เงินดิจิทัลต่างกับเงินธรรมดาอย่างไร?
ย้อนกลับไปในอดีต เราคงรู้กันดีว่ามนุษย์เราเคยใช้หอยเบี้ย แร่เงิน แร่ทอง เหล็ก หิน และสิ่งต่างๆ มากมายมาเป็นเงิน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกัน แต่เราควบคุมปริมาณเงินเหล่านั้นได้ยาก จนเกิดปัญหาเงินเฟ้อเงินฝืดตามอุปทานของเงิน ต่อมารัฐก็เข้ามาควบคุมโดยการออกธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ เพื่อสร้างมาตรฐาน ทำให้การค้าสะดวกมากขึ้น แต่แล้วในที่สุดการพิมพ์เงินอย่างขาดวินัยทางการคลัง ก็ทำให้เกิดเงินเฟ้อ จนมีความจำเป็นต้องมีธนาคารกลางเข้ามาเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินให้มีความเหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจ
และเพื่อให้ค่าเงินมีเสถียรภาพและประชาชนมีความเชื่อมั่นในเงิน เงินจึงมักจะมีสินทรัพย์ที่มีค่าหนุนหลัง เช่น ทองคำและเงิน ก่อนที่จะมาเป็นเงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเยน เป็นต้น
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนกรมธนารักษ์ ภายใต้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ออกเหรียญกษาปณ์ และมีเงินสดหมุนเวียนอยู่ตามนิยามของเงินความหมายอย่างแคบรวมกันประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยธนบัตรที่ออกต้องมีเงินสำรองหนุนหลัง 100%
คราวนี้เรามาพูดถึงโครงการเงินช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ก้อนใหญ่ๆ ที่ช่วยเหลือประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นโดยผ่านการแจกเงินอุดหนุน เช่น เราไม่ทิ้งกัน เป็นการโอนเงินเข้าบัญชี ส่วนโครงการอย่าง ม.33 เรารักกัน, เราชนะ ฯลฯ เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีอิเล็กทรอนิกส์, เป๋าตัง รวมถึงโครงการอย่างคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ที่เป็นการใช้จ่ายผ่านเป๋าตัง แต่เงินชดเชยจะถูกโอนตรงให้กับร้านค้า
โครงการเหล่านี้ไม่ได้ไปแตะต้องกระบวนการสร้างเม็ดเงินแต่อย่างใด เป็นการที่ให้การสนับสนุนกับประชาชนโดยตรง และใช้เงินกู้ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบจากมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ดังนั้นจึงทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มหนี้สินต่อ GDP จากประมาณ 40% ขึ้นมาที่ 60% และมีภาระดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว แต่ก็เป็นไปเพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่หดตัวลงจนภาคธุรกิจไม่สามารถอยู่ได้ และไม่ให้ประชาชนมีความลำบากจนเกินควร
จริงอยู่เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในภาวะที่ดีมากนัก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของ GDP ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งยังอยากที่จะได้รับความช่วยเหลือ แต่ในโครงการเงินดิจิทัลนี้กลับเป็นความพยายามที่ต่างกันออกไปจากในช่วงโควิด-19 เพราะเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวแล้ว ความจำเป็นจึงน้อยลงกว่าเดิมมาก ประกอบกับรัฐบาลมีงบประมาณที่ขาดดุลมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา หากจะก่อหนี้มากถึง 5.5 แสนล้านบาท จะถือว่าเป็นหนี้ที่ต้องก่อใหม่จำนวนมาก ซึ่งมากถึง 2-3% ของ GDP และ 16% ของวงเงินงบประมาณปกติ ทั้งๆ ที่เงินงบประมาณมากถึง 75% ก็ถูกจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายประจำ รวมถึงรายจ่ายให้กับบุคลากรของรัฐมากกว่า 36%
เงินดิจิทัลจึงถูกออกแบบสไตล์ ‘การเลี่ยงบาลี’ ให้สามารถ ‘สร้างเงิน’ จาก ‘อากาศ’ ให้เข้าไปอยู่ในมือประชาชนให้นำไปใช้จ่ายได้โดยที่ไม่ต้องกู้เงินใดๆ และหลบเลี่ยงข้อจำกัด ‘วินัยทางการคลัง’ จึงดูไม่ต่างกับแนวความคิด Helicopter Money ของ Milton Friedman ในหนังสือ The Optimum Quantity of Money ที่พูดถึงข้อถกเถียงที่จะแก้ไขปัญหา ‘เงินฝืด’ ด้วยการโปรยเงินผ่านเฮลิคอปเตอร์ แต่เรากำลังคิดอยากจะทำในสภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ เงินดังกล่าวดูเหมือนเป็นเงินที่เสกขึ้นมา และคิดว่าจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้โดยที่ไม่มีผลกระทบหรือภาระตามมา แต่ไหนเลย จริงๆ แล้วมันมีผลกระทบอย่างมากหลายเรื่องที่ไม่ได้มีการถกเถียงกันอย่างจริงจัง
The Impossible Multiplier
ตัวทวีคูณ หรือ Multiplier คือตัวเลข ‘จินตนาการ’ ตามทฤษฎีของ Keynes (นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ) ที่เชื่อว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลจะทำให้ GDP เติบโตมากขึ้นกว่าเงินที่จ่ายลงไป จากการที่รายจ่ายของคนคนหนึ่งจะเป็นรายได้ของคนอีกคนหนึ่ง และคนคนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินนั้นส่วนหนึ่งวนต่อไปเรื่อยๆ
ความเพ้อฝันของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล คือการคิดว่าการแจกเงินแบบนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล (ตัวทวีคูณเคยถูกประเมินว่าเป็น 6 ในตอนโฆษณา ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ 2.7)
เอกสารวิชาการของสำนักงบประมาณรัฐสภาได้ทบทวนวิธีการวิเคราะห์จากหลายหน่วยงาน และได้สรุปว่าตัวทวีคูณในบริบทของประเทศไทยมีค่าตั้งแต่ 0.947-1.871 เท่านั้นเอง
แต่นี่ยังไม่ได้ลดทอนค่าตัวทวีคูณจากเงื่อนไขต่างๆ ที่เงินดิจิทัลใส่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดระยะทางที่ใช้ จำกัดประเภทสินค้าที่ใช้ จำกัดระยะเวลาที่ใช้ ความยุ่งยากที่ต้องใช้ระบบทางการเงินใหม่ ปัญหาการ On Board ร้านค้า ความกลัวในการโดนตรวจสอบภาษี ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะยิ่งพาทำให้ตัวทวีคูณนี้ต่ำลงไปอีก
นอกจากนั้นการแจกเงินแบบหว่านแหทำให้เงินส่วนหนึ่งไปยังผู้ที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ซึ่งแปลว่าคนเหล่านั้นอาจจะไม่ใช้เงินนี้ หรือใช้แต่ไปทดแทนแผนการใช้จ่ายเงินปกติของเขา ทำให้เกิดการลดการใช้จ่ายในอนาคตที่จะมีผลลบกับ GDP ในอนาคต
ซึ่งปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าให้ผมเดา (เดาล้วนๆ) ค่านี้น่าจะต่ำกว่า 1 แน่ๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อยู่เฉยๆ อาจจะดีกว่าเสียด้วยซ้ำ ในทฤษฎีของ Keynes ตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ที่ได้จากการใช้จ่ายของรัฐบาลโดยตรงมักจะมีค่าตัวทวีคูณสูงกว่าตัวทวีคูณที่ได้จากเงินโอน (Transfer Payments Multiplier) เนื่องจากเงินที่ใช้จ่ายในขาแรกโดยรัฐย่อมจะทำให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการขึ้นมา ในขณะที่การแจกเงินไม่มีตรงนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น หากรัฐบาลใช้จ่ายเงินดังกล่าวเพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบคมนาคม ระบบการเงินต่างๆ ยิ่งจะทำให้เป็นประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพของประชาชนเข้าไปอีก
ดังนั้นหากจะให้เลือกแจกเงินฟรีกับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ผมเลือกอย่างที่สองแน่ๆ ครับ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่ามาก แต่อาจจะใช้ในการหาเสียงไม่ได้ เพราะประชาชนจะไม่เห็นตัวเงินที่ถูกจ่ายลงมาจากการใช้จ่ายภาครัฐโดยตรง