใช้ Blockchain มีข้อดีหลักๆ 3 ข้อคือ Transparency (โปร่งใส), Security (ปลอดภัย) และ Programmability (โปรแกรมได้) 

 

แต่ในกรณีของนโยบาย 10,000 บาท หลายคนมองว่าน่าจะต้องทำออกมาเป็นรูปแบบที่ไม่ได้ประโยชน์เรื่องความโปร่งใสและความปลอดภัยพิเศษของ Blockchain (ศัพท์เทคนิคคือ เป็น Private/Permissioned และ Centralised Blockchain) ข้อดีจึงเหลือเรื่องการเป็น Programmability = เงิน/คูปองที่โปรแกรมให้มีฟีเจอร์ต่างๆ ได้ เช่น ต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน ต้องใช้ในบางบริเวณเท่านั้น และหากคิดเล่นๆ ต่อไปในวันหน้าอาจเติมฟีเจอร์เข้าไปอีก เช่น หากใช้สำหรับการศึกษาอาจได้รับสิทธิพิเศษเพิ่ม เป็นต้น 

 

แต่จากที่คุยกับคนฝั่งเทคโนโลยีบางคนก็บอกว่า โปรแกรมฟีเจอร์ทั้งหลายที่ว่ามานี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ Blockchain เลยก็ได้ (คล้ายกับที่คูปองส่วนลดที่เราใช้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ก็มีเงื่อนไขและฟีเจอร์โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีนี้) 

 

สรุปคือยังไม่ชัดว่าทำไมต้องใช้บล็อกเชนในกรณีนี้ (ย้ำว่าอาจมีเหตุผลแต่ผมยังไม่รู้)

 

2.2 ความสัมพันธ์กับ CBDC คืออย่างไร 

 

ที่สำคัญคือในขณะที่เรากำลังให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็กำลังทดลองพัฒนาเงินบาทดิจิทัลของ ธปท. เอง Central Bank Digital Currency-CBDC) ที่น่าจะมีฟีเจอร์คล้ายๆ กัน โดยล่าสุดก็เริ่มมีการจับมือกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งให้คนใช้ใน Use Case ทั่วไปบ้างแล้วในวงจำกัด เลยไม่แน่ใจว่าเงิน/คูปองดิจิทัลนี้จะมีความสัมพันธ์กับ CBDC อย่างไร หรือจะใช้ CBDC ไปเลยได้ไหม?

 

นอกจากจะต้องตีโจทย์เหล่านี้ให้แตกแล้ว รัฐบาลอาจต้องคิดให้ดีว่าจะให้ความสำคัญกับโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือโจทย์สร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่มากกว่ากัน เพราะการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แม้เป็นไอเดียที่ดีก็มีความเสี่ยงที่จะพลาดนกทั้งสองตัว

 

 

โดยส่วนตัวมองว่ามี 3 ทางเลือกกว้างๆ

 

ท่าที่ 1 เน้นกระตุ้น

ให้ความสำคัญกับโจทย์กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งแปลว่าใช้อะไรก็ได้ที่รัฐบาลและคนไทยคุ้นอยู่แล้ว เร็ว มีระบบรองรับ เช่น แจกเงินผ่านระบบเป๋าตัง-พร้อมเพย์เช่นเดิม

 

ท่าที่ 2 เน้นทรานส์ฟอร์ม

ให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน/แพลตฟอร์มใหม่ของประเทศเป็นหลัก การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง 

 

ในกรณีอาจไม่ต้องใช้เงินมากเท่านี้ เพราะเงินเป็นเพียงแรงจูงใจให้คนใช้แพลตฟอร์มใหม่เท่านั้น และไม่ต้องเร่งรีบ อาจมีการค่อยๆ ทดลองระบบใหม่ในสเกลจำกัดก่อนเพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาและความท้าทายในการลงมือทำจริง รวมทั้งการสื่อสารให้คนเข้าใจ (เพราะคนยังไม่คุ้น)

 

ท่าที่ 3 ‘ลูกผสม’ ทำทั้งกระตุ้นและทรานส์ฟอร์มแต่อาจถอยกันคนละก้าว

 

ซึ่งทำได้หลายรูปแบบมาก เช่น คิดเร็วๆ อาจแบ่งเงิน 10,000 บาทเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแจกเงินผ่านระบบที่คนคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นหลัก เป็นเงินธรรมดาไม่ใช่บล็อกเชน เน้นความเร็ว เรียบง่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และก้อนหลังค่อยเป็นคูปองดิจิทัลที่ว่า ซึ่งอาจไม่ต้องเยอะเพื่อดึงคนมาใช้ระบบใหม่

 

โดยการแจกจ่ายคูปองดิจิทัลนี้รัฐอาจไม่ต้องทำเองหมด หรือทำผ่านแอปวอลเล็ตตัวเดียว แต่ให้ธนาคารและสถาบันการเงินที่ทำวอลเล็ตที่คนใช้เยอะๆ อยู่แล้วมาทำระบบรองรับคูปองดิจิทัลที่ว่านี้ และช่วยกระจายมันให้ถึงมือประชาชนกลุ่มต่างๆ ข้อดีคือคนที่มี e-Wallet / Mobile Banking พวกนี้อยู่แล้ว เคยทำ KYC ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วก็ไม่ต้องมาลงแอปพลิเคชันใหม่ แถมแอปพวกนี้ก็จะแข่งขันกันสร้าง Use Case ใหม่ๆ ให้คูปองดิจิทัลนี้ได้ด้วย

 

แน่นอนครับว่านี่ก็แค่ไอเดียหนึ่งเท่านั้น ถ้าช่วยๆ กันคิดคงมีไอเดียดีกว่านี้อีกมาก ย้ำอีกครั้งว่าที่เขียนเรื่องนี้อีกเพราะเห็นว่าเป็นไอเดียนโยบายที่น่าสนใจและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก จึงอยากชวนระดมสมองช่วยกันถกแบบสร้างสรรค์ให้มากๆ ครับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X