×

‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน’ ทางออกของการขับเคลื่อนธุรกิจหลังวิกฤตโควิด

25.11.2022
  • LOADING...

ในช่วงระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งทางออกของการแก้ปัญหาในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่การลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (Cost Reduction) หากแต่ต้องอาศัยการมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีคลาวด์ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เทคโนโลยีเพื่อการทำงานทางไกล และการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน และปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในระยะยาว

 

ทั้งนี้ การทำงานในรูปแบบเดิมๆ ที่ยังต้องถ่ายสำเนาเอกสาร การประชุมแบบตัวต่อตัว หรือการเข้าทำงานในสถานที่ทำงานทุกวัน อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานอีกต่อไป ดังนั้นผู้บริหารองค์กรควรหันมาพิจารณาการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความยืดหยุ่น และดึงดูดพนักงานให้คงอยู่กับองค์กรท่ามกลางกระแสการลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation) ที่ยังคงดำเนินต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดยการใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ระบบออโตเมชัน หรือการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง จะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อปูทางสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ขององค์กร ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ (Chief Information Officer: CIO) จะต้องมีหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝัน รวมทั้งต้องเลือกลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างคุ้มค่าและมีความเหมาะสมกับตัวธุรกิจ

 

บทความ ‘Keeping the digital transformation trend on track’ ของ PwC ประเทศออสเตรเลีย ได้นำเสนอ 4 ข้อควรพิจารณาเมื่อต้องตัดสินใจลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้บริหารสามารถใช้เป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจยุคหลังโควิด ดังต่อไปนี้

 

1. เน้นการลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

การลงทุนด้านเทคโนโลยีนั้นจะเป็นตัวสะท้อนว่าองค์กรต้องการปรับปรุงวิธีการทำงาน รวมถึงการส่งมอบสินค้าและบริการให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีความทันสมัย เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวลูกค้าและพนักงานภายในองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้องค์กรสามารถส่งมอบผลลัพธ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น แต่การลงทุนด้านเทคโนโลยีด้วยเงินจำนวนมากมายมหาศาลก็ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล (Digitisation) ได้เสมอไป

 

2. วางกลยุทธ์สำหรับระยะกลาง และมีแผนปฏิบัติสำหรับระยะสั้น

องค์กรจำเป็นต้องมีแผนงานที่สามารถปฏิบัติได้จริงและมีวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต เพราะความไม่แน่นอนนั้นมีอยู่รอบด้าน ดังนั้นแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีจะต้องมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

3. พัฒนาระบบการทำงานหลังบ้าน

ในช่วงโควิดหลายองค์กรมุ่งใช้เทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาระบบการทำงานหน้าบ้าน เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการให้สำเร็จลุล่วง แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว นี่จึงเป็นเวลาที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับระบบการทำงานหลังบ้าน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างความคล่องตัว จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้

 

4. ให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานด้านข้อมูล

ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงกำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านการสร้างประสิทธิผลในการทำงาน ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า และความรวดเร็วในการเข้าสู่ตลาดสำหรับสินค้าและบริการ ดังนั้นองค์กรจะต้องไม่มองแค่มิติใดมิติหนึ่ง แต่ต้องผสมผสานองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ เพื่อนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ

 

จากทั้งหมดที่กล่าวไปเราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าความไม่แน่นอนในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผู้บริหารจะไม่สามารถกลับไปดำเนินธุรกิจเหมือนในยุคที่ไม่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อีกต่อไป ซึ่งข้อมูลจาก IDC คาดการณ์ว่า 80% ของโลกจะใช้ระบบออนไลน์ภายในปี 2567 และภายในปี 2570 นั้น 41% ของรายได้ขององค์กรจะมาจากสินค้าและบริการด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าผู้บริโภคได้เปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การจับจ่ายสินค้าและบริการออนไลน์ในช่วงโควิด และจะยังคงใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้ต่อไป ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐเองก็เร่งสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นกัน นี่จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งที่องค์กรจะต้องเร่งลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X