บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การคืนใบอนุญาตช่อง 3 SD หมายเลข 28 และ 3 Family หมายเลข 13 โดยเตรียมยุติออกอากาศวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป
การคืนใบอนุญาตในครั้งนี้ บีอีซี เวิลด์จะได้รับเงินค่าชดเชยรวมเป็นเงิน 842,627,532.72 บาท แบ่งเป็น ช่อง 3 SD มูลค่า 680,083,695.45 บาท และช่อง 3 Family มูลค่า 162,543,837.27 บาท ซึ่งจะได้รับเงินหลังจากยุติออกอากาศภายใน 60 วัน
ย้อนกลับไปในวันที่บีอีซี เวิลด์ตัดสินใจประมูลทีวีดิจิทัลมาถึง 3 ช่องด้วยกัน ได้แก่ หมวดช่องรายการทั่วไป ความละเอียดสูง (HD) มูลค่า 3,530 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 จากราคาตั้งต้นเพียง 2,020 ล้านบาท ช่องทั่วไปความคมชัดปกติ (SD) ราคา 2,275 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 380 ล้านบาท และช่องเด็ก ครอบครัว และเยาวชน 666 ล้านบาท โดยมีราคาตั้งต้น 140 ล้านบาท
ครั้งนั้น บีอีซี เวิลด์หมายใจว่า ยิ่งมีช่องในมือเยอะจะสามารถดึงเม็ดเงินโฆษณาที่กำลังเฟื่องฟูเข้ามาได้เยอะ แต่ในความเป็นจริงเม็ดเงินโฆษณากลับมีแนวโน้มลดลงทุกปีตามภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน สมาคมโฆษณาประเมินทุกปีว่า เม็ดเงินจะขึ้นไปแตะแสนล้านเหมือนในวันวาน แต่ที่ผ่านมาเส้นกราฟก็ยังไม่สามารถพุ่งขึ้นไปจุดเดิมได้สักที
ที่สำคัญเค้กก้อนเดิมยังถูกแบ่งออกเป็น 24 ช่อง แทนที่แต่ละช่องจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับต้องมาแย่งกันเอง อีกทั้งยังถูกแบ่งไปสู่ช่องทางออนไลน์ ทั้งสื่อใหม่ๆ และกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่เริ่มได้รับความนิยมจากแบรนด์มากขึ้น เพราะมองว่าผู้บริโภคให้ความเชื่อถือมากกว่าโฆษณา รวมไปถึงการทำโปรโมชัน ซึ่งทำให้เห็นผลในแง่ของยอดขายมากกว่า
จึงไม่ต้องแปลกใจ หากรายได้และกำไรของบีอีซี เวิลด์จะลดลงเรื่อยมาจากรายได้ 16,017.91 ล้านบาท กำไร 2,982.71 ล้านบาท ในปี 2558 เหลือรายได้ 10,504.09 ล้านบาท กำไรติดลบ 330.18 ล้านบาท ถือเป็นการติดตัวแดงครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกในปี 2539
สำหรับครึ่งปีแรก บีอีซี เวิลด์แจ้งมีรายได้รวมไตรมาส 2/2562 ที่ 2,092.3 ล้านบาท ลดลง 22.8% จากปีที่แล้ว แต่ยังขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง 103.6 ล้านบาท (ลดลง 359% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว)
ดังนั้น การคืนช่องในครั้งนี้จะทำให้บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่อง 33 HD ช่องเดียว รวมถึงการปรับแผนระยะสั้นมามุ่งเน้นธุรกิจโทรทัศน์ ธุรกิจออนไลน์ และการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ (Global Content Licensing) ตลอดจนแผนระยะยาวต่อยอดมูลค่าสร้างรายได้จากธุรกิจเดิม น่าจะช่วยให้บริษัทสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้
ขณะเดียวกัน นีลเส็นรายงานเม็ดเงินโฆษณาช่วงครึ่งปีแรก 2562 อยู่ที่ 50,702 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 1,033 ล้านบาท หรือลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 51,735 ล้านบาท สำหรับทีวีมีมูลค่าโฆษณา 34,154 ล้านบาท ลดลง 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 33,273 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล