Digital Literacy สอนลูกใช้ดิจิทัลเป็น ไม่จิตตก ไม่ติดจอ
‘อยากให้ลูกเก่ง AI แต่กลัวลูกติดจอและจิตตก’
คือความกังวลร่วมสมัยของพ่อแม่ยุคใหม่ โดยเฉพาะคนที่มีลูกอยู่ใน Gen Alpha ที่เกิดหลังโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว
เด็ก Gen Alpha รุ่นแรกเกิดในปี 2010 หลัง สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัว iPhone รุ่นแรก 3 ปี (ปี 2007) และอย่างที่รู้กัน การมาถึงของสมาร์ทโฟนในวันนั้น ได้เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล
สิ่งต่างๆ จากเคยอยู่เป็นที่เป็นทาง ความรู้และข้อมูลข่าวสาร จนถึงสื่อลามกอนาจาร เข้าถึงได้เพียงแค่ปลายนิ้วมือ
ไม่แปลกที่พ่อแม่ยุคใหม่จะวิตกกังวล เพราะจุดสำคัญที่ดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนโลกคือการทลายช่องว่างของ ‘พื้นที่’ และ ‘เวลา’ ให้เลือนหายไป
ทุกสิ่งทั้งดีและร้าย ทั้งมีประโยชน์และเป็นพิษ จึงเข้าถึงเด็กๆ ได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ Digital Literacy หรือการมีความรู้ดิจิทัลอย่างเข้าใจและใช้เป็น จึงเป็นทักษะสำคัญ และเป็นทักษะชีวิตในวันที่ดิจิทัลคือเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและชีวิตผู้คน
- ซื้อบัตรเข้าร่วมงาน ALPHA SKILLS SUMMIT 2025 ได้แล้ววันนี้ที่ ZipEvent
- ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://thestandard.co/alphaskillssummit2025/
ควรให้ลูกใช้จอดีไหม ?
#ควรให้ลูกใช้จอดีไหม คือคำถามแห่งยุคสมัยและเป็นคำถามสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับทักษะด้าน Digital Literacy
หากมองว่าจุดร่วมกันของสิ่งที่เรียกว่า ‘ทักษะ’ คือการฝึกฝน การได้จับใช้และมีประสบการณ์ตรงจึงเป็นเรื่องจำเป็น
ควรให้ลูกใช้จอเมื่อไร ?
คำถามต่อมา #ควรให้ลูกใช้จอเมื่อไร เรื่องนี้มีคำตอบหลากหลาย และยังไม่มีบทสรุป
พ่อแม่ที่กังวลมากอาจเลือกที่จะปิดรับ ห้ามไม่ให้ลูกใช้สมาร์ทโฟนจนกว่าจะถึงวัยรุ่น แต่ในใจลึกๆ ก็แอบกังวลว่าลูกอาจกลายเป็นเด็กล้าหลังที่ขาดทักษะด้านดิจิทัล
ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่ผ่อนปรนมากกว่า เลือกที่จะอนุญาตให้ใช้แต่จำกัดเวลา โดยเริ่มอนุญาตให้เข้าถึงจอได้เมื่ออายุ 3 ขวบ และค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนตามพัฒนาการและช่วงวัย
ทั้งสองวิธีนี้ยังไม่มีบทสรุปว่าวิธีไหนดีที่สุด แต่ก็มีมุมมองชวนคิดจากผู้เชี่ยวชาญที่มองว่าเรื่องการใช้จออาจไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่และตัวเด็กมีความพร้อมมากแค่ไหน
ถ้าพ่อแม่พร้อม เด็กพร้อมมากเท่าไร ก็ควรให้เขาเล่นมากเท่านั้น
หมอแน๊ต ดร. นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกรมสุขภาพจิต หนึ่งในสปีกเกอร์งาน Alpha Skills Summit 2025 บอกว่า แม้ลูกจะอายุกี่ขวบก็ตาม ถ้าพ่อแม่ไม่พร้อม ลูกไม่พร้อม ก็ไม่ควรให้ใช้จอ
“ยกตัวอย่าง ‘ความไม่พร้อม’ เคสจริงที่ผมเจอบ่อยๆ คือกรณีพ่อแม่มาปรึกษาเพราะลูกติดเกม หลังจากให้คำปรึกษาแล้วผมจะชอบหันไปถามพ่อแม่ว่ารู้จักเกมที่ลูกเล่นหรือเปล่า เชื่อไหมครับว่ามีพ่อแม่ไม่ถึง 10-20% เท่านั้นที่รู้”
หมอแน๊ตแนะนำว่า การเลี้ยงลูกยุคนี้แม้จะยากกว่ายุคไหน เพราะต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน แต่ถ้าอยากเลี้ยงลูกให้เท่าทันดิจิทัล ต้อง ‘อย่าหนี’ แต่ให้เรียนรู้ไปกับลูกด้วยกัน เพราะข้อดีของโลกดิจิทัลคือทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงเสมอ ทุกคนจึงตามทันกันได้ เริ่มต้นวันนี้ก็ทันวันนี้ ไม่มีคำว่าสาย
ขอเพียงพ่อแม่มีเวลา เข้าใจ และร่วมสร้างทักษะ Digital Literacy ให้ลูกเท่าทันโลกดิจิทัลด้วยหลักปฏิบัติ 4As
- Access เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้
- Acquire เลือกที่จะรับข้อมูลเป็น
- Appraise ประเมินข้อมูลและความถูกต้องได้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ แค่ไหน
- Apply รู้จักนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตจริง
หมอแน๊ตมองว่า ไม่ว่าสื่อดิจิทัล โซเชียลมีเดีย AI คือเครื่องมือที่มีทั้งคุณและโทษ อยู่ที่ผู้ใช้ว่ามีความรู้และทักษะมากน้อยแค่ไหน
“ถ้าเปรียบก็เหมือน ‘มีด’ ถ้าใช้งานได้ดีก็รวยและดังเป็นเชฟระดับโลกได้ หรือจะใช้ทิ่มแทงเป็นอาชญากรก็ได้ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็เป็นแค่เครื่องมือ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่ามีความเข้าใจและใช้เป็น (Digital Literacy) แค่ไหน”
บางทีคำถามเกี่ยวกับการใช้จออาจไม่สำคัญเท่ากับพ่อแม่มีความเข้าใจและพร้อมแค่ไหนที่จะร่วมสร้างทักษะด้าน Digital Literacy และใช้จอไปพร้อมกับลูก
ซื้อบัตรเข้าร่วมงาน ALPHA SKILLS SUMMIT 2025 ได้แล้ววันนี้ที่ ZipEvent
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://thestandard.co/alphaskillssummit2025/